xs
xsm
sm
md
lg

มูให้ครบ! ปักหมุด 4 จุด เมืองอุดรฯ มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สักการะ 4 สิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองอุดรธานี
ถ้าเอ่ยถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของ “อุดรธานี” อันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึงนั่นคือ “คำชะโนด” ดินแดนที่อบอวลไปด้วยความเชื่อและพลังแห่งศรัทธา รวมทั้งยังมีมุมอื่นที่อยากชวนทุกคนไปกราบไหว้ขอพร ซึ่งสามารถแวะไปเยือนกันได้ทุกช่วงเวลา โดยอยู่ในเส้นทางสายมูนครธานี “มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง”

สำหรับเส้นทางสายมูนครธานี “มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง” จะมีทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน และสามารถเข้าไปสักการะได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ได้แก่

หลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง
ท้าวเวสสุวรรณ
เมื่อมาเยือนดินแดนแห่งศรัทธาแล้ว เพิ่มความสิริมงคลด้วยการไปสักการะ “ศาลหลักเมืองอุดรธานี” โดยศาลแหลักเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2502 ภายในมี เสาหลักเมือง สร้างด้วยไม้คูณ มีขนาดยาว 5 เมตร บรรจุแผ่นยันต์และแก้วแหวนเงินทองต่างๆ ไว้ใต้ฐาน ต่อมาในปี 2542 มีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่แทนศาลหลักเมืองเดิมที่ทรุดโทรม

เสาหลักเมือง

สักการะท้าวเวสสุวรรณ
และในบริเวณศาลหลักเมืองยังมี หลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง และ ท้าวเวสสุวรรณ เป็น 1 ใน 4 ของท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองเหล่าอสูรให้ได้กราบสักการะกัน สำหรับการขอพรจากท้าวเวสสุวรรณให้ได้ผลมากที่สุดคือ การขอให้ศัตรูหมู่มารทั้งหลาย หรือผู้ที่คิดร้ายกับเราแพ้ภัยตัวเอง หรือกลับมาเป็นมิตร เคล็ดลับในการกราบไหว้ขอพร เมื่อขอพรแล้วให้ลูบกระบองของท้าวเวสสุวรรณ เรียกได้ว่าถ้ามาสักการะขอพรที่ศาลหลักเมืองอุดรธานีแล้ว เราก็จะสามารถมาบูชาและกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แบบครบถ้วนในที่เดียว

องค์ศรีสุขคเณศ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี
องค์ศรีสุขคเณศ
เราอาจเห็นองค์พระพิฆเณศวรในที่ต่างๆ และมีลักษณะที่แตกต่างกัน สำหรับ “องค์ศรีสุขคเณศ” ที่ประดิษฐาน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เป็นพระพิฆเณศวร ปางศรีสุขคเณศ ขนาดหน้าตัก 33 นิ้ว สูง 279 ซม. ผลงานของศิลปินราชัน แสงทอง ศิษย์เก่าแผนกศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก

พระพิฆเณศวร ปางศรีสุขคเณศ

บริเวณด้านหลังพระพิฆเณศวร
โดยมีแนวคิด “ศรัทธาแห่งความสำเร็จ” เป็นการนำพระพิฆเณศวร เทพแห่งความสำเร็จทั้งมวล ผสมผสานพลังศรัทธา “พ่อปู่ศรีสุทโธ” จากทั่วสารทิศ รังสรรค์มาเป็น “องค์ศรีสุขคเณศ” พระพิฆเณศวร 8 กร ปรกด้วยนาคราช 9 เศียร มหามงคลแห่งความสุข ความสำเร็จทั้งปวง เอกลักษณ์เฉพาะอุดรธานี หนึ่งเดียวในโลก

อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ
อีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอุดรฯ ให้ความเคารพนับถือ “อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” ตั้งอยู่กลางเมืองอุดรธานี พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรขึ้น เมื่อปี 2436 ทรงจัดวางระเบียบราชการปกครองบ้านเมือง และรับราชการในหน้าที่สำคัญ ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ราษฎร อนุสาวรีย์พระองค์ท่านนับเป็น เกียรติประวัติสูงสุดของชาวจังหวัดอุดร

มีคนมากราบไหว้ขอพรอย่างต่อเนื่อง
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นอนุสาวรีย์รูปปั้นทองบรอนซ์ในพระอิริยาบถทรงประทับยืนอยู่บนแท่นหินแกรนิตสีเทาดำ ที่มีความสูงเฉพาะพระแท่นประทับประมาณ 3.50 เมตร ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มพระยศ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงกระบี่

อนุสาวรีย์รูปปั้นทองบรอนซ์ในพระอิริยาบถทรงประทับยืน
สำหรับการกราบไหว้เพื่อการขอพรนั้นมีเคล็ดลับว่า หากว่าขอพรในการสอบแข่งขัน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งก้าวหน้า สอบราชการทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ท่านบอกว่าให้ตั้งจิตอธิษฐานบนบานต่อพระองค์ท่าน ด้วยการวิ่งรอบอนุสาวรีย์เป็นของแก้บน ส่วนผู้ที่ไม่ได้บนบาน การกราบไหว้พระอนุสาวรีย์กรมหลวงฯ ทำให้เกิดมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ปราศจากอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน ประสบผลสำเร็จในการเรียน

ศาลเทพารักษ์
ศาลเทพารักษ์
“ศาลเทพารักษ์” เป็นอีกสถานที่หนึ่งของจังหวัดอุดรธานี สร้างขึ้นราวปี 2490-2495 โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อแต่โบราณ และได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้สร้างเมืองมาสถิต ณ ศาลแห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางใจของชาวเมืองอุดรธานี จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงเหตุที่ตั้งชื่อว่า “ศาลเทพารักษ์” นั้น เพราะดวงของผู้สร้างเมืองสมพงษ์กับดวงเมืองจึงต่างเชื่อว่า ดวงพระวิญญาณของพระองค์ ยังทรงคุ้มครองปกปักษ์รักษาลูกหลานชาวเมืองอุดรธานีตลอดมา ที่นี่มีเคล็ดลับของการขอพรคือ การกลั้นหายใจเวลาขอพรจากศาลเทพารักษ์ จะทำให้มีโชคลาภทั้งด้านการเงิน การงานต่างๆ

องค์เทพารักษ์ ศูนย์รวมที่พึ่งทางใจของชาวเมืองอุดรธานี

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น