วันสำคัญของโลกวันนี้ ( 22 กันยายน ) คือ “วันอนุรักษ์แรดโลก” จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรดสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีสาเหตุหลักมาจากการลักลอบล่าของมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักของการล่าแรด คือ ความต้องการที่จะนำนอแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ ซึ่งแท้จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของมนุษย์
ปัจจุบันประชากรแรดป่าทุกสายพันธุ์ตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตโดยสายพันธุ์ที่เรียกได้ว่าอยู่ใกล้ขอบเขตของการสูญพันธุ์มากที่สุด คือ “แรดชวา” ที่ครั้งหนึ่งก็เคยมีอยู่ในป่าของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าแรดชวาตัวสุดท้ายในภูมิภาคนี้ถูกสังหารไปเมื่อปี 2010 ที่เวียดนาม
ปัจจุบันแรดชวามีหลงเหลืออยู่แค่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวา อินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้แรดชวาไม่มีอยู่ในสวนสัตว์ และถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบได้ยากที่สุดในโลก
นอกจากนั้นแล้ว แรดสุมาตรา (กระซู่) ที่มีลักษณะคล้ายแรดชวา ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่พอๆ กัน และกระซู่จัดเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ไม่มีแรดเหลือแล้วในป่าธรรมชาติของประเทศไทย แต่มีการพบร่องรอยของกระซู่ ซึ่งเป็น sub-species ของแรด อยู่บริเวณภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ปัจจุบันแรดจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญา CITES ทั้งยังเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตาม U.S. Endangered Species
WWF ประเทศไทย รายงานข้อมูลล่าสุดว่าทั่วโลกมีจำนวนแรดเหลืออยู่ไม่ถึง 30,000 ตัว ได้แก่แรดอินเดีย (3,300 ตัว) แรดดำ (5,000 ตัว) และแรดขาว (20,400 ตัว) โดยสาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์มาจากการถูกล่าอย่างหนัก ซึ่งมาจากความเชื่อผิดๆ ว่านอแรดนั้น นำมาทำเป็นยาบำรุงและยารักษาโรคได้ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก WWF องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline