xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา การนอนของช้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบ: สำนักข่าวซินหัว
วันที่ 12 สิงหาคม นอกจากเป็นวันแม่ของไทยแล้ว ยังเป็น “วันช้างโลก” หมอล็อต จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงมาเล่าเรื่องน่าสนใจเป็นความรู้เกี่ยวกับปริศนาการนอนของช้าง

เนื่องในวันช้างโลก 12 สิงหาคม นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับช้างที่น่าสนใจ นั่นคือ เรื่องการนอนของช้าง

โดยโพสต์ในเฟซบุ๊กทางการ ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน ไว้ดังนี้

ภาพปริศนาที่ชื่อว่า ลำบากเพื่อน…การนอนนั้น สำคัญฉะนี้” ลองทายดูครับ ตัวไหนทำเพื่อนลำบาก

วันช้างโลก 12 สิงหาคม เลยนึกถึงช้างเอเชียในต่างประเทศบ้าง ก่อนหน้านี้เป็นภาพที่คุ้นตากันบ่อย ช้างป่าที่เมืองจีน แถวสิบสองปันนา ถ้าสังเกตดีดี มีเหตุผลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนอนของช้างป่า

สิ่งหนึ่งที่ต้องท่องจำไว้เลยคือ ช้างสามารถยืนนอนและล้มตัวลงนอนได้ โดยการยืนนอน จะเป็นการนอนพักช่วงสั้นๆ ระหว่างมื้อ หรือระหว่างวัน หากมีภัยเข้ามา ก็ลืมตาตื่นได้เลย มักยืนพิงต้นไม้ขนาดใหญ่ และจะล้มตัวลงนอนตะแคง ในกรณีที่ต้องพักผ่อนประจำวัน เพราะฉะนั้น ในหนึ่งวัน ช้างป่าที่มีขนาดใหญ่ จะใช้พลังงานมากในแต่ละวัน กินหลายมื้อ ถ่ายหลายครั้ง การนอนพักผ่อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ภาพประกอบ: สำนักข่าวซินหัว
ช้างป่า หากินกลางคืน ช้างบ้านหากินกลางวัน ไม่ต้องงงครับ ถึงแม้ว่าเป็นชนิดพันธุ์เดียวกัน แต่ความแตกต่างของพฤติกรรมก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยง การดูแลของช้างบ้าน คือ คนตื่นช้างก็ตื่น นาฬิกาชีวิตก็จะต่างกัน

ดังนั้น หากช้างป่า ล้มตัวลงนอนนานๆตอนกลางคืน ให้สันนิษฐานว่าป่วย (สลับกันกับช้างบ้าน) เวลากินจะไม่นอน เวลานอนจะไม่กิน (ปลอดกรดไหลย้อน…และแอบเห็นช้างนอนตดบ่อยมาก)

ที่อยากจะเล่า คือ ภาพการนอนของฝูงช้างป่านี้ เป็นพฤติกรรมของสัตว์ป่าในการระวังภัย นอกจากจะมีช้างป่าตัวอื่นเฝ้ายามให้ ช้างในฝูงเวลานอนช้างป่าจะใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายแตะหรือสัมผัสกัน


หากตัวไหน รับรู้ถึงภัยอันตราย หรือสิ่งกระตุ้นใดใด เช่น แรงสั่นสะเทือน หรือ เสียงเข้ามา พอขยับตัวก็จะทำให้ช้างป่าตัวอื่นๆที่หลับรู้สึกตัวไปด้วย ตัวไหนขี้เซา ก็จะตื่นได้ง่าย แต่ถ้าตัวไหนนอนดิ้น ตดดัง หรือชอบนอนละเมอ…มันก็จะลำบากเพื่อน

หมายเหตุ: ภาพประกอบจากสำนักข่าวซินหัว เป็นการเดินทางของโขลงช้างในยูนนาน ประเทศจีน

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น