กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูล “7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้ง” หรือ Big 7 ซึ่งเปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์
อ่านเนื้อหาโดยละเอียด เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://naturednpnews.blogspot.com/2021/02/23-2564.html
สมเสร็จ นักฟื้นฟูป่าแห่งพงไพร
สมเสร็จ หรือ ผสมเสร็จ (Tapir) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้มีลักษณะรูปร่างคล้ายสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้งรูปร่างเหมือนแรด มีจมูกเป็นงวงยาวเหมือนช้างสามารถยืดหดม้วนและหมุนได้รอบทิศทาง ใช้ในการปลิดหักกิ่งไม้และใบไม้ใส่ปาก นอกจากนี้ยังใช้งวงพ่นน้ำได้ หูและตาเหมือนหมูหางสั้นเหมือนหมี สีขนบนลําตัวที่ตัดกันระหว่างสีขาวที่ท้องและสีดําที่ส่วนหัวและท้ายลําตัว ทําให้สมเสร็จกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม
ด้านความเป็นอยู่ของสมเสร็จในระบบนิเวศนั้น สมเสร็จถูกจัดให้เป็น"หนึ่งในเป็นนักปลูกป่าตัวยง" พวกมันมีความสามารถในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องด้วยอาหารที่สมเสร็จกินนั้นประกอบด้วยพืชและผลไม้ทั้งเล็กและใหญ่ จึงช่วยพาเมล็ดพืชเหล่านั้นไปเติบโตยังพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
ในต่างประเทศ มีงานวิจัยเกี่ยวกับสมเสร็จเมริกาใต้เอาไว้ว่า พวกมันมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม จากพฤติกรรมที่มักใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นเส้นทางสัญจรแต่ละวัน ซึ่งร่องรอยการผ่านไปของสมเสร็จ ประกอบไปด้วยมูล และเมล็ดพันธุ์ที่ยังสมบูรณ์หลายชนิดผสมอยู่ในมูล ป่าที่สมเสร็จเดินผ่าน จึงมีโอกาสได้รับการฟื้นฟู ขึ้นด้วยความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ที่สมเสร็จเคยใช้ประโยชน์เป็นอาหาร
วัวแดง ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร
วัวแดง หรือ วัวเพลาะ (Banteng) เป็นสัตว์ในวงศ์วัวและควายเช่นเดียวกับกระทิง เท้ากีบเหมือนกัน เขาไม่แตกกิ่งเหมือนกัน กินพืชเหมือนกัน เคี้ยวเอื้องเหมือนกัน และรูปร่างรึก็คล้ายคลึงกัน แถมใส่ถุงเท้าขาวเหมือนกันอีก จัดว่าเป็นปัญหาของชาวสัตว์ป่ามือใหม่พอสมควร
วัวแดง มีขนาดตัวเล็กกว่ากระทิงเพียงเล็กน้อย การสังเกตด้วยลักษณะภายนอกจึงเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แนะนำให้ดูที่ก้น ลองเดินวน ๆ ไปดูข้างหลัง วัวแดง จะมีวงสีข้าวที่ก้นทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งจุดนี้กระทิงไม่มี
เรามักพบเห็นวัวแดงได้ตามป่าโปร่ง เพื่อหากินแทะเล็กใบหญ้า ผลไม้ หรือยอดอ่อน ๆ ของไม้พุ่ม และมักจะหลบภัยหรือพักผ่อนในป่าทึบ เคลื่อนไหวหลบหนีภัยได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ไม่อืดอาดเหมือนวัวบ้าน ทั้งยังขึ้นชื่อว่ามีประสาทการดมกลิ่นขั้นดีเลิศ มีประสาทหูและตาในระดับดี ใช่ว่าจะตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าได้ง่ายดายนัก
ด้านความเป็นอยู่ของวัวแดงในระบบนิเวศนั้น คือ ‘เหยื่ออันโอชะของเสือโคร่ง’ วัวแดงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และนั่นคือเหตุผลที่เรายกให้วัวแดง เป็น ‘ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร’ เพราะ วัวแดง ถือเป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง ความเป็นอยู่อันสุขสบายของเสือโคร่ง ย่อมมีปัจจัยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อด้วย ดังนั้น การมีวัวแดงชุกชุม จึงเท่ากับ ความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
เสือดาว ผู้ควบคุมโซ่อาหารแห่งพงไพร
เสือดาว (Leopard) จริงแล้ว เสือดาว-เสือดำ คือชนิดเดียวกัน หลายคนแยกทั้งสองออกจากกัน นั่นเพราะตัดสินจากเพียงสีและลวดลายภายนอก แต่หากเสือดำเดินไปต้องแสงแดด จะเห็นลวดลายที่เหมือนกับเสือดาวไม่ผิดเพี้ยน ลวดลายที่ว่านั้น เราเรียกกันว่า “ขยุ้มตีนหมา” คือ เป็นจุดหลาย ๆ จุด
ด้านความเป็นอยู่ของเสือดาว-เสือดำในระบบนิเวศ คือ ผู้ควบคุมโซ่อาหาร คอยควบคุมจำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ไม่ให้มีจำนวนมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากในป่ามีสัตว์กินพืชมากเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อระบบป่า ความยิ่งใหญ่ของเสือดาว-เสือดำ จึงอยู่ที่ ‘คุณค่า...ต่อระบบนิเวศ’
ช้างป่า พี่ใหญ่แห่งพงไพร
ช้างป่า (Asian elephant) ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งสัตว์ป่าที่เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์ชนิดอื่น จึงเป็นสัตว์เป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ เพราะหากเราอนุรักษ์ช้างไว้ในป่านั้น ๆ ได้ สัตว์อื่นก็อยู่ได้ตามไปด้วย ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อายุเฉลี่ยประมาณ 60-70 ปี เป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง
ด้านความเป็นอยู่ของช้างป่าในระบบนิเวศ คือ พี่ใหญ่แห่งพงไพร เป็นนักขุดหาแหล่งน้ำ เปิดแหล่งดินโป่ง ปลูกและใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ ไปจนถึงช่วยลดคาร์บอน ในชั้นบรรยากาศกันเลยทีเดียว ทำไมช้างป่าถึงช่วยลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศได้? แม้จะดูห่างไกลจากหน้าที่ความเป็นช้างไปสักหน่อย แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พูดถึงเรื่องนี้ได้ว่า “นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมของช้างมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของต้นไม้ในป่าที่โตช้า ซึ่งสามารถแยกคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้ดีกว่าสายพันธุ์ที่เติบไว โดยช้างจะคอยกินต้นไม้หรือพืชพรรณที่โตไวเพื่อเปิดโอกาสให้พันธุ์ไม้ที่โตช้าได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาในที่สุด
หากป่าไม่มีช้าง ก็จะส่งผลให้ต้นไม้สายพันธุ์ที่เติบโตช้าลดลง จนเหลือเพียงพันธุ์ไม้ที่เติบโตเร็วแทนที่อยู่เต็มป่า” ด้วยคุโณปการของ ‘ช้างป่า’ จึงถูกยกย่องให้เป็น...7 สัตว์ป่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้ง
ควายป่า ผู้ดุดันแห่งพงไพร
ควายป่า หรือ มหิงสา (wild buffalo) บึกบึน แข็งแรง ใหญ่โตกว่าควายบ้านอยู่หลายขุม ชั่งน้ำหนักก่อนขึ้นชก ควายป่า จะอยู่ที่ 800-1,200 กก. มีเขาโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ ยาวได้ถึง 150-180 ซม. มีสีเทาหรือน้ำตาลดำ ช่วงอกมีขนสีขาว รูปตัว V ใส่ถุงเท้าขาวหม่น ๆ ทั้ง 4 ข้าง
ควายป่า ดุร้าย ไม่กลัวคน แม้จะตัวใหญ่แต่กลับปราดเปรียว ว่องไว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง แม้ตัวผู้จะชอบฉายเดี่ยวก็ตาม แต่ก็กลับมารวมฝูงในช่วงผสมพันธุ์
ควายป่าในผืนป่าไทย มีรายงานพบเพียวแห่งเดียว คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แถบ ๆ ริมลำห้วยขาแข้ง ทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่ราว ๆ 50 ตัว จำนวนประชากรขยุ้มมือนี้ จึงเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างยิ่ง
กระทิง นักปรับตัวแห่งพงไพร
กระทิง หรือ เมย (Gaur) เป็นสัตว์ในวงศ์วัวและควาย สัตว์ในวงศ์นี่มีลักษณะเด่นคือ “เขา”ไม่มีการแตกกิ่ง ไม่มีการหลุด และไม่มีการเปลี่ยนตลอดช่วงอายุขัย กระทิง มีรูปร่างสูงใหญ่กำยำ เหมือนนักเพาะกาย กล้ามเนื้อมัดแน่น บึกบึน บ่งบอกว่าพวกมันแข็งแรงมาก ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ และสวมถุงเท้าสีขาวที่ขาทั้งสี่ข้าง หน้าผากระหว่างเขามีขนสีน้ำตาลพร้อมจุดแต้มสีเทาอมเหลือง เรียกจุดนี้ว่า หน้าโพ
ทั้งสองเพศต่างก็มีเขาเหมือนกัน เพศเมียและลูกเล็กมักอาศัยรวมกันเป็นฝูง มีสมาชิกตั้งแต่ 2-60 ตัว และชอบหากินรวมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ ส่วนเพศผู้นั้นมักชอบอาศัยแบบสันโดษ หรือเราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “พ่อกระทิงโทน” พอเข้าฤดูผสมพันธุ์ถึงจะแอบย่องเข้ามารวมฝูงซักครั้ง เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์นั่นเอง
กระทิงนั้น ถือได้ว่าเป็น สัตว์ป่านักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปกติแล้ว เรามักพบเห็นกระทิงได้ใน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ไปจนถึงป่าเสื่อมโทรม ไร่ร้าง ที่กำลังฟื้นฟูสภาพกลับมาเป็นป่าอีกครั้ง เป็นสัตว์ที่พรางตัวในธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน หากยืนนิ่งๆ อยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ รับรองว่า เราแทบไม่สังเกตเห็น บ่อยครั้งจึงมักได้ยินข่าวคราวของกระทิงพุ่งชนมนุษย์ หากแต่กระทิงไม่ได้ตั้งใจทำร้ายมนุษย์ แค่พวกมันต้องการความปลอดภัย และเป็นสัญชาติญาณในการป้องกันตัวอย่างหนึ่ง บางครั้งการพุ่งชนนั้นอาจหมายถึงชีวิตเลยทีเดียว
เสือโคร่ง ผู้ยืนอยู่บนยอดพีระมิดแห่งพงไพร
เสือโคร่ง (Tiger) คือ ชนิดพันธุ์ที่เรียกว่า umbrella species การดำรงอยู่ของเสือโคร่ง เท่ากับ การดำรงอยู่ของสัตว์ป่านานาชนิดในผืนป่า การเป็น umbrella species ยังหมายถึง การเป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์และคุ้มครอง เท่ากับว่า สัตว์ป่าน้อยใหญ่ในพื้นที่ของเสือโคร่ง ล้วนได้รับการอนุรักษ์และปกป้องไปพร้อม ๆ กัน
เสือโคร่ง อยู่ในวงศ์ Felidae เป็นสัตว์กินเนื้อ (canivora) ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีลายสีดำพาดขวางตลอดทั้งลำตัว แต่ละตัวมีลายไม่ซ้ำกันเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของคนทั่วโลก
ประเทศไทย มีรายงานประชาเสือโคร่ง (ปี 2563) จำนวน 130-160 ตัว กระจายตัวในป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา -- ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งถือเป็นบ้านแห่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอินโดจีนอีกแห่งหนึ่ง
อาณาเขตของเสือโคร่งเพศผู้ กินพื้นที่ราว ๆ 200-300 ตร.กม. ในขณะที่เพศเมียจะอยู่ที่ 60 ตร.กม. ล่าเหยื่อตั้งแต่หมูป่า เก้ง กวาง วัวแดง และกระทิง และนิยมล่าเหยื่อที่มีช่วงอายุโตเต็มวัย
เว็บไซต์ WCS Thailand กล่าวถึงความสำคัญของเสือโคร่งต่อระบบนิเวศไว้ว่า "เสือโคร่งมีความสำคัญที่โดดเด่นในฐานะผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทและหน้าที่ในการควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป รวมทั้งรักษาสายพันธุ์ที่ดีของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ที่อ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง
นอกจากนี้ ปริมาณและชนิดเหยื่อของเสือโคร่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งอยู่รอดได้เช่นกัน ด้วยความสัมพันธ์นี้จึงกล่าวได้ว่า 'เสือโคร่ง' สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน"