วิทยาลัยดุสิตธานี เปิดตัวหลักสูตร Gastronomy Business Management หลักสูตรแรกในไทยครอบคลุมทุกมิติแห่งธุรกิจอาหาร ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคหลังโควิด พร้อมสร้างความยั่งยืนสู่อุตสาหกรรมอาหาร และการบริการ
วันที่ 23 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุสิตธานี จัดงาน “The NEXT Chapter of DTC MBA” Level Up Your Success ซึ่งเป็นการเปิดตัวหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สอนเกี่ยวกับธุรกิจอาหารครอบคลุมทุกมิติในระดับปริญญาโท โดยผสมผสานศาสตร์วิชาหลากหลายที่เป็นสากล และจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เน้นการนำความรู้ไปใช้ได้จริงในธุรกิจอาหารร่วมสมัยทั้งในระดับประเทศและระดับสากล สอนโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก อาทิ ผู้บริหารจากโรงแรมดุสิตธานีอันเป็นองค์กรแม่ของวิทยาลัยดุสิตธานี เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเซเลบริตี้เชฟชื่อดัง
Ms. Frouke Gerbens (ฟราวเกอะ เกอร์เบนส์) อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันสอนด้านธุรกิจบริการชั้นแนวหน้าของเมืองไทย วิทยาลัยดุสิตธานีจึงมุ่งเน้นในการนำความรู้จากองค์กรแม่ คือ โรงแรมดุสิตธานี (Dusit International) มาผสานเข้ากับองค์ความรู้อื่นๆที่เป็นสากล ในการพัฒนาหลักสูตรทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท เช่น การเปิดกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) ระดับปริญญาโท ในครั้งนี้
“อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิต จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตอกย้ำว่าในขณะที่ธุรกิจต่างๆได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจอาหารกลับยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เหตุผลแรก คือ มนุษย์ต้องบริโภคอาหารทุกวัน อีกทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน นิยมความสะดวกสบาย เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ ล้วนมีผลทำให้ธุรกิจอาหารยังคงเติบโต ดังนั้นวิทยาลัยดุสิตธานีจึงเล็งเห็นว่า กลุ่มวิชามุ่งเน้นใหม่นี้จะยิ่งมาช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการและผู้ทำงานในธุรกิจอาหารให้สามารถก้าวไปได้ไกลกว่า และสามารถเอาตัวรอดได้ในทุกวิกฤตการณ์”
อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยดุสิตธานี ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นสถาบันการศึกษาแรกของเมืองไทยในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องหลักสูตรบริหารการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม และยังเป็นสถาบันแรกที่เรียกว่า Corporate University ด้วยการเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มดุสิต ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศ
“หลังจากสถานการณ์โควิด ก็ต้องเป็นสิ่งที่เราต้องเดินหน้าต่อไป โดยในฐานะการเป็นวิทยาลัยดุสิตธานี จึงต้องทุ่มเทกับการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเปิดหลักสูตรมาหลากหลาย ตอนนี้จึงเป็นเวลาอันสมควรแล้วที่เราจะเปิดหลักสูตร ป.โท ที่สอนด้านธุรกิจอาหารโดยตรง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ”
Ms. Frouke Gerbens มองว่าในฐานะที่วิทยาลัยดุสิตธานีเป็นสถาบันเก่าแก่ที่มุ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมบริการ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งถือเป็นภารกิจของวิทยาลัยดุสิตธานี คือ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม
“เรามีทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ เพื่อสร้างให้พวกเราทุกคนมีความพร้อม รับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ที่ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในประเทศไทย แต่มีความสำคัญต่อคนทั้งโลก ช่วงโควิดเราคงได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า อาหารมีความสำคัญและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องการใช้ทรัพยากรอาหาร เรื่องความยั่งยืนในการบริโภคเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นความจำเป็นที่เรามองเห็นว่าสถาบันต้องรับผิดชอบกับความเป็นไปของสังคม จึงเป็นที่มาของหลักสูตรนี้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ปรับองค์ความรู้ต่างๆ ให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม” Ms. Frouke Gerbens กล่าวสรุป
งานเปิดตัวหลักสูตรครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากคุณศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการใหม่ กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงแรมอาศัย (ASAI) มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “The Next Chapter of Career Opportunities in Food Industry and Business Trends” เพื่อวิเคราะห์โอกาส อนาคตของคนทำงาน และเทรนด์ธุรกิจอาหาร
คุณศิรเดช ถ่ายทอดแนวคิดของการทำงานกว่าสิบปีที่ผ่านมาว่า ได้มีการปรับตัวและเน้นในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น จะทำอย่างไรให้บริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ช่วงหลังจึงหันมาทำงานร่วมกับเกษตรกรที่เป็นรูปแบบออร์แกนิก ทำให้ได้รู้ว่าเกษตรกรไทยไม่ถึง 2% เท่านั้น ที่ทำเกษตรแบบออร์แกนิก ซึ่งนับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศ จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะสามารถช่วยเหลือและเข้าถึงเกษตรกรได้
“ตอนนี้นโยบายของกลุ่มดุสิต ผมตั้งไว้ว่า ภายในเดือนตุลาคมปีนี้เราจะสนับสนุนชาวนาด้วยการซื้อตรง ต้องตัดระบบคนกลางให้ได้ เราจะประกาศตัวว่าเป็นโรงแรมในประเทศไทยแห่งแรกที่จะใช้ข้าวออร์แกนิกทั้งหมด”
“ผมกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะคิดว่าหลักสูตร Gastronomy Business Management เป็นการเจาะลึกไปในประเด็นที่สำคัญ เพราะให้ความสำคัญของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ดังนั้นหลักสูตรจะมาช่วยส่งเสริมทั้งในเรื่องของความยั่งยืน ดิจิทัลมาร์เกตติง สร้างความคิดสร้างสรรค์ให้มากยิ่งขึ้น เราก็จะสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนได้”
คุณศิรเดช กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับการศึกษาในหลักสูตรนี้ว่า “การเรียน MBA เปรียบเหมือน Fast Track เราได้ดาวน์โหลดอะไรใหม่ๆ สิ่งที่เรียนก็ได้นำไปใช้จริงได้ผมคิดว่าความสำคัญอีกด้าน คือ การได้ประสบการณ์ การได้เจอคนที่มาร่วมสร้างคอมมูนิตี สร้างไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการที่เราจะแก้ปัญหาของโลก ซึ่งต้องเรียนรู้จากประสบการณ์”
ทางด้าน ดร.วิลาสินี ยนต์วิกัย คณบดีหลักสูตรไทย วิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวเสริมว่า “หลักสูตรนี้นับเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่สอนด้าน Gastronomy Business Management โดยตรง ไม่ใช่สอนแค่ด้าน Food หรือสิ่งที่อยู่บนจานเพียงเท่านั้น ทั้งนี้จะพบว่า เมื่อเทียบกับหลักสูตรการตลาดและการจัดการทั่วไปแล้ว หลักสูตรปริญญาโทเฉพาะทาง ด้านธุรกิจอาหาร ยังนับว่ามีน้อยมากทั้งในไทยและต่างประเทศ วิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งได้รับการยอมรับมานานว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ อีกทั้งมีคอนเน็กชันด้านธุรกิจอาหารจำนวนมาก จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปิดกลุ่มวิชานี้ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ที่จบมาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และผู้มีแพสชันในการทำธุรกิจอาหาร แต่อาจไม่มีพื้นฐานด้านครัวมาโดยตรง จะได้มีทักษะในการบริหารธุรกิจอาหารให้ประสบความสำเร็จ”
ช่วงท้ายของงานเปิดตัวหลักสูตร ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสของธุรกิจอาหาร เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ซึ่งได้รับเกียรติจากเชฟชุมพล แจ้งไพร สุดยอดเชฟระดับมิชลินของประเทศไทย, เชฟเตย พัดชา กัลยาณมิตร ศิษย์เก่าจากวิทยาลัยดุสิตธานี และเป็นผู้แข่งขันในรายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ และคุณธนพร โฆษิตชัยวัฒน์ ผู้บริหาร G Hua Hin Resort and Mall ซึ่งทั้งสามท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวกับหลักสูตรนี้
เชฟชุมพล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วิพากษ์หลักสูตรกล่าวในการเสวนาว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่าอาหารเป็น Medical Food ได้อย่างไร โดยเฉพาะอาหารไทย ถือเป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก และสมุนไพรไทยก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์
“สำหรับคำว่า Gastro มีความแตกต่างจาก Food เพราะไม่ได้มีแค่อาหารและเครื่องดื่ม แต่เป็นการหล่อหลอมทั้งรูป รส กลิ่น เสียง การบริการ ทุกอย่างรวมกันได้อย่างลงตัว มีวิชาที่น่าสนใจ เช่น Sustainable Gastronomic Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบยั่งยืน ซึ่งผมเคยทำท่องเที่ยวเชิงอาหารมาก่อน ในโปรเจค Local Chef Thailand เดินทางตั้งแต่เบตงถึงเชียงแสน ทำเรื่องเชฟชุมชน ทำให้ได้รู้ว่ามีวัตถุดิบอีกมากมายที่เราไม่เจอในกรุงเทพฯ ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่า และเข้ากับความยั่งยืนได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการซื้อขายกันโดยตรงกับผู้ประกอบการ”
ด้านคุณธนพร กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด ขายห้องพักไม่ได้ ก็กลับมาทำเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจฟื้นคืนกลับมาได้เร็ว อาหารจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนได้ และเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมและการบริการ ปิดท้ายด้วยเชฟเตย พัดชา ศิษย์เก่าของสถาบัน ที่ตัดสินใจลงเรียนในหลักสูตรนี้ เพราะมองว่าถึงแม้จะไปแข่งขันมาสเตอร์เชฟ หรือเปิดกิจการร้านอาหารแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ เมื่อต้องมาทำงานด้านธุรกิจอาหารจริงๆจึงยังไม่ราบรื่น การเรียน MBA ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรด้านอาหาร จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้
ข้อมูลกลุ่มวิชาของหลักสูตรวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management)
- Sustainable Gastronomic Tourism (การท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบยั่งยืน)
- Food & Beverage Supply Chain Management (การจัดการห่วงโซ่อุปทานสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม)
- Design Thinking for Creative Gastronomy Business (การออกแบบความคิดสำหรับธุรกิจอาหารอย่างสร้างสรรค์)
- Innovation and Gastronomy Technology (นวัตกรรมและเทคโนโลยีการอาหาร)
- Service Marketing for Gastronomy Business (การตลาดบริการสำหรับธุรกิจอาหาร)
Development of International Food Potential in Business (การพัฒนาศักยภาพอาหารนานาชาติในเชิงธุรกิจ
เรียนเฉพาะวันเสาร์ และมีโอกาสสำเร็จการศึกษาภายใน 1.5 ปี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-361-7811-3
FB: facebook.com/DTCThailand หรือ https://dtc.ac.th/