พาไปรู้จักกับ “ตุ๊กตาหินโบราณ” ที่วัดพระแก้วที่กำลังโด่งดัง ซึ่งมีหลักฐานว่าเป็น “ของประหลาด” แปลกใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นำเข้ามาจากต่างแดนเพื่อใช้จัดแสดงแบบ Exhibition ในงาน สมโภช 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ส่วนเพราะเหตุใด? ทำไมตุ๊กตาหินเหล่านี้ถึงถูกนำไปฝังไว้ใต้ดิน? เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาให้สืบค้นกันต่อไป?
วันนี้ถนนสายการท่องเที่ยว-วัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ต่างมุ่งตรงไปที่ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” เพื่อบันทึกภาพเป็นที่ระลึกกับ “ตุ๊กตาหินโบราณ” จำนวนมาก ที่ ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย
สำหรับตุ๊กตาหินโบราณเหล่านี้มีที่มาอย่างไร ขอเชิญทัศนากันได้
ฮือฮาพบตุ๊กตาหินโบราณที่วัดพระแก้ว
หลังมีการเผยแพร่ภาพ “ตุ๊กตาหินโบราณ” ถูกนำมาประดับไว้ที่วัดพระแก้ว ซึ่งถูกเผยแพร่กันเป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์ ทางเว็บไซต์ “หน่วยราชการในพระองค์” ได้เผยแพร่ข้อมูลถึงเรื่องการค้นพบตุ๊กตาหินดังกล่าว ไว้ในหมวดข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรม เรื่อง “ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า
...เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู มณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว
จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินสลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆกันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดารามบริเวณตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ...
เรื่องนี้สอดรับกับข้อมูลของนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ตุ๊กตาหินโบราณเหล่านี้ว่าไม่ใช่ ตุ๊กตา “อับเฉา” ที่คนจีนใส่ถ่วงเรือแล้วนำมาทิ้งไว้ในบ้านเรา ตามข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของหลาย ๆ คน หากแต่เป็นตุ๊กตาหินโบราณชุดเดียวกับที่ปรากฏในภาพวาดและภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕
โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏหลักฐานว่ามีตั้งประดับไว้ที่บริเวณวัดพระแก้วอยู่เป็นจำนวนมาก
แล้วตุ๊กตาหินโบราณเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร? ทำไมมาปรากฏเป็นจำนวนมากที่วัดพระแก้วตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เรื่องนี้ได้มีนักวิชาการส่วนหนึ่งออกมาไขความกระจ่าง เพื่อฉายภาพที่มาของของตุ๊กตาหินโบราณเหล่านี้ได้อย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้น
ตุ๊กตาหินต่างชาติ ของประหลาดแห่งสมัยรัชกาลที่ ๕
“ไกรฤกษ์ นานา” นักวิชาการอิสระ และนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ได้เคยเขียนอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ใน บทความเรื่อง “ ‘รูปปั้นล่องหน’ ของนโปเลียนที่ 3 จากปารีสแตก ถึงฉลองพระนคร 100 ปี หลักฐานชี้อยู่ที่เมืองไทย” (พิมพ์อยู่ในหนังสือ “สยามกู้อิสรภาพตนเอง” สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2550) สรุปความว่า
รูปปั้นตุ๊กตาหินโบราณเหล่านี้ถูกสั่งเข้ามาจากต่างแดน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อนำมาประดับวัดพระแก้ว ในรูปแบบ Exhibition เนื่องในงานฉลองกรุงฯ สมโภช 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยตุ๊กตาหินเหล่านี้ถือเป็น “ของประหลาด” และแปลกใหม่มากในยุคนั้น
นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของบทความดังกล่าว “ไกรฤกษ์ นานา” ยังได้อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือชื่อ “Carpenters World Travels” ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1926 โดยนาย Frank G. Carpenter ซึ่งเขียนระบุว่า
...วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 เป็นวันสําคัญที่สุดของการสมโภช เพราะพระนครมีอายุครบ 100 ปีเต็มที่ได้สร้างกรุงเทพฯ มา นอกเหนือจากการมหรสพที่จัดอย่างครื้นเครงมากมายที่สุดที่ เคยมีมาในกรุงเทพฯ แล้ว ทางราชการยังได้จัดการแสดงพิพิธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวงควบคู่ไปด้วย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักและตื่นตัวกับความก้าวหน้าของวิชาความรู้ที่ ทันสมัยต่างๆ เช่น ผลงานทางด้านกสิกรรม วิทยาศาสตร์ และสถาปัตยกรรม รวมทั้ง สิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่จากตะวันตก ตลอดจนการแสดง “ของประหลาด” หรือของแปลกๆ จากต่างประเทศที่ชาวสยามไม่เคยพบเห็นมาก่อน การแสดงพิพิธภัณฑ์ หรือบางทีเรียก “งานเอ็กซิบิชั่น” เป็นการเลียนแบบงานมหกรรมโลก หรือ International Exhibition ที่มีจัดกันอย่างสม่ำเสมอในทวีปยุโรปและอเมริกา งานคราวนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือจากชาวยุโรปที่รับราชการอยู่กับราชสํานักสยามหลายสิบคน เช่น ชาวอิตาเลียน อังกฤษ และเยอรมัน
อันว่าของประหลาดที่จัดแสดงในงานนี้ ส่วนหนึ่งก็คือเครื่องประดับแปลกใหม่ ภายในวัดพระแก้ว อันได้แก่ รูปปั้นศิลาจากต่างประเทศที่สามารถจําลองรูปร่างหน้าตาของบุคคลสําคัญๆ ระดับโลก ที่เคยมีชีวิตจริงๆ มาไว้รวมกันให้ดูครึกครื้น นอกเหนือจากทัศนะอื่นๆ ตามที่คณะผู้มาเยือนจากรัสเซียได้รับการบอกเล่าว่า ตั้งใจจะให้หมาย ถึงกลุ่มผู้มีชื่อเสียงของโลกมาชุมนุมสังสรรค์กัน เพื่อสดับตรับฟังคําสอนของพระพุทธเจ้าที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางนั่นเอง”
แต่บุคคลที่จะลืมไม่ได้ ก็คือท่านผู้ที่เป็นนายงานจัดตบแต่งลานวัดพระแก้วที่งดงามอยู่แล้ว ให้แปลกตาออกไปอีกด้วย รูปปั้นหินอ่อนที่สั่งซื้อเข้ามาใหม่ ล้วนเป็นผลงานของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรทั้งสิ้น หนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย สรรเสริญความดีความชอบของพระองค์ท่านในภารกิจนี้ว่า “พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาสน์เลอสรรค์ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณบังคับการกรมช่างทอง และได้ทรงเป็นนายด้านจัดการเครื่องประดับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม งาม บริบูรณ์ดังพระราชประสงค์ สมควรจะได้รับตําแหน่งยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมได้”
ตุ๊กตาหินหายไปไหน ?
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ภาพของตุ๊กตาหินโบราณประดับวัดพระแก้วเหล่านี้ยังคงมีปรากฏอยู่ แต่ว่ามีจำนวนลดน้อยลง กระทั่งมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ในงานสมโภช 150 ปี กรุงรัตโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2475 ไม่ปรากฏภาพบันทึกว่ามีตุ๊กตาหินเหล่านี้อยู่ ซึ่งเป็นข้อกังขามาถึงปัจจุบันว่าตุ๊กตาหินเหล่านี้อันตรธานหายไปจากวัดพระแก้วได้อย่างไร ?
เรื่องนี้ “ดร. ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์” ครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และรักการเดินทาง ได้เขียนอธิบายไว้ในส่วนหนึ่งของบทความ “ตุ๊กตาหิน : ของเก่าจัดแสดงใหม่ในวัดพระแก้ว” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Reporter Journey เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า
...ปรากฏหลักฐานอยู่ว่าเมื่อมีการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามเตรียมการฉลองกรุงครบรอบ 150 ปีนั้น ในปี พ.ศ.2473 ราชกิจจานุเบกษามีการเผยแพร่เอกสารระบุค่าใช้จ่ายในการบูรณะวัดส่วนต่าง ๆ หนึ่งในนั้นมีการระบุว่า “… ค่ารื้อย้ายตุ๊กตา กระถางต้นไม้ และแท่นหินเป็นต้น 431 บาท …”
ส่วนสาเหตุที่ตุ๊กตาหินโบราณรูปปั้นคนต่างชาติเหล่านี้ ถูกนำไปฝังไว้ใต้ดินบริเวณวัดพระแก้ว ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้เชี่ยวชาญได้สืบค้นกันต่อไป
อย่างไรก็ดีการค้นพบตุ๊กตาหินโบราณ และการนำกลับมาประดับที่วัดพระแก้วและบริเวณพระบรมมหาราชวังอีกครั้งในวันนี้ นี่อาจจะไม่ใช่ของประหลาดแปลกใหม่ของคนไทยในยุคปัจจุบัน เหมือนดังในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันใหม่ของวัดพระแก้วที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง