xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสพิเศษปีละครั้ง “23 ตุลาคม” เปิดให้ชม “พระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตรฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี วันปิยมหาราช เป็นวันพิเศษที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จะเปิด “พระที่นั่งทรงผนวช” ให้เข้าชมปีละครั้งเท่านั้น


ภาพประกอบ: เพจวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple
วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือวันปิยมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม นับเป็นโอกาสพิเศษสำหรับผู้หลงใหลในโบราณสถาน และสิ่งทรงคุณค่าภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพราะทางวัดจะเปิดให้เข้าชม “พระที่นั่งทรงผนวช” ปีละครั้ง

สำหรับพระที่นั่งฯแห่งนี้ "แฟนเพจวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple" อธิบายไว้ว่า เมื่อเริ่มการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งทรงผนวชองค์เดิมจากพุทธรัตนสถานที่สวนศิลาลัยในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์ในคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ.2416 ออกไปปลูกที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาส

ภาพประกอบ: เพจวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple
โดยรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย "พระที่นั่งทรงผนวช" อยู่ด้านทิศเหนือ "พระกุฏิ" อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบ ทุกหลังมีช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ

หลังด้านทิศใต้คือ "พระกุฏิ" หน้าบันจำหลักลายประกอบ "พัดยศ" ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความหมายว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระองค์ทรงผนวช

ส่วนหลังทิศเหนือคือ "พระที่นั่งทรงผนวช" เป็นตรีมุข ประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำตรา "เครื่องราชอิสริยาภรณ์" ที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่เป็น 5 สาย 5 ชั้น ด้านในเขียนภาพเทวดาถือดอกไม้เหนือคนแคระ หน้าบันทั้ง 3 ด้านจำหลักลายไทยประกอบตรา "พระเกี้ยว" ซึ่งเป็นตราประจำของพระองค์ ลงรักปิดทองประดับกระจก หมายถึงพระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่ประทับเมื่อคราวพระองค์ทรงผนวช

ภาพประกอบ: เพจวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple
ภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูป พระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร เครื่องลายครามต่าง ๆ

หนึ่งในสิ่งสำคัญทรงคุณค่า คือ จิตรกรรมฝาผนังภายใน ที่เขียนภาพเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 20 ตอน ได้แก่ โสกันต์, บรรพชา, เทศนา, หว้ากอ, ธรณีร่ำไห้, ราไชสวรรย์, มิ่งขวัญประชา, ชีบาชื่นชม, ภิรมย์ปรางค์ปรา, พุทธานุสาวรีย์, พระบารมีไพบูลย์, ทูตทูลสาส์นตรา, ราชานิวัติ, ไพรัชประพาส, ประเทศราชนานา (2ตอน), รักษาพุทธศาสน์, ตรวจราชการ, สังหารกุมภา,

ภาพประกอบ: เพจวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple
การเขียนภาพเหล่านี้แบ่งให้จิตรกรเขียนคนละห้องโดยใช้สีฝุ่นผสมกาวอย่างโบราณ สำหรับจิตรกรผู้เขียนภาพไม่ปรากฏนาม แต่สันนิษฐานว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรสุเทพ (หม่อมเจ้าจันทร์ ดารากร) ทรงเป็นผู้เขียนพระองค์หนึ่ง 

เนื่องจากทรงเป็นผู้รับต่อเติมพระที่นั่งองค์นี้ และทรงเป็นจิตรกรมีชื่อพระองค์หนึ่งในสมัยนั้น และมีผลงานเขียนแบบตาลปัตร (พัด) สำหรับวัดเบญจมบพิตร เช่น พัดเปรียญ พัดฐานา พัดรอง เป็นต้น

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น