xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวเชียงแสน "ดูทักษาโหราปูจาพระธาตุ" เปิดประสบการณ์ใหม่ถูกใจสายมู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เที่ยวเชียงแสนประสบการณ์ใหม่สายมู
หากพูดถึง "เชียงแสน" จ.เชียงราย ภาพของเมืองสงบริมฝั่งโขง ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีวัดและโบราณสถานให้ได้ชมกันตลอดทางต้องผุดขึ้นมาในความคิดอย่างแน่นอน

วัดอาทิต้นแก้ว
และนอกจากจะมีวัดเก่าโบราณมากมายให้ได้ชมกันแล้ว ที่เชียงแสนยังเต็มไปด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณมากมาย ทั้งเรื่องของ การดูทักษาโหราโบราณ การนวดแบบย่ำขาง การใช้ใบสักมาทำลวดลายบนเสื้อผ้า ฯลฯ ให้ได้มาสัมผัสกันอีกด้วย

ซึ่งจากจุดนี้ทำให้คนในชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้ง "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน" ขึ้นมา ที่ "บ้านฮอมผญ๋า" เพื่อรวมตัวคนรักเชียงแสนมาช่วยกันทำให้เมืองน่ารักแห่งนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้ประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ นั่นเอง

พี่วัฒน์-ยศภัทร ยกยิ่ง
โดยครั้งนี้จะขอเอาใจนักท่องเที่ยวสายมู ชวนมาท่องเที่ยวมิติใหม่ ที่จะนำการดูดวงมาเป็นตัวกำหนดจุดไหว้พระขอพรในเมืองเชียงแสน ที่เรียกว่า "ทักษาโรหาปูจาพระธาตุ" งานนี้ได้ พี่วัฒน์-ยศภัทร ยกยิ่ง พ่อครูทักษาที่จะมาตรวจพื้นดวงชะตาและนำดวงเมืองเชียงแสนมาหนุน เพื่อแนะนำวัดที่เหมาะกับพื้นดวงของเราให้ได้ไปมูกันให้ถูกที่ตรงจุด

ผังเมืองเชียงแสน
เริ่มแรกพี่วัฒน์จะเล่าเรื่องของเมืองเชียงแสนให้ได้รู้จักกันคร่าวๆ ก่อน ซึ่งในอดีตเมืองเชียงแสนแห่งนี้สันนิษฐานว่ามีการใช้ "ทักษาโหรา" ในการสร้างเมืองสร้างวัดด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อนำทักษาโหรามาเทียบกับผังเมือง ก็พบว่าเชียงแสนจะมีวัดสำคัญๆ อยู่ในทิศทั้งแปดตามหลังทักษาอย่างลงตัว ซึ่งในแต่ละทิศที่วัดตั้งอยู่นี้ จะมีดาวที่ส่งผลในแต่ละเรื่องตามพื้นดวงของเจ้าชะตาแต่ละคน

วัดป่าสัก
โดนวัดในเชียงแสนนั้น มีมากถึง 76 วัดด้วยกัน เรียกว่า "ช่วงไก่บินตก ก็จะเจอหนึ่งวัด" เลยก็ว่าได้ แต่ในจำนวนวัดทั้งหมดนี้ จะมีวัดที่มีพระอยู่เพียง 4 วัดเท่านั้น ส่วนอีก 72 วัดจะเป็นวัดร้างที่มีแค่ซากเจดีย์ให้ได้เห็นกัน

วัดร้างหมายเลข 16
สำหรับวัดสำคัญๆ ในเชียงแสนได้แก่ วัดเจดีย์หลวง วัดพระเจ้าล้านทอง วัดป่าสัก วัดแสนเมืองมา วัดอาทิต้นแก้ว วัดหมื่นเชียง และวัดสัสดี เป็นต้น ส่วนวัดร้างบางวัดจะไม่มีชื่อเรียก จะใช้หมายเลขเป็นชื่อเรียกแทน อย่าง วัดร้างหมายเลข 16 เป็นต้น

ของมงคลทั้ง 5 สำหรับทำเครื่องสักการะ
จากนั้นพี่วัฒน์จะนำชื่อ-นามสกุล และวันเดือนปีเกิดของเจ้าชะตา มาเขียนในกระดานชนวนแบบโบราณ คำนวณตามทิศทั้งแปดของดวงเมือง ซึ่งเมื่อดวงของผู้ดูทักษาคนใดควรเสริมหรืออยากขอพรด้านใด พี่วัฒน์ก็จะแนะนำให้มาไหว้ที่วัดที่อยู่ในทิศนั้นๆ หรือที่เรียกว่า "ดวงเมือง หนุนดวงเรา" นั่นเอง

