xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย “บุพเพสันนิวาส 2” ชมเจดีย์องค์เดียวแห่งรัตนโกสินทร์ที่มีเสาอิฐแกนกลาง ที่ “วัดประยุรวงศาวาส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชมพระบรมธาตุมหาเจดีย์ แห่ง วัดประยุรวงศาวาส
ตามรอยหนังดัง “บุพเพสันนิวาส 2” ไปชม “พระบรมธาตุมหาเจดีย์” แห่ง “วัดประยุรวงศาวาส” ที่คุณพี่ภพร่วมสร้าง ซึ่งมีความพิเศษคือ เป็นเจดีย์องค์เดียวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเสาอิฐเป็นแกนกลาง และโครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 จากยูเนสโก ในการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556

ภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2
ใครที่เป็นแฟนละคร “บุพเพสันนิวาส” เชื่อว่าน่าจะรอการกลับมาอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์ กับเรื่องราวในภพใหม่ของคุณพี่หมื่นและแม่การะเกด

ซึ่งล่าสุด ภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” ก็ได้เข้าฉายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาในภาพยนตร์นั้นเกิดอยู่ในราวรัชกาลที่ ๓ เป็นเรื่องราวของ “ภพ” นายช่างแห่งสยามประเทศ ผู้เชื่อในเรื่องบุพเพสันนิวาส “เกสร” หญิงสาวหัวก้าวหน้าที่ภพเชื่อว่าเธอคือบุพเพสันนิวาสของเขา และยังมี “เมธัส” หนุ่มหน้าฝรั่งที่ชอบใช้คำพูดผิดยุค แต่กลับตรงกับข้อความในสมุดบันทึกโบราณของคุณหญิงการะเกดที่เพิ่งถูกค้นพบ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หลายๆ เรื่อง รวมถึงบุคคลที่มีจริงในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น สุนทรภู่ กวีเอกของโลก, หมอบรัดเลย์ บิดาแห่งการพิมพ์, บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ผู้นำกล้องถ่ายรูปเข้ามาในประเทศเป็นคนแรก และนายห้างหันแตร เจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย และยังเป็นผู้นำเรือกลไฟ “เอ็กสเปรส” มาเสนอขายแก่สยาม

วัดประยุรวงศาวาส
เรื่องราวในภาพยนตร์จะเป็นอย่างไร คงต้องให้คอหนังไปรับชมความสนุกกันต่อเอง

แต่สำหรับสถานที่หนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ และถูกพูดถึงหลายๆ ครั้ง ก็คือ “วัดประยุรวงศาวาส” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบริเวณเจดีย์ขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง เป็นจุดที่เมธัสปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในยุค ร.๓ และยังถูกพูดถึงว่าเป็นวัดอีกแห่งที่คุณพี่ภพ นายช่างแห่งสยามประเทศเป็นผู้ร่วมสร้างขึ้นมา

“วัดประยุรวงศาวาส” สร้างขึ้นเมื่อปี 2371 ผู้สร้างคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่าและสมุหพระกลาโหม ท่านได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้น และถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลาก่อสร้างวัดนาน 8 ปีด้วยกัน

พระบรมธาตุมหาเจดีย์
ในส่วนขององค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ก็สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เช่นกัน แต่สร้างภายหลังจากการสร้างวัด พระเจดีย์ไม่ทันแล้วเสร็จผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยไปก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงได้เป็นผู้สร้างต่อจนพระเจดีย์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔

“พระบรมธาตุมหาเจดีย์” เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร และมีพระเจดีย์องค์เล็ก 18 องค์เรียงรายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ปี 2450 โดยพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 10 ได้บูรณะพระเจดีย์องค์เล็ก ซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในพระเจดีย์องค์ใหญ่

ด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์
ภายหลังองค์เจดีย์ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2549 และทำให้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนพระเจดีย์เมื่อช่วงปลายปี 2550

