ภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ ที่กำลังเป็นกระแสสุดปังอยู่ตอนนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้น คือ “ห้างหันแตร” ซึ่งนับเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม
“ห้างหันแตร” ฟังแล้วเป็นคำที่แปลกประหลาด แต่คำนี้เป็นการเรียกของชาวสยามสมัยนั้นที่เพี้ยนเสียงมาจาก “ฮันเตอร์” เพราะผู้เป็นเจ้าของกิจการห้าง คือ "นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์” (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “นายหันแตร” ซึ่งเข้ามาค้าขายกับสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
นายหันแตร หรือฮันเตอร์ รายนี้ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลา จำนวน 1,000 กระบอก ขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์
นายฮันเตอร์ได้เข้ามาเมืองไทยในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2367 ต่อมาได้ร่วมกับเพื่อนตั้งห้างค้าขายมีชื่อทางการ คือ “ห้างฮันเตอร์เฮส์แอนด์กัมปะนี” เป็นตึก 2 ชั้น จำนวน 3 หลัง เพื่อใช้เป็นโกดังเก็บสินค้า และเป็นห้างสรรพสินค้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้โบสถ์ซางตาครูส ย่านกุฎีจีน มีการเชิญธงอังกฤษขึ้นเสาไว้หน้าร้าน และเป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งชุมนุมของชาวต่างชาติในสยามยุคนั้น
พ่อค้าต่างชาติเรียกห้างของนายฮันเตอร์ว่า โรงสินค้าอังกฤษ (The British Factory) ส่วนชาวสยามก็ยังคงเรียกตามชื่อที่สำเนียงเพี้ยนไปเป็น “ห้างหันแตร” หรือตึกฝรั่ง โดยนับได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม และมีสินค้าแปลกใหม่ให้เลือกซื้อ
ทั้งนี้กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างสุนทรภู่ ยังเคยกล่าวไว้ใน “รำพันพิลาป” ว่า “เดิมของแขกแตกฝรั่งไปตั้งตึก แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา”
นายฮันเตอร์ค้าขายร่ำรวยเข้าขั้นเศรษฐี และเป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรชื่อ “เฟรนด์” ซึ่งเมื่อเขาได้เจอแฝดอิน-จัน จึงได้นำไปโชว์ตัวที่อเมริกา และทำให้แฝดสยามเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม นายฮันเตอร์ มีพฤติกรรมที่สร้างความวุ่นวาย ก่อเรื่องไม่หยุดหย่อน มีการเอาเปรียบข่มขู่ ลักลอบเอาฝิ่นมาขาย ไม่แสดงความเคารพต่อทางการไทย และข่มขู่ว่าจะนำกองทัพอังกฤษมาปิดปากน้ำ
รวมถึงปัญหากรณีการขายเรือกลไฟ Express (ที่มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ และปรากฏในภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒)
ท้ายที่สุด นายฮันเตอร์จึงถูกเนรเทศให้ออกนอกราชอาณาจักรและห้ามกลับเข้ามาอีกตลอดชีวิตไปในปี พ.ศ. 2387 ปิดตำนานผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของสยามไปแบบไม่สวยงามนัก
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline