xs
xsm
sm
md
lg

“วัดชลธาราสิงเห” เสน่ห์ใต้สุดทะเลด้ามขวาน งานศิลป์คลาสสิกสวย รุ่มรวย“มุมลับ”สุดอันซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


วัดชลธาราสิงเห วัดงามริมแม่น้ำตากใบ
พาไปสัมผัสมนต์เสน่ห์ของ “วัดชลธาราสิงเห” อันสวยงามคลาสสิก จนถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ พร้อมกับมุมลับซ่อนเร้นที่มากไปด้วยเรื่องน่าสนใจ รวมถึงเรื่องราวความสำคัญที่ชวยปกป้องผืนดินไทยบางส่วนเอาไว้ จนได้ชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”

...อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นอำเภอชายแดนตั้งอยู่ใต้สุดของทะเลไทยฝั่งตะวันออกหรืออ่าวไทย (อำเภอใต้สุดของไทยคือ อ.เบตง จ.ยะลา)

ที่ริมชายแดนสุดปลายด้ามขวาน ห่างจากชายฝั่งทะเล อ.ตากใบ เพียงไม่กี่ร้อยเมตร เป็นที่ตั้งของ “วัดชลธาราสิงเห” วัดที่นอกจากจะเป็นอันซีนไทยแลนด์แล้ว ยังมีความสำคัญยิ่งเพราะสามารถช่วยปกป้องพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทยส่วนหนึ่งเอาไว้ได้ จนได้ชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

วัดชลธาราสิงเห วัดงามริมแม่น้ำตากใบ


วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ ที่บ้านท่าพรุ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2403 ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ โดยผู้สร้างคือ “พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด)” ได้เลือกพื้นที่ป่าริมแม่น้ำตากใบที่มีความสงบ มีวิวทิวทัศน์สวยงามสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา โดยท่านพระครูพุดต้องไปขอที่ดินสร้างวัดจากเจ้าเมืองกลันตัน เพราะอำเภอตากใบสมัยนั้นยังอยู่ในเขตรัฐกลันตัน

รูปเคารพพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ผู้สร้างวัดชลธาราสิงเห
เดิมวัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “วัดท่าพรุ” หรือ “วัดเจ๊ะเห” ตามชื่อหมู่บ้านและตำบลที่ตั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 “ขุนสมานธาตุวฤทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์)” นายอำเภอตากใบสมัยนั้น ได้เปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้ใหม่เป็น “วัดชลธาราสิงเห” ที่มีความหมายว่า “วัดริมน้ำที่สร้างด้วยภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์” โดยคำว่า “ชลธารา” มาจากที่ตั้งของวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำตากใบ ส่วน “สิงเห” มาจาก “สิงห์” หรือ “ราชสีห์” ซึ่งเปรียบดังพุทธคุณบารมีของท่านพระครูพุด ที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาและเป็นที่เกรงขามประดุจดังสิงห์หรือราชสีห์

อันซีนมีดตัดหมอก-ภาพวาดในกระจก


ปัจจุบันวัดชลธาราสิงเห เป็นวัดที่ร่มรื่นสงบงามริมแม่น้ำตากใบ เป็นหนึ่งในวัดคู่บ้านคู่เมืองนราธิวาส วัดแห่งนี้โดดเด่นไปด้วยงานฝีมือจากช่างท้องถิ่นที่ผสมผสานงานศิลปกรรม ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และจีน ให้เข้ากันได้อย่างสวยงามกลมกลืน เหมือนวิถีชีวิตของคนที่นี่ที่เป็นพหุวัฒนธรรม

โบสถ์ศิลปะรัตนโกสินทร์
สำหรับไฮไลท์น่าสนใจอันโดดเด่นของที่นี่ ก็นำโดยพระอุโบสถหรือโบสถ์หลังปัจจุบัน ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2416 ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หันหน้าออกไปทางแม่น้ำตากใบ (โบสถ์หลังแรกสร้างยื่นเข้าไปในแม่น้ำตากใบ ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

โบสถ์หลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ศิลปะรัตนโกสินทร์ที่สวยงามสมส่วน หลังคาซ้อน 3 ชั้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ถัดไปเป็นซุ้มเสมา ตรงซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ด้านหน้ามีรูปเคารพท้าวเวสสุวรรณ 2 องค์ สีแดง-เขียว ที่มีเอกลักษณ์คือมีผ้าขาวม้าเคียนเอว (บางทีก็นุ่งผ้าขาวม้าแบบโสร่ง)

ตรงหน้าบันของโบสถ์ด้านหน้า ชั้นบนสุดประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ถัดลงมาเป็นรูปเทวดา 2 องค์ ถือป้ายตัวเลขระบุปีที่สร้างโบสถ์ (2416)

ภาพจิตรกรรมในกระจกใต้หลังคา
บริเวณโบสถ์รอบนอกมีมุมอันซีนประดับไว้ ให้เราได้แหงนหน้าชมภาพจิตรกรรมที่เขียนเป็นช่อง ๆ ปิดทับด้วยกระจกใส (ดูคล้ายกรอบรูป) ในคานรองรับหลังคา (ซ้อนชั้น 3) ซึ่งหาชมไม่ได้ง่าย ๆ

ขณะที่ภายในโบสถ์ประดิษฐาน “หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พ่อท่านใหญ่” พระประธานปางมารวิชัยปิดทองอร่าม ด้านหลังองค์พระทาสีข่าวปล่อยโล่ง

ที่ผนังด้านขวา-ซ้าย และด้านหน้า (ตรงข้ามองค์พระ) ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือจิตรกรพื้นบ้านนำโดย “พระธรรมวินัย (จุ้ย)" และ “ทิดมี” ช่างชาวสงขลา ที่บรรจงวาดภาพถวายเป็นพุทธบูชาออกมาได้อย่างสวยงามคลาสสิก ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะใหม่โดยคงไว้ตามลักษณะเดิม

หลวงพ่อใหญ่และภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่เขียนเรื่องไตรภูมิ พุทธประวัติตอนต่าง ๆ ภาพเทพชุมชน รวมถึงภาพศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ประเพณี การละเล่นต่าง ๆ โดยเฉพาะการละเล่นกีฬา “ชนแพะ” ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนพื้นที่ในสมัยนั้น

พร้อมกันนี้ยังมีภาพเหตุการณ์ร่วมสมัยของยุคนั้น ที่มีชาวจีน แขก และฝรั่งต่างชาติเข้ามาในบ้านเรา มีคาราวานสินค้า และเรือแพที่ใช้โดยสารติดต่อกัน ซึ่งช่างท้องถิ่นบรรจงวาดสร้างสรรค์ภาพออกมาได้อย่างสวยงาม ประณีต ใช้สีสันจัดจ้าน และมีรายละเอียดลูกเล่นของช่างแทรกอยู่ทั่วไป จนได้ได้ชื่อว่าเป็นภาพจิตกรรมฝาผนังที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

จิตรกรรมฝาผนังภาพกีฬาชนแพะ
ด้านข้างโบสถ์ (ฝั่งขวาเมื่อมองเข้าไป) มีรูปเคารพของ “พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด)” ผู้สร้างวัดแห่งนี้ให้กราบสักการะ

ส่วนที่ลานโล่งหน้าโบสถ์ (ฝั่งแม่น้ำ) ในอดีตเป็นสถานที่ทำพิธี “ล้างตัว” ของชาวบ้าน ใช้ในกรณีที่ชาวบ้านทะเลาะพิพาทกัน แล้วเมื่อจะให้อภัยกัน ผู้นำชุมชนก็จะนำคู่กรณีมาทำพิธีล้างตัวดื่มน้ำสาบานต่อหน้าองค์พระประธานคือหลวงพ่อใหญ่ เพื่อให้เลิกแล้วต่อกัน ซึ่งปัจจุบันพิธีความเชื่อแบบนี้หายไป เปลี่ยนมาใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายแทน

มีดตัดหมอก (ธงสีเหลือง) ที่เสาธงหน้าโบสถ์
นอกจากนี้ที่ลานวัดหน้าโบสถ์ยังมีมุมอันซีนของเสาธงชาติไทยที่ดูแปลกตากว่าที่ไหน ๆ กับความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ ที่เวลาจะมีการจัดงานใหญ่ ๆ หรือสร้างอะไรสักอย่าง จะนำมีดมาเสียบไว้ที่เสาธง เรียกว่า “มีดตัดหมอก” ใช้สำหรับ “คัดฝน” (ภาษาชาวเจ๊ะเห) เพื่อแก้เคล็ด ตัดปัญหาอุปสรรค ไม่ให้ฝนฟ้าตกรบกวน และทำให้งานออกมาลุล่วงราบรื่น (คล้าย ๆ กับความเชื่อเรื่องปักตะไคร้) เนื่องจากวัดนี้เป็นศูนย์กลางการจัดงานประเพณีสำคัญ ๆ ทางศาสนาของอำเภอตากใบ

นาคปรกยิ้ม ภาพสุดอันซีนจากช่างอารมณ์ดี


วัดชลธาราสิงเหยังมี “พิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเห” เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ล่องใต้มาเยือนวัดนี้

พิพิธภัณฑ์ที่ปรับปรุงมาจากกุฏิสิทธสารประดิษฐ์
พิพิธภัณฑ์หลังนี้เดิมคือ “กุฏิสิทธสารประดิษฐ์” เป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่สวยงามคลาสสิก ซึ่งกรมศิลป์ได้มาบูรณะและปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2545

อาคารพื้นถิ่นภาคใต้หลังนี้ มีหลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา ตรงยอดจั่วประดับรูปครุฑ มีลวดลายฉลุไม้ประดับอยู่ตามเชิงลาย รวมถึงตามผนังที่ฉลุเป็นช่องเล็ก ๆ ทั่วอาคารเพื่อรับลมระบายอากาศ ส่วนบันไดทางเดินมีหลังคาคลุมลงมาจนถึงชาน สะท้อนความเป็นพื้นที่ฝนตกชุกของปักษ์ใต้บ้านเรา

ภาพวาดพระพุทธรูปปางนาคปรกยิ้ม
บนเพดานที่โถงด้านหน้า ส่วนหนึ่งกรมศิลป์ได้นำภาพวาดเขียนสีบนแผ่นไม้ฝีมือช่างท้องถิ่นมาประดับทำเป็นฝ้าเพดาน มีไฮไลท์คือภาพอันซีนที่น่าจะมีหนึ่งเดียวในเมืองไทย คือภาพวาด “พระพุทธรูปปางนาคปรกยิ้ม” กับพญานาค 7 เศียรที่แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าซึ่งมีใบหน้ายิ้มร่าอย่างน่ารัก สันนิษฐานว่าช่างที่วาดคงจะอารมณ์ดีมาก ๆ ตอนวาดภาพนี้

ส่วนภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุและเรื่องราวของอำเภอตากใบ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมมาสน์, ตู้พระธรรมลายรดน้ำเท้าสิงห์หายาก,เครื่องถ้วยยุโรป-จีน, อุปกรณ์ทำมาหากินของชาวบ้าน, ไม้กวาดแกะสลักลงสีที่สวยงามมากจนถูกยกให้เป็นหนึ่งในไม้กวาดที่สวยที่สุดในเมืองไทย, ปลากุเลาตากใบจำลองที่หลายคนเห็นแล้วอดน้ำลายไหลไม่ได้ ฯลฯ

ภายในพิพิธภัณฑ์
รวมถึงมีภาพวาดและงานแกะสลักอันซีนที่มีเอกลักษณ์ประดับแฝงอยู่ทั่วไป ให้เราได้สอดส่ายสายตาค้นหา ไม่ว่าจะเป็นรูปทหารมอญที่บานประตู ภาพพระเดินเรียงแถวบิณฑบาต งานแกะสลักรูปดอกไม้ หน้ากาล ค้ำยันลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการจัดแสดงและจำลองหุ่นขี้ผึ้งการลงนามสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ หรือ “สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้แทนฝ่ายไทย และนายราลฟ์ แปชยิต ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทย

อันซีนไทยแลนด์


กุฏิอดีตเจ้าอาวาส
นอกจากโบสถ์ และ พิพิธภัณฑ์ ที่ถือเป็น 2 จุดไฮไลท์สำคัญแล้ว วัดชลธาราสิงเหยังมีสิ่งน่าสนใจชวนชมอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

-“กุฏิอดีตเจ้าอาวาส” ที่เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้อันสวยงามสมส่วน ซึ่งวันนี้กรมศิลป์บูรณะปรับปรุงใหม่ ภายในมีภาพจิตกรรมประดับอยู่บนเพดาน คาน หัวเสา และบางส่วนของฝาผนัง เป็นภาพจากฝีมือช่างพื้นบ้านที่เขียนด้วยสีพาสเทลดูสบายตา โดยมีภาพอันซีนที่ดูน่ารัก ๆ แฝงซ่อนอยู่หลายจุดด้วยกัน

พระพุทธไสยาสน์ ด้านหลังด้วยเครื่องถ้วยชามจีน
-“พระพุทธไสยาสน์” หรือพระนอนที่องค์พระประดับด้วยกระจก ที่ฐานและผนังด้านหลังประดับด้วยเครื่องถ้วยชามจีนที่ดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์

นอกจากนี้ก็ยังมีเจดีย์ทรงลังกา และสถาปัตยกรรมเรือนไทยพื้นถิ่นภาคใต้อันสวยงามคลาสสิก คือ หอระฆังทรงมณฑป หอระฆังทรงจตุรมุข ศาลาโถง และศาลาท่าน้ำ

รวมถึงมี “ศาลาริมน้ำทรงมณฑป” ที่รัชกาลที่ ๖ เคยเสด็จทางชลมารคมาอำเภอตากใบ แล้วประทับที่ศาลาหลังนี้เพื่อทอดพระเนตรการแข่งเรือและถวายจตุปัจจัยบำรุงวัด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2458

ภาพเก่าของศาลาริมน้ำรับเสด็จ (บน) ซึ่งทรุดโทรมจนต้องทำการรื้อถอน (ล่าง) เพื่อทำการก่อสร้างศาลาหลังใหม่
อย่างไรก็ดีเนื่องจากปัจจุบันศาลาทรงมณฑปรับเสด็จอายุกว่า 100 ปี ได้มีสภาพทรุดโทรมมาก กรมศิลป์จึงรื้อถอนเพื่อทำการก่อสร้างศาลาหลังใหม่ ซึ่งชาวบ้านก็รอกันว่าเมื่อไหร่กรมศิลป์จะได้ลงมือดำเนินการเสียที เพราะนี่คืออีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอำเภอตากใบ

ด้วยความที่วัดชลธาราสิงเห โดดเด่นไปด้วยงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ และงานศิลปกรรมฝีมือช่างท้องถิ่น รวมถึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีของดีและมุมลับ ๆ ของภาพเขียนที่ซ่อนเร้นให้ชมกันเพียบ ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” จึงยกให้วัดแห่งนี้เป็นหนึ่งใน “อันซีนไทยแลนด์ (2)” อันโดดเด่นของภาคใต้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2547 ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นคู่จังหวัดนราธิวาส ที่ใครมาเยือนอำเภอตากใบไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภายในวัด
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

วัดชลธาราสิงเห มีอีกหนึ่งชื่อเรียกขานคือ “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” เนื่องจากวัดนี้สามารถช่วยปกป้องพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทยส่วนหนึ่งเอาไว้ไม่ให้เสียดินแดนจากการรุกรานล่าอาณานิคมของ (โจร) มหาอำนาจตะวันตก

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในยุคล่าอาณานิคมของมหาตะวันตกเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ อังกฤษที่เข้ามายึดครองแหลมมลายู ได้หาเรื่องยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของสยามประเทศ โดยต้องการผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายาซึ่งอังกฤษยึดครองอยู่

จักรวรรดิอังกฤษจึงได้บีบให้สยามลงนามในสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ หรือ “สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ซึ่งประเทศไทยเราเสียเปรียบอย่างมาก รวมถึงต้องเสียดินแดน 4 รัฐในแหลมมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส แต่ถ้าไทยไม่ยินยอมก็จะถูกอังกฤษรุกราน และอาจบุกยึดครองประเทศไทยจนสูญเสียเอกราช

หุ่นขี้ผึ้งจำลองการลงนามสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ ในพิพิธภัณฑ์
นอกจากนี้จากสนธิสัญญาครั้งนั้น อังกฤษได้กำหนดเส้นปักปันเขตแดนใหม่ กินแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็ก (เลยวัดชลธาราสิงเหเข้ามาในประเทศไทยอีกประมาณ 26 กิโลเมตร)

อย่างไรก็ดีไทยเราได้หยิบยกเอาพุทธสถานวัดชลธาราสิงเห มาอ้างอิงถึงการเป็นชุมชนชาวพุทธที่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของไทย ทำให้อังกฤษยอมเลื่อนเส้นแบ่งเขตแดนลงไปทางใต้อีกจนถึงแม่น้ำโกลก ช่วยให้ไทยไม่ต้องเสียพื้นที่ 4 อำเภอของนราธิวาส คือ ตากใบ แว้ง สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี ให้ตกเป็นของมาเลเซีย

ด้วยเหตุนี้วัดชลธาราสิงเหจึงเป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” ที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ (ฝั่งด้านหน้า)
สำหรับผมเวลาที่มาเยือนวัดชลธาราสิงเหคราใด อารมณ์หนึ่งก็ยังคงตื่นตาตื่นใจต่องานศิลปกรรมและสิ่งชวนชมอันน่าทึ่งต่าง ๆ ของวัดแห่งนี้ไม่ได้ ส่วนอีกอารมณ์หนึ่งก็ยังคงรู้สึกหดหู่ใจต่อการที่ไทยเราต้องเสียดินแดนในเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้

วันนี้แม้โลกของเราจะเจริญรุดหน้าทางวัตถุและเทคโนโลยีไปมาก แต่มหาอำนาจชาติตะวันตกบางประเทศก็ยังมีพฤติกรรมรุกรานคุกคาม หรือหาทางยึดครองประเทศที่ด้อยกว่าไม่ต่างจากอดีต เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการไปเท่านั้น

สำหรับโจรไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังคงไว้ซึ่ง“สันดานโจร” ไม่แปรเปลี่ยน


##########################


ท้าวเวสสุวรรณคาดผ้าขาวม้า
ในอำเภอตากใบยังมีเกาะยาวและสะพานคอยร้อยปีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่น ตั้งใกล้ ๆ กับวัดชลธาราสิงเห สามารถเที่ยวเชื่อมโยงกันได้ นอกจากนี้ก็ยังมี “ปลากุเลาตากใบ” ราชาแห่งปลาเค็มเป็นอาหารและสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ ซึ่งผู้ที่ไปเยือนนราธิวาสไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ทั้งนี้ผู้สนใจยังสามารถสอบถาม ข้อมูล ที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับวัดชลธาราสิงเห ในพื้นที่อำเภอตากใบ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส และ ยะลา ปัตตานี ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส (ดูแลพื้นที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี) โทร.0 7354 2345 - 6


“ปลากุเลาตากใบ” ราชาแห่งปลาเค็ม




กำลังโหลดความคิดเห็น