“น่าน” เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไปครั้งใดก็ยังมีมนต์ขลังไม่เสื่อมคลาย เมืองน่านนั้นรุ่มรวยด้วยเสน่ห์ของล้านนา ประกอบกับวิวสวยและธรรมชาติรอบๆ ตัว อีกทั้งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ เชื่อว่าใครที่เคยมาเยือนน่านก็ล้วนแต่ประทับใจกันถ้วนหน้า
อีกหนึ่งวัดเก่าอันโดดเด่นของเมืองน่าน ต้องยกให้ “วัดหนองบัว” อ.ท่าวังผา วัดไทลื้อเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านความงดงามของสถาปัตยกรรมวิหารไทลื้อ รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังก็นับว่าเป็นผลงานชิ้นเอกเช่นกัน
“วัดหนองบัว” เป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ของหมู่บ้านหนองบัว จังหวัดน่าน ซึ่งมีถิ่นเดิมอยู่ในดินแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ทางตอนใต้ของจีน และอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้ว โดยเฉพาะในแถบจังหวัดเหนือตอนบนที่เป็นอาณาจักรล้านนาเดิม
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดหนองบัว แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2405 ในสมัยรัชกาลที่ ๔ กรมศิลปากรประกาศให้เป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทลื้อ และภายในยังมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว
ที่นี่มีความสวยงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมของไทลื้อ และที่โดดเด่นที่สุดในวัดก็คือวิหารไทลื้อแบบ “เตี้ยแจ้” ที่งดงามและเรียบง่าย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวิหารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยลื้อที่สมบูรณ์อย่างมาก
และที่ห้ามพลาดอีกจุดในวัดหนองบัวก็คือ การชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารไทลื้อ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสุดคลาสสิก สันนิษฐานว่าเขียนโดย “หนานบัวผัน” (ทิดบัวผัน) ซึ่งเมื่อเขียนภาพที่วัดนี้สำเร็จแล้ว ต่อมาจึงได้ไปเขียนภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” และภาพจิตรกรรมอื่นๆ ที่วัดภูมินทร์ในตัวจังหวัด
ภาพจิตรกรรมในวัดหนองบัวนั้น จะวาดเป็นพุทธประวัติและชาดก โดยภายในวิหารประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา สีทองอร่าม ด้านข้างซ้ายมีธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ บริเวณด้านหลังมีภาพวาดอดีตพระพุทธเจ้า ส่วนผนังอีกสามด้านนั้นมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่เต็มโดยรอบ
พระพุทธประวัติที่มีความโดดเด่นงดงามมาก อยู่บริเวณด้านบนของผนังด้านตะวันออกเหนือประตูทางเข้า เป็นภาพพระอินทร์มาดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า สื่อว่าสายที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไร้เสียง สายที่ขึงตึงพอดีเท่านั้นจึงบรรเลงเพลงได้ไพเราะ พระพุทธองค์สดับดังนั้นจึงเกิดพระโพธิญาณ ตระหนักถึงทางสายกลาง ยุติการบำเพ็ญทุกรกิริยา และตรัสรู้ในกาลต่อมา
ส่วนชาดกนั้นเป็นเรื่อง “จันทคาธ” เป็นชาดกในหนังสือ ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค คนเหนือเรียกว่า ค่าวธรรมจันทคาธปูจี่ เป็นเรื่องยาวที่สอนทั้งความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต จนถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
และยังมีการสอดแทรกภาพของเรือกลไฟ ทหารชาวฝรั่งเศส และดาบปลายปืน ซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เป็นการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
นอกจากวิหารไทลื้ออันงดงามแล้ว ด้านหลังวัดก็จะมีบ้านไทลื้อจำลอง ที่บอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อดั้งเดิมให้ได้เห็นกัน และยิ่งได้บรรยากาศมากขึ้นไปอีกด้วยเสียงเพลงพื้นเมืองที่ถูกบรรเลงโดยเหล่าพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยใต้ร่มไม้ใหญ่ที่ด้านหน้าวิหาร
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline