การบูชาพลังจากธรรมชาติถือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูมาแต่โบราณกาล ซึ่งที่ประเทศเนปาลก็มีหนึ่งในเทศกาลที่น่าสนใจ คือ เทศกาล “นาคาปัญจามี” (Naga Panchami) หรือเทศกาลบูชาเทพเจ้างู
แม้ว่า นาคาปัญจามี เป็นเทศกาลของชาวฮินดู ที่มักมีการเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศอินเดีย แต่ในประเทศเนปาล ผู้นับถือฮินดูก็ออกมาฉลองในเทศกาลนี้ไม่น้อย เช่น ละลิตปูร์ กาฐมาณฑุ และบัคตาปูร์ โดยกิจกรรมการเฉลิมฉลอง จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 5 ค่ำ แห่งเดือนศราวัน (Shravan) ซึ่งอยู่ในราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมตามปฏิทินฮินดู ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ที่มาของเทศกาลนี้มีเรื่องเล่าตามตำนานฮินดู เทพเจ้ากฤษณะในศาสนาฮินดูกำลังเล่นอยู่ริมแม่น้ำยมุนาตอนที่ยังเยาว์วัย ลูกบอลของพระองค์ไปติดอยู่ที่กิ่งต้นไม้ริมแม่น้ำ จึงพยายามที่จะดึงลูกบอล และตกลงไปในแม่น้ำ ก่อนจะถูกงูกาลิยา (Kaliya) โจมตี
เทพเจ้ากฤษณะต่อสู้อย่างเต็มที่ จนงูรู้ว่ากฤษณะไม่ใช่เด็กธรรมดาๆ จึงอ้อนวอนว่าอย่าฆ่าตนเลย พระกฤษณะจึงทรงไว้ชีวิตงูโดยต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายมนุษย์อีก ดังนั้น นาคาปัญจามี จึงได้รับการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะขององค์เทพเจ้ากฤษณะที่ช่วยชีวิตผู้คนจากการคุกคามของงูกาลิยาที่ถือว่ามีอันตรายที่สุด
นอกจากนี้ยังมีตำนานตำนานเรื่องชาวนาคนหนึ่งทำการไถนาในวันนาคาปัญจามี และได้สังหารลูกงูบางตัวโดยไม่ตั้งใจ แม่งูจึงตามมาแก้แค้นโดยการสังหารทุกคนในครอบครัวนั้น ยกเว้นลูกสาวของชาวนาที่ได้ทำการบูชานาค ส่งผลให้ชาวนาและคนอื่นๆ ในครอบครัวฟื้นคืนชีพขึ้นมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีการจัดเทศกาลนาคาปัญจามีทั่วอินเดีย เชื่อการว่าผลดีประการหนึ่งของการบูชางูก็คือ จะทำให้ตนและคนในครอบครัวไม่ถูกงูกัด
ทั้งนี้ตามความเชื่อของศาลนาฮินดูถือว่างูเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีโชคลาภ เป็นสังวาลย์ของพระศิวะ ด้วยความเชื่อดังกล่าว ชาวฮินดูจึงถือว่าหากได้บูชางูแล้ว งูจะไม่กัดตนและสมาชิกในครอบครัวตลอดระยะเวลา 1 ปี ขณะที่หญิงสาวคนใดนำเครื่องบูชามาขอพรก็จะสมหวัง คนที่ยังไม่มีสามีก็จะได้เจอเนื้อคู่ที่ดี ส่วนคนที่แต่งงานแล้วครอบครัวก็จะปลอดภัย
เครดิตภาพ: สำนักข่าวซินหัว
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline