ใครชื่นชอบการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชนแบบใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะปั่นจักรยานเที่ยวแล้ว วันนี้อยากแนะนำทุกคนมาลองใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า อีกหนึ่งตัวช่วยที่ดีของการตะลุยเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์นนทบุรีและเพิ่มสีสันของการเดินให้สนุกมากยิ่งขึ้น
วัดตำหนักใต้
จุดเริ่มต้นของทริปนี้อยู่ที่ “วัดตำหนักใต้” ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี และก่อนเริ่มเดินทางเรามาฟังเจ้าหน้าที่บรรยายเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในการขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากันก่อน เพื่อให้สนุกและปลอดภัยในการเดินทาง
ก่อนล้อสกู๊ตเตอร์จะหมุนเคลื่อนตัวออกจากวัดตำหนักใต้ เรารู้จักกับวัดแห่งนี้กันก่อน ตามประวัติระบุว่าวัดตำหนักใต้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2367 ในสมัยรัชกาลที่ 3 สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งวัดตำหนักใต้นั้น ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของพระตำหนักบางธรณี ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวของพระแก้วมรกต เมื่อคราวที่อันเชิญมาจากเวียงจันทน์ ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ( บางธรณีเป็นชื่อคลองและชื่อหมู่บ้านอันที่ตั้งของพระตำหนัก)
สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วย วิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง ซุ้มประตู-หน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปดอกไม้ หน้าบานเป็นลายจำหลักรูปดอกไม้ลอยตัวกลาง หน้าบันในวงกลมทำเป็นรูปม้าวิ่ง ประตูด้านนอกเป็นลายพันพฤกษาลงรักปิดทอง ซึ่งลบเลือนไปมาก ประตูหน้าต่างด้านในมีภาพจิตรกรรมแต่ลบเลือนไปมากเช่นกัน พอเห็นเป็นลางๆ เป็นภาพคนแบบเครื่องตั้งแจกันดอกไม้ผลไม้ ลักษณะของภาพจิตรกรรมที่หลงเหลืออยู่สันนิษฐานว่าเป็นช่างเขียนสกุลเดียวกับวัดชมภูเวก เนื่องจากบางภาพมีลักษณะคล้ายกันมาก
สำหรับภายในโบสถ์หลังใหม่มีหมู่พระพุทธรูปเอกลักษณ์สุโขทัย ลักษณะพระพักร์รูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ อกใหญ่ นิ้วพระหัตถ์แบบสามัญมนุษย์ มีภาพจิตกรรมฝาผนังมีอายุกว่า 65 ปี
วัดชมภูเวก
จากนั้นขี่สกู๊ตเตอร์ลัดเลาะตามตรอกซอกซอยเพื่อไปยัง “วัดชมภูเวก” ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก วัดแห่งนี้เป็นวัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายระยะต้น ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2225 ด้านสถาปัตยกรรมของวัดชมภูเวกที่มีความเก่าแก่ถึง 350 ปี เป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง ไทย มอญ จีน พม่า และของชาวตะวันตก ที่สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี 2517 และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณสถานของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย
ส่วน “อุโบสถเก่า” ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ก็มีอายุเก่าแก่ประมาณ 350 ปี เช่นกัน ลักษณะเด่นของอุโบสถเก่านี้คือ ถูกออกแบบให้มีประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าด้านเดียวตามคติมอญ เรียกว่า “โบสถ์มหาอุด” หรือฝรั่งเรียกว่า “แบบวิลันดา” ผนังด้านข้างทั้งสองสอบเข้าเพื่อใช้ผนังในการรับน้ำหนักทั้งหมดแทนเสา เชื่อกันว่าอุโบสถลักษณะมหาอุดนี้ปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
ประติมากรรมภายในอุโบสถเก่าส่วนใหญ่เป็นงานลายปูนปั้น ประเภทจำหลักนูนต่ำตกแต่งหลากหลายรูปแบบ โดยรับอิทธิพลจากงานจำหลักไม้ของจีน เป็นลายเครือเถาประดับด้วยเครื่องถ้วยชามลายเบญจรงค์สีต่างๆ หน้าบันเป็นลายพันธุ์พฤกษาดอกพุดตาน ประดับกลางดอกด้วยถ้วยลายครามและเบญจรงค์ มีก้านใบเป็นส่วนประกอบ ส่วนกรอบหน้าบันปั้นรูปลายบัวกลีบขนุนประดับแทนใบระกาและปั้นรูปเทพนมอยู่ในตำแหน่งช่อฟ้าและหางหงส์
ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่เลื่องชื่อเป็นฝีมือสกุลช่างนนทบุรีสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอร่า เขียนตามคติอยุธยาตอนกลาง คือ ผนังด้านบนเหนือขอบหน้าต่างด้านบนขึ้นไปเขียนรูปอดีต พุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์เรือนแก้วมีซุ้มโพธิ์ เบื้องหลังมีผ้าทิพย์ห้อยลงระหว่างอดีตพระพุทธเจ้ามีพระสาวกนั่ง ถวายสักการะทั้งเบื้องขาวและเบื้องซ้าย
ผนังหุ้มกลองหน้าพระประธานเหนือประตูเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นภาพเขียนรูป “แม่พระธรณีบีบมวยผม” ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปะขั้นสูงฝีมือบรมครู ว่ากันว่าเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติประดุจภาพทิพย์ที่เบาเสมือนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งศิลปินที่เป็นจิตกรของกรมศิลปากรต่างยกย่องและรับรองว่าเป็นแบบอย่าง “ภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดในโลก” เลยทีเดียว
และในวันที่ 9-10 กันยายน 2565 ที่วัดชมภูเวกจัดงานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง โดยในวันที่ 9 กันยายน 2565 ชาวบ้านจะมารวมตัวกัน ห่อข้าวต้มมัด และนำน้ำผึ้งมาทำยาลูกกร และในวันที่ 10 กันยายน 2565 เริ่มตักบาตรตั้งแต่เวลา 06.00 น. โมงเช้าเป็นต้นไป
พุทธสถานเชิงท่า – หน้าโบสถ์
จากนั้นขี่สกู๊ตเตอร์ลัดเลาะเรียบแม่น้ำสู่ “พุทธสถานเชิงท่า – หน้าโบสถ์” เป็นวัดสำคัญมาครั้งสมัยอดีต ก่อสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏชัดเจน ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2506 นั้น วัดทั้งสองเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา แต่ด้วยมีความต้องการใช้สถานที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของราชการ (กรมชลประทาน) จึงเวนคืนพื้นที่ของวัดทั้งสองและชุมชนใกล้เคียง
ในส่วนของวัดหน้าโบสถ์นี้ เดิมทีจะอยู่ไปทางตอนเหนือของแม่น้ำประมาณ 200 เมตร แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวนั้นอยู่ในเขตพระราชฐานจึงได้ย้ายมาอยู่ ณ บริเวณริมแม่น้ำติดกับวัดเชิงท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และได้ทำการอนุรักษ์พัฒนา เพื่อจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงทำการย้ายพระอุโบสถวัดหน้าโบสถ์มายังวัดเชิงท่า และตั้งชื่อใหม่ว่า “พุทธสถานเชิงท่า – หน้าโบสถ์”
สถานที่สำคัญของวัดซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ ศาลเจ้าพ่อเสือ บริเวณด้านข้างของวัดหน้าโบสถ์นี้ หลวงพ่อเสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของผู้คนในบริเวณนี้ และเจดีย์วัดเชิงท่า ซึ่งยังคงหลงเหลือสภาพดังปัจจุบันตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2506
วัดกลางเกร็ด
อีกหนึ่งวัดเก่าที่มีความน่าสนใจคือ “วัดกลางเกร็ด” สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดนี้ในสมัยอยุธยา ภายในวัดมีเสาไฟพระประทีปอยู่ข้างพระอุโบสถหลังเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กับสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา มีภาพจิตกรรมฝาผนังภายในอุโบสถที่เป็นการเขียนสีสมัยใหม่งดงามโดดเด่นไม่ซ้ำใคร ถัดจากอุโบสถ์ไปทางด้านขวามือมีหอไตรเก่ากลางน้ำ โครงสร้างทำจากไม้ทั้งหลังปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว
จากนั้นขี่สกู๊ตเตอร์ไปยังร้านขนมเปี๊ยะเฉลิมชัยพานิช ขนมเปี๊ยะไทยสูตรโบราณนานกว่า 50 ปี อบควันเทียน ไส้ถั่ว-ไข่เค็ม ของดีที่เมื่อผ่านมาแล้วนี้จะต้องไม่พลาดซื้อติดไม้ติดมือกลับไป
ศาลเจ้าเง็กกวงตั๊ว
หลังจากเข้าวัดไทยกันแล้ว เรามาเยี่ยมชม “ศาลเจ้าเง็กกวงตั๊ว” ศาลเจ้าหนึ่งเดียวในย่านที่เป็นแหล่งรวมใจ และศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีน ชมเทพองค์ต่าง ๆ ที่ทำมาจากไม้ อาทิ ไท่เสียงเหลากุง (ผู้ริเริ่มศาสนาเต๋า) ง่วงสีเทียงจุง ทงเทียนก้าจู้ (3 องค์นี้ศาสนาเต๋า) ฮัวท้อเซียนซือ เหล่าก๊กซือกง เทียนโฮ้ว เอี่ยวตี๊กิมบ้อ เจ้าแม่กวนอิม ซือปุยเนี่ยเนี๊ย และยังมีองค์เทพอื่นๆ อีกหลายองค์ให้เราสักการะขอพร
วัดเกาะพญาเจ่ง
มาปิดท้ายที่ “วัดเกาะพญาเจ่ง” สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2318 สิ่งที่โดดเด่นของวัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย จิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะพญาเจ่ง เพชรน้ำเอกแห่งงานจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถของจังหวัดนนทบุรี ศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 3 ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรวมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับนอดีตพระพุทธเจ้า ต่ำลงมาเป็นชุทนุมเทวดา ทศชาติชาดก นิทานพื้นบ้าน และวิถีชีวิต
พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถึงปูน หลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องมีชั้นรถ 2 ชั้น เป็นลักษณะหลังคาคลุมรอบอุโบสถ ยกหลังคาด้วยเสานางเรียงสี่เหลี่ยมยกมุม เป็นรูปแบบศิลปกรรมที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มเรือนแก้วเหนือกรอบประตูและหน้าต่างแกะปูนเป็นแจกันดอกไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นรูปแบบศิลปะที่นิยมตกแต่งงานก่อสร้างในซีกโลกตะวันตกที่ไทยได้รับอิทธิพลเข้ามา
หากใครสนใจขี่สกู๊ตเตอร์เที่ยวนนทบุรีในเส้นทางนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ เพจเฟสบุ๊ก : Scoot de Urban หรือโทร. 08-6404-3786
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline