หากเดินทางจากเชียงใหม่มาแม่ฮ่องสอน ผ่านทางถนนสาย 108 อำเภอแรกของแม่ฮ่องสอนที่จะได้เจอก็คือ “แม่สะเรียง”
หลายคนบอกว่า “แม่สะเรียง” เป็นเพียงเมืองผ่านทาง เป็นเสมือนประตูสู่แม่ฮ่องสอน แต่อันที่จริงแล้ว เมืองเล็กๆ แห่งนี้กลับเต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความสงบงามของวิถีชีวิตอันเรียบง่าย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความเงียบสงบ ไม่ชอบความวุ่นวายของเมืองใหญ่ ที่แม่สะเรียงแห่งนี้ก็นับว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรเลยผ่าน
สำหรับใครที่อยากพักกายพักใจ ทริปนี้จะชวนมาไหว้พระทำบุญกับ 5 วัดงามที่ “แม่สะเรียง”
เริ่มต้นจุดแรกที่วัดสวยอีกแห่งของแม่ฮ่องสอน “วัดถ้ำพระ” ที่แม้จะอยู่ระหว่างการก่อสร้างพระอุโบสถที่ยังไม่แล้วเสร็จดี แต่ความงดงามของสถาปัตยกรรมก็มีความโดดเด่นชวนชมเป็นอย่างยิ่ง
วัดถ้ำพระ เดิมชื่อสำนักสงฆ์ถ้ำพระโบราณ (ถ้ำเหง้า) โดยเมื่อปี 2541 พระอาจารย์จรัญ อภิชาโต พระภิกษุสายพระป่ากรรมฐาน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิมพุทธจาโร วัดถ้ำผาปล่อง ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และเห็นว่าถ้ำแห่งนี้มีความวิเวก เหมาะแก่การอาศัยเจริญภาวนาจึงตัดสินใจอยู่จำพรรษาที่ถ้ำนี้
จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ตลอดจนสร้างถนนขึ้นไปยังถ้ำ ต่อมาได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ สำนักสงฆ์ถ้ำพระโบราณ (ถ้ำเหง้า) ได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัด เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2553 และเป็นวัดธรรมยุตอย่างถูกต้องแห่งแรกของอำเภอแม่สะเรียง
ปัจจุบัน กำลังมีการก่อสร้างพระอุโบสถศิลปะแบบล้านนา สามารถขึ้นไปสักการะองค์พระประธานที่ด้านบนได้ และยังเป็นจุดชมวิวเมืองแม่สะเรียงที่สวยงาม ส่วนชั้นล่างของพระอุโบสถก็มีหลวงพ่อทันใจหินเขียว จากหินแม่น้ำโขง ประดิษฐานอยู่
เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองแม่สะเรียง ในตัวเมืองก็มีวัดสำคัญ 2 วัด คือ “วัดจองสูง” (วัดอุทธยารมย์) กับ “วัดศรีบุญเรือง” 2 วัดงามที่รั้วของวัดติดกัน สามารถเดินทะลุไป-มาหาสู่กันได้
“วัดจองสูง” หรือ “วัดอุทธยารมย์” แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่ชาวไทยใหญ่ช่วยกันสร้าง ต่อมาได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในแม่สะเรียง และได้ไหม้สำนักสงฆ์แห่งนี้ด้วย จึงได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า วัดจองสูง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า วัดอุทธยารมย์ และยังได้รับพระราชทานที่ดินในการก่อสร้างจาก รัชกาลที่ ๖ เมื่อราว ร.ศ.135 (พ.ศ.2459)
ภายในวัดมีจองหลวง (อาคารที่พระสงฆ์ใช้สวดมนต์ จำวัด ฉันภัตตาหาร) ที่ด้านในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ก่อสร้างโดยนายช่างชาวพม่า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปทองแดง พระพุทธรูปหยกขาว เป็นต้น และยังโดดเด่นไปด้วยพระธาตุเจดีย์เก่าแก่อันสวยงามคลาสสิก
ส่วนที่อยู่ติดกันคือ “วัดศรีบุญเรือง” เป็นวัดที่งดงามไปด้วยลวดลายฉลุไม้ในหลายๆ จุดของวัด สิ่งก่อสร้างในวัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าผสมไทยใหญ่ โดยเฉพาะศาลาการเปรียญหลังใหญ่มีหลังคาซ้อนกัน ลักษณะเป็นทรงปราสาทสูง สถาปัตยกรรมแบบพม่า 3 หลังติดกัน
ขณะที่ภายในโบสถ์นั้นก็ดูงดงามไปด้วยพระพุทธรูปศิลปะไทใหญ่และพม่าอันขรึมขลังมลังเมลืองเปี่ยมศรัทธา พระประธานองค์ใหญ่ศิลปะแบบพม่า ส่วนพระพุทธรูปองค์ด้านหน้ามีนามว่า พระนวราชบพิตรประสิทธิ์ชัย (หลวงพ่อทันใจ)
