ชวนเที่ยวแบบฉ่ำฝนที่ “แม่ลาน้อย” จ.แม่ฮ่องสอน เมืองเล็กๆ แต่น่ารัก ยลความเขียวขจีของดอยสูงในหน้าฝน แวะเที่ยว 3 ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ ก่อนจะลัดเลาะในตัวเมืองเล็กๆ ที่มีเสน่ห์ตรึงใจ
ความเย็นฉ่ำของสายฝน อาจจะทำให้ใครหลายคนอยากหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่กับบางคนกลับอยากออกไปสัมผัสความชุ่มฉ่ำของธรรมชาติบนดอยสูง นี่จึงเป็นที่มาของการออกเดินทางสู่ “แม่ลาน้อย” อำเภอเล็กๆ ในแม่ฮ่องสอน
เริ่มต้นการเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ใช้เส้นทาง ถนนสาย 108 ผ่าน อ.ฮอด (เชียงใหม่) สู่ อ.แม่สะเรียง (แม่ฮ่องสอน) ก่อนจะมาถึงแม่ลาน้อย ใช้เวลาราวๆ 3.30 – 4 ชั่วโมง
แวะชมวิวสวยที่ “ดอยขุมคำ”
จากตัวเมืองแม่ลาน้อย เราขับรถขึ้นเขากันต่อ ชมวิวเขียวขจีรอบๆ ตัวที่มองเห็นแล้วสุดสดชื่น ระหว่างทางก็มีจุดให้แวะพักถ่ายรูปกันที่ “ดอยขุมคำ” เป็นจุดชมวิวบริเวณริมถนนทางหลวง 1266 กิโลเมตรที่ 9-10 อ.แม่ลาน้อย เส้นทางขึ้นไปทางหมู่บ้านละอูบ
ที่นี่สามารถชมได้ทั้งทะเลหมอกในยามเช้า และชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น โดยสำหรับช่วงฤดูฝนแบบนี้ วันที่อากาศและท้องฟ้าเป็นใจ ก็จะได้เห็นทะเลหมอกยามเช้า ตั้งแต่ราวๆ 07.00. น. เป็นต้นไป ตัดกับความเขียวขจีของภูเขาสลับซับซ้อน และพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน
นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นมาชมวิวได้เลย โดยจอดรถได้ริมถนน บริเวณจุดชมวิวไม่มีห้องน้ำหรือร้านค้าอื่นๆ ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนขึ้นมาด้านบน
“บ้านละอูบ” ชุมชนละเวือะบนดอยสูง
จากจุดชมวิวก็ขึ้นเขามาสู่ “บ้านละอูบ” ที่นี่เป็นชุมชนชาติพันธุ์ละเวือะ (ละว้า/ลัวะ) ทำเลที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงชัน พื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขา ทำให้มีอุณหภูมิเย็นสบายตลอดทั้งปี
หมู่บ้านนี้ตั้งรกรากกันมากว่า 100 ปีแล้ว ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนทิวเขาสลับซับซ้อนอันเป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่ละอูบ อาชีพหลักก็คือการทำไร่ ทอผ้าพื้นเมือง และทำเครื่องเงิน นอกจากนี้ ยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่เปิดชุมชนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชุมชน มีโฮมสเตย์เล็กๆ แต่ได้มาตรฐานคอยรองรับ
ที่นี่มีจุดชมวิวทิวเขาเขียวขจี ชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขา หากว่ามาในช่วงเช้า (และโชคดี) ก็จะเห็นสายหมอกสวยๆ ชวนให้ถ่ายรูปเช็คอิน และบนจุดชมวิวนี้ก็ยังมี “พระพุทธนิโรคันตรายนริศรจตุรทิศประชานารถ” เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งองค์ใหญ่ ให้ขึ้นมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
และหากลงมาเดินเล่นในหมู่บ้าน อย่าลืมแวะไปที่ “บ้านละว้าโมซัมเบรียง” บ้านแบบดั้งเดิมของชาวละเวือะที่ยังถูกอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น บ้านแบบดั้งเดิมนั้นชั้นบนจะมีชานกว้าง มีห้องใหญ่อยู่เพียงห้องเดียว ที่ตรงกลางห้องจะเป็นเตาไฟ ทั้งใช้ทำอาหารและยังให้ความอบอุ่นกับคนในบ้านได้ด้วย
อย่างที่บอกว่าชุมชนแห่งนี้มีฝีมือทั้งด้านเครื่องเงินและการทอผ้า อย่างการทำเครื่องเงินก็มีทั้งลวดลายเฉพาะตัว ทำเครื่องประดับของชาวละเวือะ รวมไปถึงการทำมีดสำหรับผู้ชายชาวละเวือะ นอกจากนี้ยังมีการทำเครื่องเงินตามสมัยนิยมอีกหลายแบบ
ขั้นตอนการทำเครื่องเงินเริ่มจากนำเม็ดเงินแท้ (มีการผสมทองแดงตามสัดส่วนต่างๆ แล้วแต่ว่าจะใช้ทำเครื่องประดับหรือของใช้ประเภทไหน) มาหลอมให้เป็นแท่ง จากนั้นนำมายืดให้เป็นเส้นยาวๆ หรือตีเป็นแผ่น แล้วแต่ว่าจะนำไปขึ้นรูปเป็นอะไรต่อไป ปัจจุบันชาวละเวือะก็ยังใช้เครื่องประดับเงินกันอยู่เป็นปกติ และยังมีเครื่องเงินที่ต้องใช้ในพิธีการต่างๆ โดยเฉพาะ หากใครที่สนใจอยากชมเครื่องเงินชาวละเวือะ ก็มีจุดจำหน่ายอยู่ในหมู่บ้าน ในตัวเมืองแม่ลาน้อย รวมถึงการไปออกบูธตามงานต่างๆ ด้วย
ส่วนด้านผ้าทอ ที่นี่ก็มีการทอผ้าจากฝ้าย ย้อมสี และทอเป็นลวดลายเฉพาะ ในวัฒนธรรมชาวละเวือะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายจะมีความผูกพันกับผ้า จึงไม่แปลกที่หากว่าเดินอยู่ในหมู่บ้านแล้วจะเห็นชาวบ้านสวมใส่ผ้าทอพื้นถิ่นที่มีความโดดเด่นทั้งเรื่องสีสันและลวดลาย ใครที่สนใจผ้าทอของชาวละเวือะ ก็มีให้ชอปกันในหมู่บ้านได้เลย
นักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากสัมผัสบรรยากาศของบ้านละอูบแบบให้ถึงท้องถิ่น ที่นี่ก็มีโฮมสเตย์ให้บริการหลายหลัง ความพิเศษคือ แต่ละหลังนั้นจะมีที่ชมวิวในบ้านของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบนดาดฟ้า หรือที่ชานบ้าน มานั่งรับลมเย็นสบายกันได้แบบเต็มอิ่ม
(สอบถามการท่องเที่ยวบ้านละอูบ โทร. 08-8764-1488 (พ่อหลวงณัฐพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านละอูบ) และ Facebook : บ้านละอูบ)
“บ้านดง” นาขั้นบันไดสวยฉ่ำ
ไม่ไกลจากบ้านละอูบ ก็เป็นที่ตั้งของ “บ้านดง” อีกหนึ่งชุมชนชาวละเวือะบนดอยสูง และยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการหลวงแม่ลาน้อย” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพต่างๆ พัฒนางานด้านการเกษตรแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ไฮไลต์ของที่นี่ก็คือ “นาขั้นบันได” มีการทำจุดชมวิวนาขั้นบันไดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปสวยๆ อันที่จริงต้องบอกว่า อ.แม่ลาน้อย นั้นได้รับฉายาว่าเป็น “เมืองร้อยนา” เพราะมีการปลูกข้าวกันเป็นจำนวนมาก ทั้งการทำนาบนพื้นที่ราบและการทำนาขั้นบันไดที่ปลูกไล่ระดับกันไปตามภูมิประเทศ
ซึ่งเดิมนั้นชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวกันตามมีตามเกิด เมื่อฝนตกน้ำก็ไหลชะหน้าดินไป อีกทั้งน้ำยังไหลผ่านไปไม่เหลือน้ำไว้สำหรับทำนา ทางโครงการหลวงจึงเข้ามาส่งเสริมการทำนาแบบขั้นบันได เพื่อจะได้มีน้ำกักเก็บไว้ปลูกข้าว พร้อมทั้งมาส่งเสริมการการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดผิวดินและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
ในช่วงฤดูทำนา ที่หมู่บ้านดงจะงดงามไปด้วยท้องทุ่งนาขั้นบันไดอันโดดเด่นสวยงามท่ามกลางขุนเขาโอบล้อม ถ้าใครไปชมทุ่งนาขั้นบันไดกันในช่วงฤดูฝนแบบนี้ก็จะได้เห็นสีเขียวสดใสสบายตา แต่หากใครมาในช่วงกลาง-ปลายเดือนตุลาคม ไปจนถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ก็จะได้บรรยากาศของนาข้าวขั้นบันไดสีเหลืองทอง งดงามโรแมนติกไปอีกแบบหนึ่ง
และพืชอีกหนึ่งชนิดที่ชาวบ้านดงได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงก็คือ “อโวคาโด” ซึ่งที่นี่จะปลูกกันทั้งสายพันธุ์ยอดฮิตอย่าง พันธุ์แฮส และยังมีพันธุ์พื้นเมือง โดยผลผลิตจะมีทั้งการส่งไปขายที่โครงการหลวง บางส่วนก็มีการขายส่งโดยตรงจากสวน
“บ้านห้วยห้อม” หมู่บ้านในอ้อมกอดของหุบเขา
บ้านห้วยห้อม เป็นชุมชนเก่าแก่ก่อตั้งมาประมาณ 200 ปี ตั้งอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติและขุนเขา มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอที่ดำรงวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายผูกพันกับธรรมชาติ
ชาวบ้านห้วยห้อมมีอาชีพหลักคือการทำนาปลูกข้าว รองลงมาคือการปลูกพืชสวน เลี้ยงสัตว์ และอีก 2 อาชีพเด่น คือการปลูกกาแฟ และการเลี้ยงแกะเพื่อนำมาทำเป็นผ้าทอขนแกะจำหน่าย
สำหรับการปลูกกาแฟของที่นี่ จะเป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ป่า เนื่องจากกาแฟเป็นพืชที่ชอบแสงแดดเพียงรำไร ต้องอาศัยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ การปลูกกาแฟในป่าจึงเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ไปด้วยในตัว และกาแฟของที่นี่ยังมีคุณภาพดี ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร จนผลผลิตกาแฟของบ้านห้วยห้อมถูกส่งไปขายให้กับมูลนิธิโครงการหลวง และร้านกาแฟชื่อดัง
ใครอยากลองชิมกาแฟของบ้านห้วยห้อม แนะนำให้มาที่ “แม่ยายโฮมสเตย์” ที่นี่เป็นทั้งที่พักแบบโฮมสเตย์ในบ้านห้วยห้อม และยังเป็นร้านกาแฟวิวสวยสุดๆ อีกแห่งหนึ่ง เมล็ดกาแฟของที่นี่คัดสรรมาอย่างดี นั่งเล่นชิลๆ จิบกาแฟหอมกรุ่น กับวิวบ้านห้วยห้อมท่ามกลางขุนเขา (แม่ยายโฮมสเตย์ โทร. 09-5572-6722 Facebook : แม่ยายโฮมสเตย์ : Specialty Coffee&Home stay)
ส่วนผ้าทอขนแกะของบ้านห้วยห้อม เป็นงานฝีมือที่ประยุกต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่มีการเลี้ยงแกะ ตัดขนแกะ แล้วนำขนแกะและเส้นฝ้ายมาผ่านการย้อมสีธรรมชาติ ก่อนนำมาทอมือแบบโบราณสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อันงดงามประณีต ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ย่าม ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมเตียง เป็นต้น
“แม่ลาน้อย” เมืองเล็กสุดน่ารัก
กลับเข้ามาในตัวเมือง “แม่ลาน้อย” เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบของแม่ฮ่องสอน
ใครอยากมานอนพักผ่อนกับธรรมชาติสุดฟินของแม่ลาน้อย แนะนำที่ “เฮินไต รีสอร์ท” (เฮินไต แปลว่า บ้านไทยใหญ่) เป็นที่พักสไตล์บ้านไทยใหญ่ประยุกต์ที่มีบรรยากาศดีมากๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของท้องทุ่งนาที่จะเปลี่ยนสีเขียว-เหลืองไปตามฤดูกาล บ้านพักก็จะมีหลายแบบ มีทางเดินเป็นสะพานไม้ทอดยาวออกไปกลางทุ่งนา ที่ด้านหลังเป็นวิวภูเขาเขียวขจี (เฮินไต รีสอร์ท โทร. 08-6915-3555 Facebook : เฮินไต รีสอร์ท)
นอนพักผ่อนเต็มอิ่มแล้ว เช้าตรู่ของอีกวันแนะนำให้จูงจักรยานออกมาปั่นเล่นใกล้ๆ กับรีสอร์ท (ที่รีสอร์ทมีบริการให้ยืมจักรยาน) ออกมาจากรีสอร์ตแล้วเลี้ยวซ้าย ตรงไปข้ามสะพาน จากนั้นจะเข้าสู่ย่านชุมชนในแม่ลาน้อย ถนนเส้นเล็กๆ ที่ตัดผ่านซอกซอยต่างๆ ทำให้เห็นวิถีชีวิตเรียบง่าย
ช่วงฤดูฝนแบบนี้สองข้างทางก็เต็มไปด้วยความเขียวขจีของนาข้าวที่เพิ่งปลูกกันใหม่ๆ ยิ่งยามเช้าชุ่มฉ่ำแบบนี้ ปั่นจักรยานออกไปสูดอากาศให้ชุ่มปอด หอมกลิ่นดินกลิ่นฝนในแบบที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่
ใครยังมีแรงเหลือก็สามารถปั่นต่อไปอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตร (แต่ถ้าไม่ไหวก็กลับไปเก็บจักรยานก่อนแล้วค่อยขับรถมา) จะมาเจอกับ “สะพานแขวน” ที่ทอดข้ามแม่น้ำยวม ไปยัง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา” แวะถ่ายรูปสวยๆ กันบนสะพานได้ ซึ่งสะพานนี้สามารถข้ามได้เฉพาะคนข้าม จักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์เท่านั้น
ได้สูดอากาศสดชื่นของหน้าฝนแบบเต็มปอดที่ “แม่ลาน้อย” เก็บเกี่ยวความสุขระหว่างทาง แล้วค่อยเก็บกระเป๋าออกมาเที่ยวกันใหม่ในทริปต่อไป
* * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวใน จ.แม่ฮ่องสอน ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982 Facebook : TAT Maehongson
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline