อุดรธานี เรียกได้ว่าเป็นอีกจังหวัดที่เหล่าบรรดาสายมูต่างเดินทางมาเยี่ยมเยียน นอกจากวัดวาอาราม พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และถิ่นแห่งพญานาคแล้ว อุดรธานียังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนนิยมไปขอพรกันมากมาย วันนี้จึงขอแนะนำ “วัดสระมณี” อีกหนึ่งสถานที่ เมื่อมาเยือนดินแดนแห่งความศรัทธาแล้วจะต้องไม่พลาด
ความเป็นมาของ “วัดสระมณี” มาจากการสร้างหมู่บ้านพักตบ เมื่อ พ.ศ. 2413 โดยชาวบ้านเมืองหนองหารที่มีอาชีพทำนา ชักชวนกันออกมาตั้งหมู่บ้านนา และบริเวณโดยรอบมีหนองน้ำอยู่และในน้ำก็มีผักตบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงให้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหนองผักตบ” ต่อมาหมู่บ้านผักตบเจริญเติบโตมาพอสมควร แล้วชาวบ้านจึงพร้อมกันขออนุญาตสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจและปฏิบัติธรรม และมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่าบริเวณสระน้ำที่ตั้งวัด จะมีลูกแก้วมณีโชติลอยขึ้นมาจากริมขอบหนองน้ำ มีสีสันสดใสสวยงามมาก จึงให้นามวัดว่า “วัดสระแก้วมณีโชติ” หรือ “สระมณีโชติ” โดยมี พระอธิการบาน พุทธจิตโต เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2488 จึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดสระมณี” และวัดนี้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่จากนั้นเป็นต้นมา
ส่วนอีกนัยหนึ่งจากข้อความในหนังสือประวัติวัด ได้เขียนไว้ว่าวัดสระมณีบ้านผักตบได้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2338 ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ถ้าหากนำมาเทียบดูก็เป็นระยะที่ใกล้เคียงกัน อาจสันนิษฐานได้ว่า วัดสระมณีอาจจะมีอยู่ก่อนก็ได้ แต่อาจเป็นวัดร้าง หรือเพิ่งจะเริ่มสร้างใหม่ในช่วงหลังจากการตั้งหมู่บ้านผักตบ ก็สามารถเป็นได้ทั้ง 2 นัย ดังที่กล่าว
ปัจจุบันได้บูรณะสร้างพระอุโบสถหลังเดิม โดยยึดขนาดและความกว้างเดิม แต่เพิ่มรูปแบบให้มั่นคงและมาตรฐาน เพื่อให้ทันและปรับตามยุคสมัย พร้อมทั้งกำแพงแก้วรอบอุโบสถ ภายในประดิษฐาน “พระพุทธพิบูลธนาภิรมย์” องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่อง ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว สูง 2.90 เมตร กว้าง 2.4 เมตร ลึก 1.4 เมตร
สำหรับไฮไลต์ของวัดแห่งนี้คือ รอบโบสถ์ได้สร้างพญานาค 4 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลสีทอง พญาวิรูปักษ์นาคราช, ตระกูลสีดำ พญากัณหาโคตรมะนาคราช, ตระกูลสีรุ้ง พญาฉัพพยาปุตตะนาคราช และตระกูลสีเขียว พญาเอราปถนาคราช ล้อมรอบกำแพงโบสถ์ได้อย่างงดงาม ผสมผสานรูปปั้นเทวดา องค์พิฆเนศ ต่างๆ
นอกจากนี้ภายในวัดยังมี “หอปู่โคตร” เป็นหอที่เก่าแก่มาตั้งแต่โบราณ จนไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ว่าสร้าง พ.ศ. เท่าไรกันแน่ แต่คาดว่าการสร้างหอปู่โคตรจะประมาณเดียวกันกับการก่อตั้งวัด เพราะจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และ พระบานพุทธจิตฺโต เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดสระมณี กล่าวว่า ได้พบเห็นหอปู่โคตรมาพร้อมกับการสร้างวัดสระมณีแห่งนี้ และชาวบ้านผักตบได้เล่าต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคนว่า เกิดมาก็เห็นหอปู่โคตรคู่วัดสระมณีมาอย่างนี้มาแต่นานแล้ว
แต่หากสันนิษฐานตามความเชื่อของทางศาสนา หอปู่โคตรน่าจะเกิดจากการสร้างที่พึ่งทางจิตใจเพราะว่าชาวพุทธมักจะสรรหาที่พึ่งทางจิตใจ นอกจากพระพุทธรูปที่ป็นองค์พระประธานเปรียบเสมือนตัวแทนพระพุทธองค์ไว้กราบไหว้แล้ว ก็จะตั้งศาลปู่บ้าน ศาลหลักเมือง เหล่านี้เป็นต้น เนื่องจากชาวบ้านผักตบส่วนใหญ่จะชอบเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด และต่างประเทศแต่ก่อนนี้แทบจะทุกหลังคาเรือนเลยก็ว่าได้ จากสาเหตุนี้ชาวบ้านผักตบจึงสรรหาที่พึ่งทางจิตใจคือสิ่งที่คอยบรรเทาความห่วงใย ในการเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด และต่างประเทศของลูกหลานว่าจะมีเพศภัย มีอันตราย และการเดินทางไปสอบเป็นข้าราชการ เช่นการเดินทางไปเป็นข้าราชการ จึงเป็นความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านผักตบที่มีต่อหอปู่โคตร และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline