ชวนสักการะ 9 พระพุทธรูปสำคัญ ตามรอย “ธรรมราชา” ที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้กับพระพุทธรูปต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็น “ธรรมราชา” ผู้เปี่ยมไปด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ท่านทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนา ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนา เสด็จออกผนวชตามโบราณราชประเพณี และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นพุทธบูชาอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปฏิมาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองพระพุทธรูป พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดับที่ผ้าทิพย์ ฐานพระพุทธรูป พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หน่วยงาน สมาคม และกลุ่มบุคคล สร้างพระพุทธรูปถวาย รวมทั้งพระราชทานนามพระพุทธรูปต่าง ๆ
และเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ (13 ตุลาคม) เราขอน้อมรำลึกด้วยการตามรอย “ธรรมราชา” ไปสักการะ 9 พระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพระองค์ท่าน โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเพื่อความเป็นสิริมงคล
1.พระพุทธบรมศาสดา นวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์
พระประธานใน “พระมหาธาตุนภเมทนีดล” บนดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กองทัพอากาศจัดสร้างขึ้นใน ปีพ.ศ. 2530 เนื่องในโอกาสในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพรรษา 5 รอบ (เช่นเดียวกับพระมหาธาตุนภเมทนีดล)
พุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๙ (มีต้นเค้ามาจากศิลปะอินเดียผสมชวา) แกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวอมเทาจากประเทศอินโดนีเซีย เป็นปางแสดงธรรมประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัว หน้าตักกว้าง 1.524 เมตร สูง 2.20 เมตร พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระเนตรเปิดมองลง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธบรมศาสดา นวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดา สร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา”
2.พระพุทธลีลา
พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ที่ “วัดอนาลโย” ดอยบุษราคัม ต.สันป่าม่วง อ.เมือง จ.พะเยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะปางประทานอภัย ประทับยืนบนฐานบัว สูง 24.25 เมตร
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อ พ.ศ. 2541 ว่า “พระพุทธลีลา” มีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันงดงาม” พร้อมทั้งมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. พระนามาภิไธย ส.ก. และตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานไว้ที่ฐานประพุทธรูป
3.พระพุทธสุรินทรมงคล
พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งใน “วนอุทยานพนมสวาย” หรือ “เขาชาย” ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์
พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2520 เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ปางประทานพร ประทับขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 21.50 เมตร มีพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเบิกลง
พระพุทธรูปองค์นี้เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “พระใหญ่” ในปี พ.ศ. 2523 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้ขอพระราชทานนาม ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธสุรินทรมงคล”
4.พระพุทธชินราชมุนีศรีประจวบ
พระประธานประจำประอุโบสถ “วัดคลองวาฬ” ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2539 ตามแบบพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปโลหะปิดทอง ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามว่า “พระพุทธชินราชมุนีศรีประจวบ” และมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดิษฐานบนผ้าทิพย์ฐานพระพุทธรูป
5.พระพุทธมงคลมหาราช
พระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนยอดเขาคอหงส์ สวนสาธารณะเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ในหลวงรัชกาลที่ ๙
พระพุทธรูปองค์นี้ ออกแบบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นปางแสดงธรรม ประทับยืนบนฐานบัว สูง 19.90 เมตร เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธมงคลมหาราช” และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2556 ประดิษฐานที่ฐานพระพุทธรูป
6.พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ
พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนยอดเขารังเกียบ (เทือกเขาสันกาลาคีรี) อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 จากดำริของ “พระครูธรรมกิจโกศล” หรือ “พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน โครงสร้างเสริมเหล็ก ปางยมกปาฏิหาริย์ ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ มีดอกบัวรองรับพระบาท 2 ข้าง สูง 29.80 เมตร พระพักตร์อมยิ้ม พระเนตรเปิดมอง
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2553 ว่า “พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นจอมผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลก”
7.พระพุทธเทวราชปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถเดิมของ ”วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร” ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.ศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปิดทอง ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร องค์พระสูง 5.65 เมตร ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2546 ว่า “พระพุทธเทวราชปฏิมากร”
8.พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา
พระประธานประจำพระอุโบสถ “วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร” ถ.ประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นคราวเดียวกับการสร้างโบสถ์วัดประยุรวงศาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2371 โดย “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)” ซึ่งได้ให้ช่างชาวไทยเป็นผู้หล่อองค์พระ และช่างชาวญี่ปุ่นลงรักปิดทอง ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในบ้านเราที่ปิดทองโดยช่างฝีมือต่างชาติ
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะปิดทอง ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 1.99 เมตร สูง 1.625 เมตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามเมื่อ ปี พ.ศ. 2535 ว่า “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระศาสดาประเสริฐสุดโดยธรรม”
9.พระพุทธสุวรรณปฏิมากร
หนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ (ชั้น 4) วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ถ.ตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย หล่อด้วยทองคำที่มีน้ำหนักถึง 5,500 กิโลกรัม โดยเป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ถึง 99.99 % ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
พระพุทธรูปองค์นี้ มีชื่อเรียกสามัญว่า “พระสุโขทัยไตรมิตร” หรือ “พระทองสุโขทัย” ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2535 ว่า “พระพุทธสุวรรณปฏิมากร”
########
หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “๘๙ พระพุทธรูปสำคัญ ในรัชกาลที่ ๙”