xs
xsm
sm
md
lg

หาดูยาก! นิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย” ชมเซรามิกญี่ปุ่นอายุกว่า 300 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใครที่ชื่นชอบงานเซรามิกโบราณจะต้องไม่พลาดงานนี้ เพราะทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ชวนชมเซรามิกโบราณที่นำมาจากญี่ปุ่น จำนวน 97 ชิ้น จัดแสดงให้ชมระหว่างวันที่ 14 กันยายน - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สำหรับการจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” The Endless Epic of Japanese -Thai Ceramic Relationship in the World’s Trade and Culture เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทยจากวิถีพาณิชยวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ระดับประเทศและสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซรามิกหรือเครื่องปั้นดินเผา และฉลองวาระครบรอบ 135 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น




โดยนำโบราณวัตถุเครื่องเคลือบเซรามิกจากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องปั้นดินเผาของไทยจากหลากหลายแหล่ง มาจัดแสดงร่วมกัน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 14 กันยายน ถึงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อให้ชาวไทยได้รับความรู้ ความเข้าใจด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะของญี่ปุ่นโดยเฉพาะช่วงสมัยเอโดะ และสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น




กรมศิลปากร ได้ร่วมมือกับจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางวัฒนธรรม และได้มีการเตรียมการจัดทำนิทรรศการร่วมกันกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดซากะ และพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู มาตั้งแต่พ.ศ. 2561 ปัจจุบันสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดซากะ และพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ได้อนุญาตให้กรมศิลปากรนำโบราณวัตถุเครื่องเคลือบดินเผา (porcelain) สำคัญจากจุดกำเนิดที่เมืองอาริตะ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 82 รายการ 97 ชิ้น มาจัดแสดงร่วมกับเครื่องปั้นดินเผาไทย จำนวน 90 รายการ จากแหล่งโบราณคดี-ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย และได้รับความร่วมมือนำโบราณวัตถุมาร่วมจัดแสดงจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้อำนวยการโรงเรียนถนอมบุตร และนายวราห์ โรจนวิภาต ซึ่งรังสรรค์พัฒนาสืบมาในประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 6 หัวเรื่อง คือ




1. น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม
ราชชนนีพันปีหลวง: เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565
2. วิวัฒนาการเซรามิกแห่งสองสายใย (ญี่ปุ่น-ไทย) ในโลกพาณิชยวัฒนธรรม
3. ภูมิปัญญาชาวแหลมทองและชาวอาทิตย์อุทัย ในดิน-น้ำ-ลม-ไฟ: “ปั้นดินทราย ฉาบไล้ด้วยน้ำ
นำผึ่งลม โหมฟืนไฟในเตาเผา” บอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นและไทย
4. สูงสุดแห่งภูมิปัญญา: ภาพฉายาในพาณิชยวัฒนธรรมโลก สะท้อนเรื่องราวการค้า ศิลปะและ
วัฒนธรรมผ่านเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นและไทยที่ไปไกลยังต่างแดน
5. แรงบันดาลใจไม่หยุดยั้งคือพลังสร้างสรรค์ใหม่ โดยสืบทอดวัฒนธรรมและพัฒนากระบวนการผลิต
สู่ความคิดใหม่
6. สำรับคาวหวาน อาหารญี่ปุ่น – ไทย ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมอาหารควบคู่กับภาชนะ
ที่มีบทบาทสำคัญมาแต่อดีต




โดยโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาอาริตะชิ้นสำคัญจากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ที่นำมาจัดแสดง อาทิ เด็กชายจับปลาดุกด้วยน้ำเต้า ตกแต่งด้วยการเขียนสีบนเคลือบ พุทธศักราช 2213 – 2252 จานลายครามแบบคารากขนาดใหญ่เขียนลายนกฟินิกซ์และตราวีโอซี พ.ศ. 2233 – 2262 ขวดทรงแปรงตีชาเขียนลายบนเคลือบ เป็นลายดอกโบตั๋น พ.ศ. 2193 – 2203 สำหรับโบราณวัตถุของไทย ที่นำมาจัดแสดง อาทิ ชุดชามเบญจรงค์ พุทธศตวรรษที่ 24 กระปุกสังคโลกสองหู พุทธศตวรรษที่ 19 – 21 จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กุณฑีสังคโลก พุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ได้จากการขุดค้นที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย


นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น. การบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) วันที่ 14 – 16 กันยายน ๒๕๖๕ กิจกรรมจากจังหวัดซากะ ได้แก่ เวิร์คช็อป (Workshop) กิจกรรมลงสีเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ทดลองลงสีบนจานอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม 20 ท่านต่อวัน ซึ่งจาน ที่ลงสีแล้วจะนําไปเผาอบให้สีอยู่ตัวก่อนจะมอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมต่อไป กิจกรรมทําเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่เกิดจากกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม 60 ท่านต่อวัน โดยสามารถเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมท่านละ 1 ครั้งเท่านั้น และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันมาของญี่ปุ่น การจัดแสดงและจําหน่ายของดีจังหวัดซากะอีกด้วย


กิจกรรมเวิร์คช็อป (Workshop) จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้แก่ การขึ้นรูปชิ้นงานจาน 3 ครั้งๆ ละ 4 รอบ ในวันที่ 25 กันยายน 2565 วันที่ 9 และ 23 ตุลาคม 2565 และการเขียนสีใต้เคลือบ 3 ครั้งๆ ละ 4 รอบ ในวันที่ 6 และ 20 พฤศจิกายน 2565 และ 4 ธันวาคม 2565 ผู้ร่วมกิจกรรมรอบละ 30 ท่าน




นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 14 กันยายน - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันพุธ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์ – อังคาร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร finearts.go.th

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น