xs
xsm
sm
md
lg

บ้านบุณยัษฐิติ บ้านทรงคุณค่าย่านจันทบูร คว้ารางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครดิต: เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ  facebook.com/punyashthitivilla
ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา “บ้านบุณยัษฐิติ” บ้านเก่าแก่กว่า 150 ปี แห่งชุมชนริมน้ำจันทบูร จันทบุรี คว้ารางวัลเหรียญเงิน สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์


เครดิต: เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ  facebook.com/punyashthitivilla
“บ้านบุณยัษฐิติ” หรือ บุณยัษฐิติ วิลล่า บ้านเก่าแก่กว่าศตวรรษที่ตั้งอยู่ในชุมชนริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่พักหรูและคาเฟ่บรรยากาศดีๆริมแม่น้ำที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังเป็นบ้านเก่าที่มากไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์

การบูรณะบ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปี กลายมาเป็นบ้านที่เฉิดฉายความงามและคุณค่าแห่งมรดกจากบรรพบุรุษ จึงนับเป็นการสานต่อศิลปวัฒนธรรม และเรื่องราวของชุมชนริมน้ำจันทบูรได้เป็นอย่างดี

เครดิต: เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ  facebook.com/punyashthitivilla
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงคัดเลือกให้ได้รับรางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภท การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อาคารเดิม ประจำปี 2565

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายถึงโครงการ “บ้านบุณยัษฐิติ" ว่าเป็นอาคารประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 150 ปี ตั้งอยู่ ย่านตลาดล่าง ชุมชนริมน้ำจันทบูร ลักษณะโครงสร้างหลักเป็นกำแพงอิฐรับน้ำหนัก และโครงหลังคาไม้แบบจีนโบราณ ผสานกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทย จีน และตะวันตก

เครดิต: เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ  facebook.com/punyashthitivilla
เมื่อแรกสร้างบ้านบุณยัษฐิติถือเป็นหมุดหมายสำคัญของจันทบุรี ด้วยความสง่างามของบ้านทำให้มักถูกใช้เป็นที่พำนักค้างแรมระหว่างเดินทางของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือแขกบ้านแขกเมือง เมื่อจังหวัดจันทบุรียังไม่มีโรงแรมหรือสถานพักแรมอันเหมาะสม

สันนิษฐานว่าบ้านบุณยัษฐิติสร้างโดยหลวงอนุรักษ์พานิช (กั๊ก หรือ บุญมาก บุณยัษฐิติ) บุตรนายบุญคงและนางอยู่ (สกุลเดิม “สินธุนาวา”) โดยอ้างอิงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2419 ที่กล่าวถึงครอบครัวของหลวงอนุรักษ์พานิช และบ้านหลังนี้ไว้ ประกอบกับในปี 2419 ที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสจันทบุรี หลวงเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย) บุตรชายคนที่ 3 ของหลวงอนุรักษ์พานิช ซึ่งเป็นผู้ครอบครองบ้านหลังนี้ต่อจากบิดา มีอายุ 26 ปี จึงทำให้เชื่อได้ว่าบ้านบุณยัษฐิติแห่งนี้สร้างโดยหลวงอนุรักษ์พานิชผู้เป็นบิดา

เครดิต: เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ  facebook.com/punyashthitivilla
ด้วยอายุอาคารที่ยาวนานโครงสร้างอาคารและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจึงมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา การสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมแล้ว พบว่า

(1) องค์ประกอบหลักของอาคารในส่วนของผนังอิฐรับน้ำหนักและโครงหลังคายังคงอยู่ในสภาพดีและอยู่ในสภาพดั้งเดิม มีความทรุดเอียงของอาคารส่วนที่ติดริมน้ำ
(2) วัสดุขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่น บานประตูไม้ ฝาไม้ ลายฉลุไม้ โครงสร้างรับพื้นไม้ เป็นต้น
(3) องค์ประกอบอาคารบางส่วนสูญหายและถูกปรับเปลี่ยนไปจากวัสดุดั้งเดิม เช่น วัสดุมุงหลังคา วัสดุปูพื้นชั้นหนึ่ง แผงไม้แกะสลัก เป็นต้น

โดยในการการบูรณะบ้านบุณยัษฐิติ มีหลักการสำคัญ คือ
1. ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอย (Adaptive Re-use) ของสถาปัตยกรรมเดิมอย่างสมสมัย ช่วยส่งเสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์และไม่ทำลายคุณค่าของรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตส่งต่อคุณค่าทางประวัตศาสตร์ไปยังชาวชุมชนและคนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน
2. ใช้กระบวนการทำงานทางสถาปัตยกรรมเป็นฐานของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่าง เจ้าของบ้าน สถาปนิก ช่างฝีมือ และชาวชุมชน
3. ฟื้นภูมิปัญญาเชิงช่างโบราณ โดยในขั้นตอนการก่อสร้างทำการศึกษาร่วมกับช่างฝีมือในด้านต่าง ๆ เช่น งานหลังคา งานปูนปั้น งานไม้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการสืบสานและต่อยอดงานช่างโบราณ หวังให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไปสู่ชนรุ่นหลังต่อไป

เครดิต: เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ  facebook.com/punyashthitivilla
4. องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือสูญหาย ใช้การเก็บรวบรวมหลักฐานที่ปรากฏอยู่และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม บูรณะให้กลับคืนสู่สภาพทางสถาปัตยกรรมทีเคยเป็นมาในอดีต เช่น บานประตูไม้ ฝาไม้ ลายฉลุไม้ โครงสร้างรับพื้นไม้ เป็นต้น
5. ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการใช้วัสดุคุณภาพดีที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการบูรณะครั้งนี้ เช่น กระเบื้องหลังคา เป็นต้น
6. ผสานเทคนิคทางวิศวกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเสริมโครงสร้างหลักของอาคาร โดยเคารพของเก่า เพื่อให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงในระยะยาว

รายละเอียดเพิ่มเติม สมาคมสถาปนิกสยามฯ facebook.com/asafanpage

เฟซบุ๊ก บ้านบุณยัษฐิติ facebook.com/punyashthitivilla

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น