“พระนครศรีอยุธยา” ราชธานีที่งดงามเหนือกาลเวลา เป็นจุดหมายของนักเดินทางจากทั่วโลกปักหมุดต้องมาเยือน ซึ่งหากมองตารางการท่องเที่ยวอยุธยาที่ยืนเรียงเด่นอยู่แถวหน้า มักเป็นวัดและโบราณสถานชื่อดังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดใหญ่ชัยมงคล วัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น แต่ทว่าเมืองมรดกโลกที่เคยรุ่งเรืองมากว่า 400 ปี ยังมีสถานที่ลับๆหลบเร้นจากสายตาการท่องเที่ยวกระแสหลัก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “อันซีนอยุธยา” ที่อาจยังไม่เคยผ่านตานักท่องเที่ยวต่างถิ่น
ประตูช่องกุดหนึ่งเดียวในอยุธยา
อาณาจักรอยุธยาที่ยิ่งใหญ่ในอดีตนั้น หลงเหลือประตูขนาดเล็กสำหรับคนเดินเข้าออกอยู่เพียงประตูเดียว ประตูนี้เรียกว่า “ประตูช่องกุด” เป็นประตูขนาดเล็กเจาะเป็นช่องตามตลอดแนวกำแพงเมืองไปตลอดโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ใช้สำหรับคนเดินเข้าออก มีลักษณะช่องโค้งปลายแหลม กว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร ขนาดพอที่คนเดินเข้าออกได้ ในอดีตกรุงศรีอยุธยามีประตูช่องกุดจำนวน 61 ประตู ปัจจุบันคงเหลือซากให้เห็นเพียงแห่งเดียวในเกาะเมืองอยุธยาซ่อนอยู่ที่หลังโรงเรียนวัดรัตนชัย (วัดจีน)
สะพานเทพหมี อารยสถาปัตย์แห่งสะพานยุคโบราณ
สะพานเทพหมี (อ่านว่า เทบ-พะ-หมี) บ้างเรียกว่า สะพานเทษมี สะพานวานร หรือสะพานอิฐบ้านแขกใหญ่ ใช้สำหรับสัญจรข้ามคลองประตูเทษหมี ก่อด้วยอิฐ มีสถาปัตยกรรมทรงโค้งแบบ True Arch ต่อกันเป็นรูปกลีบบัวคั่นด้วย Key Stone อิฐสี่เหลี่ยมคางหมู ซุ้มโค้งนั้นเป็นช่องให้เรือผ่านได้ 3 ช่อง อาจได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอินโด-อิหร่าน ที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นสะพานที่ยังมีความสมบูรณ์และงดงามหาชมได้ยาก (สะพานอยู่ในพื้นที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา)
สถานที่ฝังศพ ปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งราชสำนัก
อาคารทรงโดมสีทองอร่าม อยู่ในพื้นที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา คือ สุสานของเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด พ่อค้าจากเมืองกุมแห่งเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่ค้าขายกับราชสำนักจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระราชทานยศพร้อมทำหน้าที่เจ้ากรมท่าขวาและจุฬาราชมนตรี นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย (แต่เป็นตำแหน่งขุนนางด้านการค้า)
ท่านเฉกอะหมัด รับใช้ทำงานราชการยาวนานถึง 6 แผ่นดิน ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือที่ปรึกษาการปกครอง ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรม สุสานแห่งนี้ ยังเปรียบดังอนุสรณ์สถานความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อิหร่าน และเป็นอนุสรณ์สถานของต้นสกุลไทยมุสลิมชีอะห์ และสกุลบุนนาค
สะพานป่าดินสอ สะพานงามในย่านค้าขายดินสอ
สะพานโบราณอีกแห่งที่มีความงามโอบล้อมด้วยความร่มรื่นจากต้นไทร ไม่ปรากฏปีที่สร้างแต่สถาปัตยกรรมนั้นเป็นรูปแบบที่นิยมในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปูพื้นเรียงอิฐเป็นก้างปลา ใต้สะพานก่ออิฐสันเหลื่อมตามโครงสร้างแบบ Corbel Arch เป็นซุ้มโค้งกลีบบัว
สะพานแห่งนี้บ้างเรียกสะพานหน้าวัดบรมพุทธาราม โดยชื่อป่าดินสอมาจากสมัยก่อนละแวกนี้เป็นแหล่งค้าขายดินสอศิลา และเครื่องเขียนต่างๆ (สะพานอยู่ในพื้นที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา)
วัดบรมพุทธาราม นิวาสสถานต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ถัดจากสะพานป่าดินสอไปไม่กี่เมตร เป็นที่ตั้งของวัดบรมพุทธาราม อันเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระเพทราชา ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบริเวณพระนิเวศน์เดิมละแวกบ้านหลวง ใช้เวลาสร้างกว่า 3 ปี โดยโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นจันทราทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ และพระวิหาร จึงเป็นที่มาของอีกชื่อ คือ วัดกระเบื้องเคลือบ ด้านหน้าของพระอุโบสถมีพระสถูปทรงปรางค์ 2 องค์
ซุ้มด้านบนประตูพระอุโบสถทำเป็นยอดปราสาท โดยหากมองในระดับเดียวกันกับซุ้มประตูจะเห็นพระประธานประทับนั่งบนฐานชุกชีภายในบุษบกยอดปราสาท ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางด้านสถาปัตยกรรมของงานช่างหลวงในยุคโบราณ นอกจากนี้วัดมีบานประตูไม้ประดับมุกไฟที่มีความวิจิตร ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้และจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
วัดสิงหาราม โบราณสถานที่รายล้อมด้วยสนามกีฬา
