xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านถ้ำรงค์” ท่องเที่ยววิถีชุมชน ภูมิปัญญาชาวเพชรบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บ้านถ้ำรงค์” จุดหมายปลายทางสัมผัสวิถีท้องถิ่นในชุมชนท่องเที่ยวที่เต็มอิ่มไปด้วยภูมิปัญญาชาวเพชรบุรี ทั้งเรื่องอาหารการกิน และงานช่างฝีมือ ท่ามกลางความเขียวขจีของแหล่งตาลโตนดที่ขึ้นชื่อ


ต้นตาลโตนดริมถนนในชุมชนบ้านถ้ำรงค์
หากมีโอกาสมาเยือนเพชรบุรี แนะนำการท่องเที่ยววิถีท้องถิ่นที่ “ชุมชนถ้ำรงค์” ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ที่ยังอนุรักษ์ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ นำของดีที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ โดยชุมชนแห่งนี้ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมระดับประเทศ

สำหรับประวัติความเป็นมามีตำนานเล่าว่า เจ้าเมืองเสด็จประพาสมาที่ตำบลนี้ หญิงสาวชาวบ้านได้นำน้ำใส่ขันมาถวาย เจ้าเมืองพระราชทานธำมรงค์ (แหวน) เป็นการตอบแทน ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนนี้ว่า “บ้านธำรงค์” ก่อนจะกลายมาเป็น “ถ้ำรงค์” ในปัจจุบัน

หลวงพ่อดำ ภายในถ้ำ
สถานที่สำคัญที่ผู้มาเยือนต้องปักหมุดไม่ควรพลาดจุดแรก คือ การแวะชม “วัดถ้ำรงค์” ซึ่งบริเวณวัดมีโถงถ้ำขนาดเล็กที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางห้ามญาติสีดำทั้งองค์อายุกว่าพันปีแกะสลักจากผนังหินถ้ำ หาชมได้ยาก สง่างามอยู่ภายในถ้ำมีความงดงามเข้มขลังที่ผู้คนแวะไปสักการะไม่เคยขาด

อุดม โฉมงาม
จากนั้นเดินทางศึกษาวิถีถิ่นคนเมืองเพชรแห่งชุมชนบ้านถ้ำรงค์ ตามฐานการเรียนรู้จุดต่างๆ เริ่มต้นที่ “ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ว่าวไทย” เรือนไทยยกสูงที่มีว่าวจุฬาวางเด่นเป็นสัญลักษณ์ บ้านหลังนี้เป็นของ“อุดม โฉมงาม” ผู้ที่หลงใหลในการทำว่าวไทย และรักษาภูมิปัญญาเอาไว้ถ่ายทอดแก่คนรุ่นใหม่ๆ กิจกรรมที่ผู้มาเยือนจะได้ศึกษา คือ วิธีการทำว่าว รู้จักวัสดุ การดัดไม้ การตกแต่งว่าว ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับว่าวไทย


อุดม เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “ว่าวจุฬา - ว่าวปักเป้า” ซึ่งมีวิธีการเล่นแข่งขันกันที่เรียกว่า จุฬาคว้าปักเป้า เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยพระยาภิรมย์ภักดี รูปแบบมีการแบ่งแดนสนามกั้นตรงกลาง เหนือลมเป็นของผู้เล่นว่าวจุฬา ส่วนใต้ลมเป็นของผู้เล่นว่าวปักเป้า ผู้เล่นบังคับว่าวให้จุฬาไปคว้าว่าวปักเป้ามาในแดนตนให้ได้ แต่ถ้าว่าวจุฬาตกในแดนปักเป้าก็ถือว่าแพ้

 มีดรูปแบบต่างๆของชาวเพชรบุรี
นักท่องเที่ยวมาที่นี่จะได้รับรู้เรื่องราวสนุกๆของว่าวไทย ตลอดจนกรรมวิธีการทำว่าว และหากมีเวลาก็สามารถติดต่อทำว่าวเป็นของตนเองได้ นอกจากนี้ยังได้ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาอื่นๆในท้องถิ่นเพชรบุรี เช่น การทำมีด การทำกังหันเพื่อพยากรณ์แรงลม สำหรับการขึ้นต้นตาล เป็นต้น (ติดต่อ โทร. 09-2703-8906)


