อาคารปูนสีขาวงดงามโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล อายุกว่า 120 ปี ถูกบูรณะปรับปรุงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง Deva Manor หรือ “พระตำหนักใหญ่” แห่งวังปากคลองผดุงกรุงเกษม โอบล้อมด้วยต้นไม้อันร่มรื่นใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
“พระตำหนักใหญ่” แห่งวังปากคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งอยู่ตรงปากคลองผดุงกรุงเกษม สายน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตบริเวณพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเป็นพระตำหนักที่ประทับ ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ การสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2439 โดยที่พระองค์ได้ทรงประทับ ณ พระตำหนักใหญ่แห่งนี้ตลอดพระชนม์ชีพ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปีพ.ศ. 2475 ทายาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ได้แบ่งขายที่ดินวังปากคลองผดุงกรุงเกษม ทำให้พื้นที่ในวังปากคลองผดุงกรุงเกษมแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ บริเวณตำหนักหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ปัจจุบันเป็นที่พำนักของทายาทราชสกุลกิติยากร ต่อมาภายหลังเป็นวังเทเวศน์, บริเวณตำหนักหม่อมเจ้า ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ซึ่งต่อมาได้ขายที่ดินและตำหนักให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปีพ.ศ. 2508
และบริเวณพระตำหนักใหญ่ ที่ประทับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นตึก 2 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยมตกแต่งหน้าต่างชั้นบนเป็นซุ้มโค้งกลมประดับกระจกเป็นรัศมีอาทิตย์ครึ่งดวงผนังประกอบด้วยเสาอิงแบบดอริก และไอโอนิก บริเวณสนามด้านหน้าตั้งตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีกกระถางปูนปั้นประดับลายปูนปั้น
พระตำหนักใหญ่นี้ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ซึ่งได้ซื้อไว้เป็นที่พักอาศัยส่วนตัวหลังจากได้ขายบ้านนารายณ์บรรทมสินให้แก่รัฐบาลไทยเพื่อใช้เป็นที่พำนักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันพระตำหนักใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของทายาทตระกูลอนิรุทธเทวา หลังจากการเสียชีวิตของพระยาอนิรุทธเทวาในปีพ.ศ. 2494 พระตําหนักใหญ่ได้ปิดตัวลงและอยู่ในความดูแลของ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา จนกระทั่งในปีพ.ศ 2550 พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ได้ย้ายที่พักจากตำหนักน้ำมายังพระตำหนักใหญ่และทำการบูรณะซ่อมแซมทีละเล็กละน้อยเรื่อยมา โดยพยายามค้นคว้าศึกษาข้อมูลในอดีตเพื่อคงสภาพพระตำหนักใหญ่ให้งดงามมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ผู้ทรงเป็นเจ้าของพระตำหนักใหญ่อย่างแท้จริง
พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา หรือคุณแซม ทายาทและผู้ดูแล “Deva Manor” หรือ “พระตำหนักใหญ่” วังปากคลองผดุงกรุงเกษม ได้เล่าให้ฟังว่า “หลังจากพระตำหนักใหญ่ วังปากคลองผดุงกรุงเกษม ถูกปิดมานานถึง 56 ปี จนมาถึงทายาทท่านเจ้าคุณอนิรุทธเทวา รุ่นที่ 3 ก็คือผม ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการบูรณะปรับปรุงโดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 12 ปี จนกระทั่งพระตำหนักกลับมามีชีวิตชีวาดังเดิมอีกครั้ง และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายในการเปิดให้เข้าชมเพื่อถวายพระเกียรติเสด็จในกรม หรือในอดีตที่เราเรียกกันว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลกิติยากร ภายหลังรัชกาลที่ ๖ ได้สถาปนามีพระนามว่า กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งทรงเป็นต้นราชสกุลและทรงเป็นพระอัยกา หรือปู่แท้ๆ ของอดีตหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งวันนี้คือพระพันปีหลวงของพวกเราปวงชนชาวไทย”