เมื่อเจ้าชะตาได้รู้ว่าควรไปไหว้ขอพรที่วัดไหน ก็มาถึงขั้นตอนการทำ "เครื่องเบญจสักการะ" หรือเครื่องสักการะทั้งห้าของล้านนาเพื่อนำไปบูชา โดยจะใช้ "ดอกผึ้ง" ที่ทำจากขี้ผึ้งด้านในมีดอกบานไม่รู้โรยอยู่, "ดาวเรือง" (ดอกคำปู้จู้) แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง, "ใบพลู" มาพับเป็นแมงกำบี้ (แมงปอ), "ลูกหมาก" สัญลักษณ์แทนความสมบูรณ์ และปิดท้ายที่ "เทียน" เพื่อเป็นแสงส่องสว่างให้ดวงตาเห็นธรรม

การทำเครื่องเบญจสักการะ
ในการทำเครื่องสักการะนี้แต่ดั้งเดิมจะทำเป็นสุ่มทั้งหมด 5 สุ่ม คือ สุ่มดอก สุ่มหมาก สุ่มพลู ต้นเทียน และต้นผึ้ง แต่ปัจจุบันที่บ้านฮอมผญ๋าได้นำมาประยุกต์โดยย่อให้เหลือเพียงสุ่มเดียว และนำของมงคลทั้ง 5 ที่ได้กล่าวมารวมกันไว้สุ่มนี้ ให้นักท่องเที่ยงได้ลองทำด้วยตนเอง และนำไปบูชาที่วัดกัน

นั่งรถรางชมเมือง ณ วัดพระเจ้าล้านทอง
จากนั้นจะมีรถรางมารับไปเที่ยวชมเมืองเชียงแสนพร้อมกับได้นำเครื่องสักการะไปบูชายังวัดที่เหมาะกับพื้นดวงของเรา โดยเครื่องสักการะที่นำไปบูชาแล้ว จะตั้งไว้ที่วัดประมาณ 3 วัน ก่อนที่จะนำไปแยกส่วนทำปุ๋ยย่อยสลายตามวิธีต่อไป

เรือนประทับรับรอง รัชกาลที่ ๙
ระหว่างทางที่นั่งรถรางจะได้ชมความสวยงามของเชียงแสน และยังได้เห็นวิถีชีวิตแสนสงบของชาวบ้าน รวมถึงยังได้ชม "เรือนประทับรับรอง รัชกาลที่ ๙" เมื่อครั้งเสด็จมาที่เชียงแสนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2501

อาหารสี่แผ่นดิน
ไหว้พระชมเมืองจนทั่วกลับมาที่บ้านฮอมผญ๋าอีกครั้งเพื่อมากิน "อาหารสี่แผ่นดิน" ที่ได้รวมอาหารจาก 4 ชนชาติมาปรุงรสแบบสไตล์ท้องถิ่น เริ่มที่จานกินเล่นอย่าง "เห็ดเข็มทองชุบแป้งทอดราดซอสหม่าล่า" เคี้ยวเพลิน เผ็ดนิดๆ แบบชาวจีน ต่อที่จานหลักอยู่ท้องคือ "ข้าวเหลืองอุ๊กไก่" เป็นข้าวเหนียวหุงกับเครื่องเทศสีเหลืองกินคู่กับแกงไก่ที่หอมกลิ่นเครื่องเทศเข้มข้นถึงใจสไตล์แบบชาวเมียนมาร์ กินแกล้มตัดรสด้วย "มัจฉาลงโขง" ตัวแทนจากแผ่นดินลาวที่นำปลานิลมาทอดราดซอสรสกลมกล่อม ปิดท้ายที่ของหวานแบบไทยๆ คือ "บัวลอย" ที่ด้านในมีไส้ถั่วเหลืองปรุงรสเค็ม หวานอร่อยชื่นใจ

สลัดล้านนา
และยังมีอีกหนึ่งจานอร่อยที่เสิร์ฟมาให้กินเคียงคือ "สลัดล้านนา" ที่นำผักสลัด โหระพา และใบสาระแหน่ มาราดด้วยน้ำสลัดสูตรพิเศษที่เป็นน้ำมะขามเปียกรส เปรี้ยวหวานแปลกใหม่สไตล์ล้านนา รับรองว่าถูกใจสายกินแน่นอน

การย่ำขาง
ที่ "บ้านฮอมผญ๋า" แห่งนี้ นอกจากจะมีการดูทักษาและทำเครื่องสักการะให้ถูกใจสายมูแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกด้วย อย่าง กิจกรรม "ผ้าอุ๊กใบสัก" ที่เป็นการทำลายผ้าจากใบสัก ซึ่งใบสักนี้ถือเป็นต้นไม้คู่เมืองเชียงแสนเลยก็ว่าได้

และยังมี “การย่ำขาง” เป็นวิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนา ที่ใช้เท้าชุบน้ำยาสมุนไพร แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด

วัดเจดีย์หลวง
การได้มาเที่ยวที่ "บ้านฮอมผญ๋า" เมืองเชียงแสนแห่งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายที่ได้ประสบการณ์ดีๆ ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน โทร. 06-2809-5831 หรือที่ ททท. สำนักงานเชียงราย โทร. 0-5374-4674


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น