วิธีทำขนมตาลที่ฐานการเรียนรู้ยีโตนด
ฐานการเรียนรู้ถัดมา คือ “แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน ยีโตนด” ซึ่งเป็นบ้านของ “สมจิตร กองแก้ว” สถานที่ที่ผู้มาเยือนจะได้รู้ที่มาของการทำขนมตาลตั้งแต่เริ่มต้นการแกะเปลือก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การได้ชิมขนมตาลร้อนๆฟูๆ หอมกรุ่นจากหม้อนึ่ง

สมจิตร กองแก้ว


การสาธิตทำขนมตาลให้ชมนั้น เริ่มที่การนำเอาลูกตาลแก่สุกเต็มที่มาปอกเปลือก แกะส่วนเมล็ดสีเหลืองออกมาใช้ จากนั้นมายีกับน้ำ ซึ่งที่มาของ “ยีโตนด” จึงหมายถึง ตาลโตนดนั่นเอง การยีตาลเพื่อเอาเนื้อออกมาละลายในน้ำก่อนจะนำไปกรองผ่านการเคี่ยวจนข้นให้เหมือนแป้งแล้วเทลงไปในกระทงใบจิ๋วนำไปนึ่ง กลายมาเป็นขนมตาลสีเหลืองสดใสที่หากได้กินร้อนๆแล้วต้องติดใจในความหอมหวาน (ติดต่อ โทร.0892405876)



ต่อมาที่ฐานการเรียนรู้ “ดอกไม้ประดิษฐ์ จากใบตาล” ของ “ดวงกมล ดนตรี” นักประดิษฐ์แห่งชุมชนบ้านรงค์ ผู้สร้างสรรค์พืชประจำท้องถิ่นอย่างใบตาลโตนด มาเป็นข้าวของเครื่องใช้ และของประดับเพื่อความสวยงามหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟ พวงมาลัย ตะกร้า จานรอง หมวก รูปสัตว์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับใบตาลที่มีอยู่แล้วในชุมชน โดยมีเคล็ดลับในการเลือกใบตาลอ่อนหรือแก่ ที่มีสีต่างกัน เพื่อให้เหมาะกับชิ้นงาน

ดอกไม้ประดิษฐ์ จากใบตาล

ดวงกมล ดนตรี
จุดเริ่มจากการรวมกลุ่มอาชีพมาเกือบ 20 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จมีลูกค้าประจำ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ทั้งยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่หน่วยงานราชการ การดูงานของคณะต่างๆทั้งในจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงจากกรุงเทพฯ และเป็นจุดหมายเรียนรู้ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมอีกด้วย เนื่องจากสามารถเรียนรู้ได้ง่าย และใช้เวลาไม่นาน (ติดต่อ โทร. 09-0559-4565)




นอกจากฐานการเรียนรู้ทั้ง 3 จุดนี้แล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าชุมชนบ้านถ้ำรงค์ คือ แหล่งปลูกตาลโตนดที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ โดยมีแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด หรือ “สวนตาลลุงถนอม” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว



ลูกตาลสดจากต้น
สวนตาลลุงถนอม มีจุดถ่ายภาพยอดฮิตคืออุโมงค์ต้นตาล ที่มีต้นตาลสูงเรียงรายเป็นระเบียบสวยงาม สวนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่จะได้เรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเกี่ยวกับต้นตาลของชาวเพชรบุรี โดยมีการสาธิตเก็บน้ำตาลโตนด การเคี่ยวน้ำตาล การใช้ประโยชน์จากต้นตาล รวมทั้งลิ้มรสความอร่อยจากตาลสด และขนมตาลภายในสวน (ติดต่อ 08-7800-7716)

น้ำตาลสดที่สวนตาลลุงถนอม

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น