“สำหรับสถาปัตยกรรมของที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานในลักษณะโคโลเนียล โดยมี Carlo Allegri ผู้ออกแบบชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็น 1 ในทีมงานที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยผลงานหลักๆ ของ Carlo Allegri ก็คือสะพานมัฆวานรังสรรค์ ดังนั้นสถาปัตยกรรมโคโลเนียลแห่งนี้ จะผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและอิตาเลียน หรือความเป็นรากเหง้าของกรีกโรมันเดิม ถ้าหากเดินชมภายในจะเห็นว่ามีสถาปัตยกรรมผสมผสานกันอยู่มากมายอย่างกลมเกลียว”
ด้านหน้าอาคารพระตำหนักใหญ่ประดับด้วยหนังสือคำว่า “Deva Manor” โดยคำว่า “Deva” มาจากคำว่า อนิรุทธเทวา เป็นตระกูลของเจ้าของสถานที่แห่งนี้ในปัจจุบัน ส่วนคำว่า “Manor” เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีคำแปลว่า คฤหาสน์ของขุนนาง
ภายในพระตำหนักใหญ่แห่งนี้ มีทั้งหมด 12 ห้อง อาทิ ห้องรับแขกนอก สำหรับรับแขกที่มีระดับต่ำกว่า, ห้องรับแขกใน สำหรับรับแขกผู้ที่มีฐานันดรเท่ากันหรือสูงกว่า, ห้องทรงพระอักษร, ห้องทรงพระสำราญ, ห้องเสวย, ห้องบรรทม, ห้องบรรทมใหญ่, ห้องบรรทมใหม่ และห้องมุข เป็นต้น ซึ่งจะมีการตกแต่งที่แตกต่างกัน
ปัจจุบันบริเวณด้านล่างของอาคารได้รับการดัดแปลงให้เป็นพื้นที่ของร้านกาแฟและอาหาร สามารถเข้ามานั่งดื่มเครื่องดื่ม หรือรับประทานอาหารกันได้ พร้อมกับชื่นชมความงดงามของพระตำหนักใหญ่ และบรรยากาศชั้นล่าง ภายในตกแต่งผนังด้วยสีน้ำเงินและประตูสีขาว มีลายฉลุขนมปังขิงอยู่เหนือครึ่งวงกลมของบานประตู มีเสาเหลี่ยมที่เรียกเป็นทางการว่า สถาปัตยกรรมดอริก
ส่วนด้านบนเป็นเสารูปทรงกลม ปลายเป็นรูปก้นหอย ลักษณะสถาปัตยกรรมไอโอนิก ตัดกับลายฉลุขนมปังขิงเหนือบานประตูทุกบาน นอกจากนี้ยังมีกระจกสี ซึ่งกระจกสีเหล่านี้ Carlo Allegri นำมาจากมิลาน ซึ่งเป็นกระจกสีชนิดเดียวกับที่วิหาร Duomo di Milano ประเทศอิตาลี
เมื่อเดินขึ้นมาด้านบนจะพบกับโถงส่วนกลาง ความพิเศษของโถงนี้อยู่ที่แผงการจกสี ซึ่งเป็นของดั้งเดิมของบ้าน รวมถึงโต๊ะกระจกบานใหญ่ ซึ่งเป็นของเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งมีสัญลักษณ์ของท่านปรากฏอยู่ขนาบด้านข้างทั้ง 2 ด้าน
ใกล้กันมีห้องที่ตกแต่งด้วยสีชมพู ซึ่งได้บูรณะเพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกแด่ ท่านเจ้าคุณอนิรุทรเทวา เนื่องจากท่านเกิดวันอังคาร เราจึงจะเห็นเครื่องเรือน ของใช้ที่นี่เป็นสีชมพูเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเครื่องใช้ที่มีรูปประจำตระกูลอนิรุทธเทวาสลักหรือพิม์ติดอยู่ คือภาพเทวดา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย
และอีกด้านหนึ่งของผนังห้องประดับด้วยรูปของพระนมทัด มารดาของพระยาอนิรุทธเทวา และเป็นพระนมของรัชกาลที่ ๖ ด้วย จึงกล่าวได้ว่า ตระกูลอนิรุทธเทวา ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ ๖ เป็นอย่างมาก
ถัดไปเป็นห้องบรรทม เป็นห้องสำหรับแขกที่สามารถมองเห็นวิวของสะพานพระราม 8 และสามารถมองเห็นส่วนหนึ่งของพระตำหนักหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ปัจจุบันเป็นที่ประทับของราชสกุลกิติยากร ส่วนห้องทรงพระสำราญ ซึ่งเสด็จในกรมใช้เลี้ยงรับรองแขกในโอกาสต่างๆ ปัจจุบันเป็นห้องสำหรับจัดเลี้ยง
สำหรับ Deva Manor เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. สามารถมาลิ้มรสอาหารและเครื่องดื่มกันได้ รวมถึงมีบริการรับจัดเลี้ยงเป็นหมู่คณะในโอกาสพิเศษ หากใครที่สนใจเข้าเยี่ยมสามารถติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Deva Manor
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline