xs
xsm
sm
md
lg

ทรงคุณค่า “พระราชวังจันทน์” ที่ประทับของพระนเรศวรมหาราช แหล่งเรียนรู้คู่เมืองพิษณุโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนเคยบอกไว้ว่าถ้าอยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของจังหวัดใด ก็ให้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์ประวัติศาสตร์ของจังหวัดนั้น และเมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยือน “พิษณุโลก” หรือที่รู้จักกันว่า “เมืองสองแคว” ดังนั้นจึงไม่พลาดเข้าชมที่ “พระราชวังจันทน์” หรือ “ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์” อีกหนึ่งสถานที่ที่มีเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

“พระราชวังจันทน์” หรือ “ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์” ตั้งอยู่ติดกับค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ 3 ถนนวังจันทน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และมีศูนย์การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนและนักเรียนนักศึกษา

บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์




พระราชวังจันทน์ เป็นพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่อยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ทางด้านทิศเหนือของเมืองพิษณุโลก สิ่งสำคัญของสถานที่แห่งนี้คือ เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอุปราช โดยในขณะนั้นเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานพร้อมทั้งประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.2537 สำหรับสถานที่สำคัญในบริเวณใกล้เคียงพระราชวังจันทน์ ได้แก่ ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เป็นอาคารจัดแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก และพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช






สำหรับ พระราชวังจันทน์ สถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วังของพระมหาอุปราชสมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อพระราชวังจันทน์ไว้ในสาส์นสมเด็จ ว่า วังจันทน์น่าจะ มาจากคำว่า ตำหนักจันทน์ ในสมัยโบราณ เรือนที่อยู่อาศัยทำด้วยไม้ทั้งสิ้น แต่สำหรับเรือนพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายสูงศักดิ์ จะสร้างด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม คำว่า “วังจันทน์” จึงน่าจะมาจากคำว่าวังตำหนักจันทน์หรือวังเรือนจันทน์ จนเป็นคำเรียก พระราชวังแห่งนี้ว่า “พระราชวังจันทน์” หรือ “วังจันทน์”






นอกจากนี้ยังมี “อาคารพระสวัสดิราช” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยทรงปั้นหยา สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2456 สำหรับเป็นบ้านพักเจ้าพนักงาน ป่าไม้ภาคพิษณุโลก และเป็นที่ทำการด้วย มีพื้นที่ใช้สอย 532 ตารางเมตร โครงสร้างทำจากไม้เนื้อแข็งและไม้สัก โครงหลังคามีรูปทรงปั้นหยา มีมุขหน้าทรงจั่ว หลังจากที่มีการก่อสร้าง อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคพิษณุโลกขึ้น ในปีพ.ศ. 2467 แล้ว ได้ใช้อาคารหลังนี้ เป็นบ้านพักของผู้อำนวยการป่าไม้เขตพิษณุโลก และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 ตามลำดับ อาคารหลังนี้ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด และเมื่อปีพ.ศ. 2554 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ทำการบูรณะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามรูปแบบ สถาปัตยกรรมไทยโบราณ เพื่อจัดเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการและเพื่ออนุรักษ์ศิลปะอันทรงคุณค่า ให้อยู่คู่เมืองพิษณุโลกต่อไป


โดยที่มาของชื่ออาคารหลังนี้ได้นำพระนามของ พระสวัสดิราช พระราชธิดาของสมเด็จ พระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งต่อมาได้ทรงรับสถาปนาเป็นพระอัครมเหสี ของพระมหาธรรมราชา พระนามว่า พระวิสุทธิกษัตริย์ ประทับอยู่พระราชวังจันทน์แห่งนี้ ซึ่งเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาตั้งเป็นชื่ออาคารไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติคุณสืบไป


นอกจากศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์และอาคารพระสวัสดิราชที่มีความน่าสนใจแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีโบราณสถาน อย่าง “วัดศรีสุคต” สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยพิจารณาฐานเจดีย์ ซึ่งประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัยภายในบริเวณจระนำซุ้มอยู่บริเวณกึ่งกลางทั้งสี่ด้าน รวมทั้งแถวพระสาวกยืนพนมมือ ภายในจระนำซุ้มรอบฐานเจดีย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยสุโขทัย ส่วนรูปแบบสันนิษฐานของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยา ด้านหน้าเจดีย์ประธานพบซากอาคาร สันนิษฐานว่าเป็นวิหาร ส่วนบริเวณโดยรอบเจดีย์ประธาน น่าจะมีเจดีย์ราย ตามรูปแบบผังวัดในสมัยอยุธยา




และยังมี “วัดโพธิ์ทอง” สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเช่นกัน โดยเจดีย์ประธานของวัดแห่งนี้ เหลือร่องรอยเพียงส่วนฐานซึ่งผ่านงานบูรณะของกรมศิลปากร โดยมีเค้าว่าอาจเป็นฐานของเจดีย์ทรง พุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม อันเป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงเมืองพิษณุโลกกับราชธานีสุโขทัย ด้านหน้าทางตะวันออกและทางตะวันตกของเจดีย์ประธาน มีซากฐานอาคารก่อด้วยอิฐ มีหลุมเป็นแนว สำหรับปักเสาไม้ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารทรงมณฑป ด้านหลังวัดมีเพียงร่องรอยของซากฐาน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม โดยอาจมีอาคารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า เช่นเดียวกับเจดีย์ ทรงระฆังที่อยู่เยื้องไปด้านหน้าทางตะวันออก


ถัดไปมีวัดโบราณอีกแห่งคือ “วัดวิหารทอง” เป็นวัดขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ส่วนบนของเจดีย์ประธานได้ทลายลงมาแล้ว เหลือเพียงฐาน อันเป็นรูปแบบของฐานเจดีย์ทรงปรางค์ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการกำหนดอายุของวัด นอกจากนั้นด้านหน้าเจดีย์ประธานยังมีซากฐานอาคารขนาดใหญ่สองหลัง ซึ่งยังคงเหลือเสาก่อด้วยศิลาแลง ทำให้สามารถ ประมาณความสูงของหลังคาได้ ร่องรอยของระเบียงคดที่ล้อมเจดีย์ประธานและอาคารที่ยื่นออกมา ทางด้านหน้าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการจัดวางตำแหน่งอาคารตามลักษณะของผังวัดในสมัยอยุธยา

วัดวิหารทองยังคงเหลือเสาก่อด้วยศิลาแลง

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น