ในช่วงนั้นข่าวกรุพระวัดประยูรฯ แตกเป็นข่าวโด่งดังอยู่ช่วงหนึ่ง ประชาชนผู้ศรัทธาต่างมุ่งหน้าไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุที่ทางวัดได้นำไปประดิษฐานไว้ในวิหารพุทธนาค และในปัจจุบันก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุบางส่วน พระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในกรุมาจัดแสดงไว้ในหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์

พรินทร์ปริยัติธรรมศาลา

พระพุทธรูปหินทรายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
“พรินทร์ปริยัติธรรมศาลา” แห่งนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ศาลาแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งสร้างต่อจากมุขพระบรมธาตุมหาเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร สร้างเป็นตึกชั้นเดียวในสไตล์ตะวันตก ศาลาแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนแห่งแรกของไทย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรอีกด้วย ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมของล้ำค่าที่พบในกรุบนองค์เจดีย์ และสิ่งของต่างๆ ที่มีผู้ถวายสมทบภายหลังด้วย

พระบรมธาตุมหาเจดีย์
และภายหลังจากการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ทางวัดยังได้บูรณะองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์อย่างยิ่งใหญ่ โดยคนทั่วไปอาจไม่รู้ว่า ภายในองค์เจดีย์นั้นมี "เสาแกนกลาง" หรือเสาครูขนาดใหญ่ มีขนาดกว้างด้านละ 2 ม. สูง 18 ม. หนักถึง 144 ตัน ก่อด้วยอิฐโบราณ สอด้วยปูนหมักน้ำอ้อยและกาวหนัง เสาแกนกลางดังกล่าวใช้เป็นศูนย์กลางรัศมีวงกลมของเจดีย์ และเป็นเสาหลักสำหรับวางพาดไม้นั่งร้านในขณะก่อสร้างองค์เจดีย์ และยังเป็นเสาค้ำบัลลังก์ปลียอดเจดีย์อีกด้วย ซึ่งเจดีย์ที่มีเสาอิฐเป็นแกนกลางเช่นนี้ นับเป็นหนึ่งเดียวของเจดีย์ในยุครัตนโกสินทร์เลยทีเดียว

เสาแกนกลางเจดีย์
แต่จากที่ได้มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2535 พบว่าเสาแกนกลางนี้ได้ล้มเอียงพิงผนังภายในองค์เจดีย์ ทำให้เจดีย์เอียงไปทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทางวัดจึงเริ่มซ่อมแซมเสาแกนกลางนี้เมื่อปี 2553 การซ่อมแซมไม่มีการรื้ออิฐออกแต่อย่างใด แต่ใช้ก่ออิฐเสริมฐานเสาแกนให้เต็มฐานและเข้าเฝือกที่แกนเสาก่อนบูรณะ แล้วจึงใช้แม่แรงดีดแกนเสาให้ตั้งตรง นับเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยอนุรักษ์โบราณสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน ได้เปิดให้ประชาชนเดินขึ้นไปด้านบนองค์เจดีย์ เพื่อสักการะและชมเสาแกนกลางนี้ได้

และโครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในครั้งนั้น ยังเคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 จากยูเนสโก ในการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 อีกด้วย

พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา

พระอุโบสถ
ภายในวัดประยุรวงศาสวาส ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถที่ประดิษฐาน “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือปิดทองเป็นชาวญี่ปุ่น ส่วนพระวิหาร ประดิษฐาน “พระพุทธนาค” พระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยคู่กับพระศรีศากยมุนี (ปัจจุบันกำลังบูรณะด้านในพระวิหาร แต่สามารถเข้าสักการะพระพุทธนาคได้) และยังมี “เขามอ” ซึ่งเป็นภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยหิน ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณด้านหน้าวัด ซึ่งในสระน้ำก็มีเต่าและตะพาบน้ำอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศสงบของวัดประยุรวงศาสวาสแห่งนี้

พระพุทธนาค

เขามอ

พระบรมธาตุมหาเจดีย์

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น