ใกล้กับสนามเทนนิส และสนามฟุตบอล มรภ.พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานเด่นสะดุดตาอีกแห่ง คือ วัดสิงหาราม ซึ่งหลงเหลือเจดีย์ประธานทรงระฆังกลม 2 องค์ ซึ่งไม่ค่อยพบ จึงสันนิษฐานว่า องค์ที่ 3 อาจพังทลายไปแล้ว และมีพระวิหารทางด้านทิศตะวันออก
วัดเก่าแก่แห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วอย่างน้อยในสมัยอยุธยาตอนกลางก่อนการสร้างวัดบรมพุทธาราม และมีการปฏิสังขรณ์ครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยพบหลักฐานการนำเอาเศษเครื่องถ้วยจีนมาประดับร่วมกับลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางด้านหน้าของวิหาร ซึ่งเป็นลักษณะงานศิลปกรรมที่พบในโบราณสถานบางแห่งที่ปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
วัดส้ม วัดร้างที่ชวนไขปริศนาการสร้างจากลวดลายปูนปั้น
วัดที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคลองท่อ (คลองฉะไกรใหญ่) เป็นวัดร้างขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อพิจารณาจากพระปรางค์ประธาน ที่มีลวดลายปูนปั้นประดับวิวัฒนาการมาจากโครงสร้างและลวดลายแบบเขมร เช่น ลวดลายเสาผนังเหมือนลักษณะกลีบบัวซ้อน ลายก้านขด ลายพฤกษาแบบจีน และมีหน้าบันศิลปะเขมร ซึ่งน่าจะมีช่วงอายุการสร้างลักษณะดังกล่าวในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เพราะมีความคล้ายคลึงกับศิลปกรรมพระปรางค์รายของวัดมหาธาตุ (พ.ศ. 1917) และวัดราชบูรณะ (พ.ศ. 1967)
วัดเชิงท่า ศาลาการเปรียญ ตามรอยบุพเพสันนิวาส
วัดสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งปัจจุบันเป็นทั้งโบราณสถานและเป็นวัดที่มีภิกษุจำพรรษา วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายด้าน เดิมเคยมีชื่อว่าวัดคอยท่า ครั้งเมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ได้กลับมาทำการบูรณะแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโกษาวาสน์ และวัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่นายสินบวชจำพรรษาเมื่อครั้งเยาว์วัย ก่อนที่จะมาเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชในกาลต่อมา
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือน คือ ศาลาการเปรียญที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี มีภาพจิตรกรรมเรื่องทศชาติชาดก ธรรมมาสน์วิจิตรศิลปะอยุธยา และมู่ลี่ม่านบานพับไม้บังสายตาหนึ่งเดียวในประเทศ ซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครรู้ถึงความงดงามภายใน จนกระทั่งละครเรื่องบุพเพสันนิวาสใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ ศาลาการเปรียญวัดเชิงท่า ก็เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการตามรอยละครดัง
วัดพุทไธศวรรย์ จิตรกรรมฝาผนังศิลปะอยุธยาที่ยังหลงเหลือชัดเจนที่สุด
ภายในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ มีจิตรกรรมล้ำค่าจากสมัยอยุธยาตอนปลาย คาดว่าตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราวปี พ.ศ. 2231-2245 ซึ่งนับว่าหลงเหลือให้เห็นชัดเจนที่สุดแล้ว
จิตรกรรมมีความหลากหลายน่าตื่นตื่นใจมาก เช่น ไตรภูมิ ทศชาติชาดก พุทธประวัติตอนมารผจญ สระอโนดาด (ปากช้าง ม้า สิงห์ โค) สัตว์หิมพานต์ บานประตูเป็นภาพสตรีชาวมอญ พระพุทธโฆษาจารย์บนเรือสำเภาล่องไปลังกา ภาพฝรั่งสวมหมวกแต่งกายในสมัยอยุธยา ภาพพญามารยักษ์ถือปืนใหญ่ที่หาชมได้ยากมาก ภาพวสวัตตีมาร (มารชั้นสูงสุด) เป็นต้น นับว่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะมาก จนมีศิลปินแห่งชาติ ครูอาจารย์ด้านศิลปะ เดินทางไปคัดลอกลายเอาไว้เพื่อเก็บเป็นหลักฐานมิให้สูญหาย
วัดเตว็ด วัดร้างกลางป่า สถาปัตยกรรมลูกครึ่ง ไทย-ยุโรป
วัดร้างแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกตัวเกาะเมืองอยุธยา บริเวณริมคลองปทาคูจาม แม้อยู่ไม่ไกลจากชุมชน แต่ก็รายล้อมไปด้วยแมกไม้ราวกับอยู่กลางป่า ปัจจุบันวัดหลงเหลือเพียงกำแพงผนังด้านเดียว ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เจาะช่องประตูเป็นรูปโค้ง
จุดเด่นของวัดนี้ ถือเป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบของอาคารที่มีอิทธิพลศิลปะแบบตะวันตก หน้าบันก่ออิฐถือปูนแบบ “กระเท่เซ” ประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะยุโรปผสมผสานกับไทย หากถ่ายภาพแล้วขยายดูชัดๆ จะเห็นหางหงส์ปั้นเป็นรูปศีรษะบุรุษหันด้านข้างผูกผ้าพันคอ และมีลายประธานใจกลางหน้าบันเป็นปูนปั้นรูปทิพย์วิมานแบบยุโรป ใบไม้ที่อยู่ในลายก้านขดคล้ายใบอะแคนตัสของกรีกโบราณ ส่วนก้านแยกเป็นลายนกคาบอย่างไทย ซึ่งเมื่อสันนิษฐานจากยุคสมัยแล้ว น่าจะรับอิทธิพลศิลปะจากฝรั่งเศส ซึ่งอยุธยามีความสัมพันธ์ทางการทูตในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline