ชวนไปสัมผัสเสน่ห์เมืองตรังในมุมใหม่ที่ดูอะเมซิ่งยิ่งกว่าเดิม ที่ “บ้านน้ำราบ” อ.กันตัง ที่มีธรรมชาติหลากหลายให้สัมผัส ทั้งขึ้นเขาชมวิว เที่ยวทะเลแหวก ลอดอุโมงค์โกงกาง เกาะรูปหัวใจ และชมผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์ฟื้นฟูของชาวชุมชน...
“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว- ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ”
หลากหลายสรรพสิ่งในใต้หล้าขึ้นไปสู่ชั้นฟ้าแห่งระบบสุริยะล้วนผูกสัมพันธ์ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกันและกัน
เฉกเช่นดังพระจันทร์เมื่อมี “ข้างขึ้น- ข้างแรม” ย่อมมีผลต่อ “น้ำขึ้น-น้ำลง” ซึ่งส่งผลต่อทริปล่องเรือเที่ยว “บ้านน้ำราบ” ของเราในทริปนี้ด้วย เพราะ 2 ใน 3 ของไฮไลท์ประจำทริป ต้องไปให้ถูกช่วงจังหวะเวลาของน้ำขึ้น-น้ำลง ถึงจะได้สัมผัสกับมนต์เสน่ห์ความงามอย่างเต็มที่
”บ้านน้ำราบ” จากตัดป่าเผาถ่านสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
“บ้านน้ำราบ” เป็นชุมชนริมชายฝั่งตั้งอยู่ที่ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เดิมชุมชนแห่งนี้ชื่อ “บ้านน้ำรอบ” เพราะมีสายน้ำล้อมรอบอยู่ทุกทิศทาง ก่อนที่ต่อมาจะเรียกเพี้ยนเปลี่ยนเป็น “บ้านน้ำราบ” มาจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก
บริเวณชุมชนบ้านน้ำราบเป็นที่ตั้งของผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นแหล่งสัมปทานเผาถ่านไม้โกงกางเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
ผลจากการตัดไม้โกงกางไปเผาถ่านทำให้ป่าชายเลนที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ กระทบต่อวิถีการทำประมงพื้นบ้าน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเงินในกระเป๋าของชาวชุมชน
แต่ยังดีที่ต่อมาที่นี่ได้มีการยกเลิกสัมปทานตัดไม้เผาถ่านทำให้ป่าชายเลนไม่สูญสิ้น ขณะที่ชาวบ้านเองก็หันมาตั้งหลักกันใหม่ โดยมองไปที่ความยั่งยืนของทรัพยากรเป็นสำคัญ จึงได้มีการริเริ่มรวมกลุ่มกันทำงานอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2539 และจัดตั้งเป็น “กลุ่มประมงพื้นบ้านน้ำราบ” ขึ้นในปี 2542
จากนั้นหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ทางกลุ่มได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน มีการปลูกป่าชายเลนเสริม พร้อมกำหนดกฎ กติกาการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรร่วมกันเพื่อความยั่งยืนขึ้นในปี 2550 ในพื้นที่ “เขตเลเสบ้าน” ที่ประกอบไปด้วย 4 ชุมชนในละแวกนั้นได้แก่ บ้านน้ำราบ บ้านควนตุ้งกู บ้านฉางหลาง และเกาะมุกข์ (ถ้ำมรกต)
ผลจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูทำให้ป่าชายเลนที่นี่มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จนปัจจุบันมีอยู่ราว 3,200 ไร่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่ของแหล่งหญ้าทะเล (อาหารสำคัญของพะยูนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น) ขึ้นมาอีกมากกว่าร้อยละ 60
นอกจากนี้ชาวชุมชนยังจัดตั้ง “กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ-ท่าขยง” ขึ้น เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน (ท่าขยงเป็นกลุ่มหย่อมบ้านของชุมชนบ้านน้ำราบ)
ล่องแพ กินปู ดูเขา
กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ จะเป็นแบบวันเดย์ทริป ที่โดดเด่นตรงความหลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรม “ล่องแพ กินปู ดูเขา” ซึ่งเป็นไฮไลท์ของที่นี่ ซึ่งมีทั้ง “แพ” และ “เรือหัวโทง” ให้เราได้นั่งชมวิวทิวทัศน์ป่าชายเลน 2 ฟากฝั่ง ผ่าน “คลองตาแป๊ะ” ไปออกยังปากอ่าว (ทะเลอันดามัน) กันอย่างสุดฟิน
ในระหว่างเส้นทางจะมีสิ่งน่าสนใจให้ชมกัน อาทิ ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่เกิดจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูของชาวชุมชน, “เขาตีนแรด” และ “เขาจมป่า” ที่มีมองเห็นตั้งตระหง่านโดดเด่นในระหว่างทาง, “ตลิ่งชัน” อีกหนึ่งพื้นที่ฟื้นฟูป่าชายหาด, “แพปู” ที่เกิดจากการอนุรักษ์ปูของชาวบ้าน ซึ่งที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งปูม้าตามธรรมชาติแล้วยังมี “ธนาคารปูม้า” เป็นศูนย์เพาะฟักปูม้าไข่นอกกระดอง
ปูม้าของที่นี่อร่อยมาก เนื้อแน่น หวาน ถือเป็นเมนูเด็ดต้องห้ามพลาด ที่ทางชาวชุมชนได้บรรจุให้เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของบ้านน้ำราบ ขณะที่เมนู ปลา กุ้ง หมึก หอย ของที่นี่ก็ชวนกินเช่นกัน เพราะมีความสดใหม่กินเพลินปาก
นอกจากนี้ในเส้นทางล่องเรือ-แพยังมี ภาพวิถีชาวบ้านที่ทำมาหากินผูกผันกับป่าชายเลน, มี “เตาถ่านเก่า” ที่เป็นแหล่งตัดไม้โกงกางเผาถ่านอาชีพในอดีต และ “เกาะรูปหัวใจ” ที่เมื่อนั่งเรือผ่านมองในระดับสายตาจะเป็นเกาะกางน้ำทั่วไปที่มีขึ้นโกงกางขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น แต่เมื่อใครได้นำโดรนขึ้นไปบินถ่ายภาพมุมสูง จะเห็นเกาะกลางน้ำแห่งนี้มีรูปร่างดุจดังหัวใจ ซึ่งหลายคนนิยมเรียกว่า “เกาะหัวใจมรกต” เพราะบนเกาะมันดูเขียวขจีเต็มแน่นไปด้วยต้นโกงกาง
เขาจมป่า ตื่นตาวิวงามสุดอะเมซิ่ง
ทริปนี้เราเลือกใช้บริการนั่งเรือหัวโทง เพราะสามารถวิ่งเข้าไปในคลองสายเล็ก ๆ ที่แพใหญ่ไม่สามารถเข้าไปได้
ในเส้นทางล่องเรือนอกจากสิ่งน่าสนใจที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ที่นี่ยังมี 3 จุดไฮไลท์ต้องห้ามพลาด ให้ไปสัมผัสในเสน่ห์มนต์ขลังกัน โดยไฮไลท์ 2 ใน 3 จุดนั้นต้องเที่ยวตามช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ที่เชื่อมโยงกับข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์ ซึ่งชาวเรือที่นี่เขาจะรู้ตารางน้ำขึ้น-น้ำลงล่วงน้า จากนั้นจึงนำมาบริหารจัดการว่าจุดไหนควรไปก่อน จุดไหนควรไปหลัง ตามสภาพของระดับน้ำขึ้น-ลง ในวันนั้น ๆ
สำหรับจุดไฮไลท์ที่เป็นของตายไม่ต้องอิงน้ำขึ้น-น้ำลง ก็คือการพิชิต “เขาจมป่า” เขาลูกเตี้ย ๆ แต่ว่ามีเสน่ห์เหลือหลาย
เขาจมป่า เป็นเขาลูกเตี้ย ๆ ที่มีต้นโกงกางสูงใหญ่ของป่าชายเลนแวดล้อมจนมองไปเห็นตัวเขา เห็นแต่ยอดเขาเล็ก ๆ แหลม ๆ โผล่ขึ้นมา ชาวบ้านที่นี่จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า “เขาจมป่า” ตามสภาพที่มันดูจมกลืนหายไปในป่านั่นเอง
ยอดเขาจมป่า แม้มีความสูงแค่เพียง 84 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีระยะทางเดินขึ้นเขาผ่านป่าบกประมาณ 400 เมตร แต่ว่าทางเดินขึ้นก็สมบุกสมบันไม่น้อย เพราะบางช่วงค่อนข้างชัน ต้องมีเชือกให้ยึดเกาะ และช่วงสุดท้ายต้องรอดรูเพิงหินเล็ก ๆ ก่อนไปทะลุยังจุดชมวิวบนยอดเขาที่สวยงามอะเมซิ่งมาก ๆ
เพราะเมื่อมองลงไปจากจุดชมวิวยอดเขาจมป่า จะเห็นผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่อันสวยงามกว้างไกลในแบบพาโนรามาดู เขียวขจีสบายตา ซึ่งมาพร้อมกับบรรยากาศของต้นโกงกางที่ขึ้นอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน มีลำคลองคดเคี้ยวเลื้อยแทรกผ่านสู่ปากอ่าวทะเลอันดามัน ที่เมื่อมองไปไกลสุดจะเห็นกลุ่มเกาะแห่งทะเลตรังตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังเติมเต็มให้องค์ประกอบดูสวยงามน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น
เรียกว่าแม้จะเดินเหน็ดเหนื่อยลุยขึ้นมาพิชิตยอดเขาลูกนี้ แต่วิวทิวทัศน์บนนี้มันช่างสวยงามคุ้มค่ามาก ๆ
ทะเลแหวกอลังการ อุโมงค์โกงกางน่าทึ่ง
จากเขาจมป่า มาสู่ไฮไลท์อีก 2 จุดหลักที่การจะไปเที่ยวชมต้องอิงกับระดับน้ำ นั่นก็คือ “ทะเลแหวก” ที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของลำคลองตาแป๊ะกับป่ากอ่าว
บริเวณปากอ่าวที่นี่ในยามที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดมันจะกลายเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ราบเรียบ แต่ยามเมื่อน้ำลดระดับลงมาก ๆ มันจะกลายเป็นทะเลแหวกในรูปของเกาะขนาดใหญ่ที่ดูอะเมซิ่งมาก ๆ
ทะเลแหวกบ้านน้ำราบต้องไปในช่วงน้ำลดระดับลงต่ำมาก ๆ จึงจะเป็นแนวสันทรายกลางทะเลปรากฏขึ้นมาในลักษณะของเกาะกลางทะเลขนาดใหญ่ ผืนทรายละเอียดเดินแน่นนุ่มเท้า
อีกทั้งที่นี่ยังเป็นดินแดนแห่ง “ปูลม” สัตว์ตัวจิ๋วสุดไว พอแนวสันทรายยักษ์ผุดโผล่ พวกมันจะออกจากรูมาวิ่งปั้นลูกทรายประดับแนวชายหาดกันทั่วไปบริเวณ ซึ่งพอเราเดินไปมันจะรีบวิ่งมุดเข้ารูไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ที่นี่ก็ยังมีปลาดาวมาปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากอยู่บ่อยครั้ง ส่วนเมื่อเลยทะเลแหวกไปทางฝั่งเกาะมุกต์ จะเป็นถิ่นอาศัยของพะยูน ซึ่งที่บ้านน้ำราบก็มีบริการล่องเรือไปลุ้นชมพะยูนมาอวดโฉมกันอีกด้วย
สำหรับอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของที่นี่ที่การจะเข้าไปเที่ยวชมต้องอิงกับระดับน้ำก็คือ “อุโมงค์โกงกาง” ซึ่งซ่อนกายอยู่ในลำคลองสายย่อยของเส้นทาง
อุโมงค์โกงกางที่นี่มีความยาวโดยรวมประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นต้นโกงกางสูงใหญ่ที่ขึ้นแน่นหนาทึบ เกิดและเติบโตขึ้นภายหลังการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนที่นี่ โกงกางหลายต้นโน้มกิ่งเข้าหากันดูสวยงามทรงเสน่ห์ ขณะที่รากเบื้องล่าง ก็แผ่สยายยึดเกาะดินเลนเกี่ยวกะหวัดพันกันเป็นโยงใย
การจะนำเรือเข้าไปมุดลอดอุโมงค์โกงกางแห่งบ้านน้ำราบ ต้องไปให้ถูกจังหวะเวลาที่สายน้ำอยู่ในระดับกำลังพอดี และห้ามไปในช่วงที่น้ำลงต่ำสุด เพราะจะทำให้เรือติดแหงกอยู่ในอุโมงค์ เรียกว่าทริปจบเห่กันเลยทีเดียว
สำหรับในวันนั้น หลังเรือของคณะเราวิ่งลอดเข้าไป และลอดกลับออกมาจากอุโมงค์โกงกางได้อย่างถูกจังหวะเวลา ผมหันย้อนไปมองดูโกงกางหลายต้นที่โน้มกิ่งโค้งเข้าหากันอีกครั้ง ซึ่งแม้การโน้มกิ่งโค้งเขาหากันของพวกมันจะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่มันก็ทำให้ผมอดคิดในใจไม่ได้ว่า
...หรือโกงกางพวกนี้จะโน้มตัวเพื่อคารวะต่อชาวชุมชนบ้านน้ำราบที่ภายหลังนอกจากจะไม่ตัดพวกมันไปเผาถ่านแล้ว ยังเลือกที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูพวกมันให้เติบใหญ่ จนกลายเป็นอีกหนึ่งอุโมงค์โกงกางอันสวยงามที่มีเสน่ห์น่าทึ่งกระไรปานนั้น...
####################
กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ มีทั้งบริการล่องแพ และเรือหัวโทง โดยมีหลายโปรแกรม หลายตัวเลือก ผู้สนใจสอบถามราคาและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 084-629-7971 (บังเดียะ), 087-277-8017 (หลวงอู๊ด)
นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในจังหวัดตรัง ได้ที่ ททท.สำนักงานตรัง โทร. 075 215 867