นอกจากวัดสวยในเมืองที่ได้มาสักการะกันแล้ว เมืองแม่สะเรียงยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่ง “พระธาตุ 4 จอม” เนื่องจากมีการสร้างพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองไว้ ทั้ง 4 ทิศ 4 มุมเมือง ได้แก่ “พระธาตุจอมกิตติ”, “พระธาตุจอมทอง”, “พระธาตุจอมแจ้ง” และ “พระธาตุจอมมอญ” ตามตำนานที่ว่า มีพระฤาษี 4 ตน เป็นพี่น้องกันได้มาศึกษากับครูพระฤาษีที่เก่งกาจทรงมหาอิทธิฤทธิ์ เหนือเมืองยวม (ปัจจุบันคือเมืองแม่สะเรียง) พระฤาษี 4 ตนพี่น้องศึกษาวิทยาจากท่านพระฤาษีจนจบวิชาที่ร่ำเรียน ท่านครูพระฤาษีจึงบอกให้พระฤาษีลูกศิษย์ทั้ง 4 พี่น้อง ไปบำเพ็ญเพียรและไปโปรดชาวเมืองยวม โดยให้ไปอยู่ ณ ดอยสี่มุมเมือง
ในทริปนี้เราได้ไปเยือนกัน 2 แห่ง เริ่มจาก “พระธาตุจอมกิตติ” ที่เล่ากันว่า ฤาษีผู้พี่ซึ่งเก่งในทางรักษาโรค สามารถปรุงยาชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนชีพได้ ได้มาตั้งสำนักอยู่ ณ ดอยจอมกิตติ ด้วยเหตุนี้พระธาตุจอมกิตติจึงเป็นพระธาตุพี่ใหญ่และเป็นที่เคารพสักการะมาจนปัจจุบัน ลักษณะพระธาตุเป็นสถูปแบบล้านนา ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณด้านบนนั้นสามารถชมวิวเมืองแม่สะเรียงในมุมสูงได้อย่างกว้างไกล
อีกจุดคือ “พระธาตุจอมมอญ” พระธาตุเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สามารถเดินขึ้นบันได 339 ขั้น ขึ้นไปสักการะพระธาตุที่อยู่ด้านบน หรือถ้าเดินไม่ไหว ก็มีถนนให้รถขับขึ้นไปด้านบนได้ ซึ่งด้านบนพระธาตุนั้นยังมี รอยเท้าอรหันต์ 7 ขวบ และ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต รวมถึงสามารถชมวิวรอบๆ เมืองแม่สะเรียงได้ด้วยเช่นกัน
ใครที่ยังมีเวลาเที่ยวแม่สะเรียงอีกสักครึ่งวัน แนะนำให้ลองไป “ล่องเรือแม่น้ำสาละวิน” ชมทิวทิศน์สองฝั่งประเทศ ทั้งฝั่งไทยและเมียนมา โดยสามารถไปขึ้นเรือได้ที่บริเวณจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าชายแดนไทย-พม่า บ้านแม่สามแลบ
โดยการล่องเรือจะล่องไปตาม “แม่น้ำสาละวิน” เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รองมาจากแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะเหนือเทือกเขาหิมาลัย ไหลลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็เป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างเมียนมากับไทย ก่อนจะไหลลงมาบรรจบที่แม่น้ำเมย ก่อนจะวกกลับเข้าเมียนมา และไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ
ทั้งสองฝั่งแม่น้ำจะพบว่าเป็นป่าไม้และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ บางจุดอาจจะมีหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ ระหว่างทางอาจจะเห็นชาวบ้านจากประเทศเพื่อนบ้านนั่งเรือมาซื้อข้าวของ หรือนำสินค้ามาขายที่ฝั่งไทย
เรือจะล่องไปจนถึง “บ้านท่าตาฝั่ง” แวะให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปชมชุมชนบ้านท่าตาฝั่งที่ด้านบน ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้มีทั้งคริสตจักรท่าตาฝั่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน มีโรงเรียนเล็กๆ กลางหมู่บ้านที่เงียบสงบ โอบล้อมด้วยภูเขา ถ้าใครเดินทางมาที่นี่ในวันอาทิตย์ก็จะยิ่งเงียบสงบทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่คริสตจักร (ติดต่อเรือท่องเที่ยวท่าบ้านสามแลบ-บ้านตาฝั่ง คุณนาตาลี โทร. 06-3358-5887 เรือนั่งได้ 12-14 คน ราคาเหมาลำละ 2,000 บาท)
เที่ยว “แม่สะเรียง” ในช่วงหน้าฝน นอกจากความสงบเรียบง่าย ความไม่เร่งร้อนของวิถีชีวิตที่นี่ ยังได้สัมผัสความสดชื่นของบรรยากาศและธรรมชาติที่เขียวขจี เป็นการพักผ่อนทั้งกายและใจที่เต็มอิ่มจริงๆ
* * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวใน จ.แม่ฮ่องสอน ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982 Facebook : TAT Maehongson
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline