เมืองไทยของเรานั้นมีธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์หลายๆ อย่าง เช่น “ไม้กลายเป็นหิน” ที่เกิดจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ก่อให้เกิดสิ่งพิเศษขึ้นมา
อธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า “ไม้กลายเป็นหิน” คืออะไร
“ไม้กลายเป็นหิน” คือ ไม้ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่กลายสภาพมาเป็นหิน เนื่องจากเนื้อไม้เดิมถูกแทนที่ด้วยแร่ธาตุต่างๆ จากสารละลายในน้ำใต้ดิน ซึ่งไม้กลายเป็นหินนั้นจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 10,000 ปี จนถึง 400 ล้านปีก่อน
ไม้กลายเป็นหินในแหล่งต่างๆ ของโลก ส่วนใหญ่เกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ เช่น เถ้าถ่านหรือฝุ่นภูเขาไฟซึ่งมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ปกคลุมพื้นที่ป่าไม้หรือที่ราบที่มีท่อนไม้ฝังอยู่ หรือเกิดจากอิทธิพลของน้ำท่วม ทำให้ต้นไม้ถูกกระแสน้ำพัดพามาทับตะกอนกรวด ทราย ดิน และตกจมทับถมในระดับลึก ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้จะขาดแคลนออกซิเจนและจุลินทรีย์ ทำให้การสลายตัวผุพังของไม้เกิดขึ้นช้ามาก น้ำใต้ดินซึ่งมีสารละลายแร่ธาตุอยู่มากก็จะแทรกซึมเข้าไปในช่องว่าง หรือแทนที่เซลล์ของไม้ จนกระทั่งกลายเป็นหินทั้งหมดในที่สุด
แล้วในประเทศไทยมีไม้กลายเป็นหินหรือไม่? คำตอบคือ.. มี และส่วนใหญ่จะพบในภาคอีสาน โดยมีสมมติฐานว่าอาจจะเกิดจากสารละลายที่มาจากหินที่เป็นด่าง หรือ อาจเกิดจากสารละลายที่มาจากน้ำแร่ร้อน (ซึ่งในภาคอีสานของไทยก็เคยมีภูเขาไฟที่ทำให้เกิดน้ำแร่ร้อนใต้ผิวโลกได้)
ใครที่อยากเห็นว่า “ไม้กลายเป็นหิน” นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ในรูปแบบใดบ้าง ก็ต้องมาที่ภาคอีสาน และต้องมาที่ “พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” ที่ จ.นครราชสีมา แห่งนี้ เพราะที่นี่รวบรวมความรู้ และรวบรวมไม้กลายเป็นหินจากแหล่งต่างๆ มาให้ได้ชมกัน
และที่พิเศษสุดก็คือ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินที่โคราชแห่งนี้ ยังเป็น 1 ใน 8 พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินของโลก
“พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เริ่มเปิดให้เข้าชมในปี 2545 และมีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2551
โดยภายในพื้นที่นี้ จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน , พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ และ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์
จากบริเวณทางเข้า เมื่อบัตรเข้าชมแล้วก็จะเริ่มต้นกันที่ “พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” และห้องแรกที่จะได้เจอคือ ห้องเกียรติคุณไม้กลายเป็นหิน เป็นห้องที่รวบรวมไม้กลายเป็นหินตระกูลปาล์มและไม้กลายเป็นหินจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงไม้กลายเป็นหินที่พบในประเทศไทยด้วย ภายในมีการจำลองส่วนประกอบของลำต้นพืชและจำลองเป็นท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ให้นักท่องเที่ยวสไลด์ลงมาซึ่งเป็นจุดไฮไลท์จุดแรกที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
ถัดมาจะเป็น ห้องฉายแอนิเมชัน 5 มิติ เป็นเรื่องราวของจักรวาลและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่จะฉายให้ชมเป็นรอบๆ ความน่าตื่นเต้นอยู่ตรงที่เราจะได้สัมผัสการเคลื่อนไหวและลมร้อนในช่วงอุกกาบาตชนโลกหรือภูเขาไฟระเบิด จากนั้นในห้องถัดไป ห้องกำเนิดไม้กลายเป็นหิน ก็จะมีการจะลองการเกิดของไม้กลายเป็นหินให้เราเข้าใจได้แบบง่ายๆ
ส่วนบริเวณ นิทรรศการไม้กลายเป็นหินอัญมณีของโคราช ที่ชวนเดินชม เพราะจุดนี้จะแสดงให้เห็นว่าไม้กลายเป็นหินหน้าตาเป็นอย่างไร มีไม้กลายเป็นหินมะค่าโมงที่มีการตัด ขัด เคลือบเงา เพื่อให้เห็นสีสันที่สวยงามของเนื้อไม้ที่มีลักษณะเป็นเนื้อโอปอล ที่มีความสวยงามของอัญมณีไม้กลายเป็นหิน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นหรือเป็นไฮไลต์ของไม้กลายเป็นหินจากจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงการนำฟอสซิลไม้กลายเป็นหินมาตกแต่งให้เป็น เครื่องประดับ เครื่องมือ เครื่องใช้ นอกจากนั้นยังมีไม้กลายเป็นหินจากยุคต่างๆ มาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย
จากไม้กลายเป็นหิน เดินลอดถ้ำมาต่อกันที่ “พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์” ที่โซนนี้จะจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ของช้างและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ออกจากถ้ำมาก็จะเจอกับ ห้องวีดิโอช้างดึกดำบรรพ์โคราช แสดงเรื่องราวของช้างดึกดำบรรพ์และบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ ของโคราช ซึ่งจะได้เห็นสภาพแวดล้อมสมัยโบราณที่ช้างดำรงชีวิตอยู่ โดยจำลองจากแหล่งที่พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ชนิดต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสัตว์ร่วมยุคและการสูญพันธุ์ของช้างดึกดำบรรพ์
จากนั้นมาชม โครงกระดูกช้างพลายยีราฟ เป็นช้างเอเชียปัจจุบันที่มีชิ้นส่วนโครงกระดูกที่สมบูรณ์โดยมีความสูงมากถึง 3 เมตร คาดว่าน่าจะเป็นช้างปัจจุบันที่มีขนาดสูงที่สุดในประเทศไทย ถ้าไปยืนเทียบใกล้ๆ ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่ามีขนาดใหญ่จริงๆ
ในบริเวณเดียวกันยังมี ฟอสซิลฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์จากต่างประเทศ ทั้งจากพม่า และช้างในเขตหนาว รวมไปถึงฟอสซิลฟันช้างดึกดำบรรพ์โคราช จากแหล่งที่พบบ่อดูดทราย ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณ 16 ล้านปีก่อน จนถึง 10,000 ปีก่อน ขุดพบทั้งหมด 10 สกุลจาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก นับได้ว่านครราชสีมาเป็นแหล่งช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสกุลที่สุดในโลก
อีกจุดที่ไม่ควรพลาดคือ โครงกระดูกช้างแมมมอธจากประเทศจีน ฟอสซิลจริงถูกพบในมองโกเลีย ประเทศจีน เป็นแมมมอธในเขตอบอุ่นที่มีความสูงถึง 5 เมตร ซึ่งคาดว่าเป็นแมมมอธที่สูงมากที่สุดในโลก และยังมีมุมเล่นสนุกให้ทดลองดึงเชือกเพื่อขยับส่วนต่างๆ ของร่างกายช้าง
ส่วนจัดแสดงสุดท้ายคือ “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์” ออกผจญภัยไปกับดินแดนของไดโนเสาร์ มาทำความรู้จักกับไดโนเสาร์ ยุคต่างๆ ของไดโนเสาร์ ตั้งแต่การถือกำเนิดไปจนถึงการสูญพันธุ์
เดินต่อมาเจอเจ้าไดโนเสาร์ตัวโต เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก และเป็นไดโนเสาร์ฟันฉลามตัวแรกที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใกล้ ๆ กัน พบกับหุ่นจำลองเคลื่อนไหวได้ของไดโนเสาร์เด่นของโคราช ไดโนเสาร์กินเนื้อและไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์แม่ลูก
ถัดจากไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ ก็จะมีการจัดแสดงกะโหลกและโครงกระดูกจำลองของไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ, นิทรรศการปลาพันธุ์ใหม่ของโลก โคราชอิกธีส จิบบัส เป็นปลายุคจูราสสิคที่เก่าแก่มากสุดในจังหวัดนครราชสีมา, ไดโนเสาร์สิรินธรน่า โคราชเอนซิส เป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ กินพืชค้นพบที่แรกที่โคราช และปิดท้ายที่ โครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด ตัวใหญ่หางยาวไปจนถึงทางออกของพิพิธภัณฑ์กันเลยทีเดียว
* * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” ตั้งอยู่ที่ ถ.มิตรภาพ - หนองปลิง บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ. นครราชสีมา เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 09.00-15.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-4437-0739, 08-0165-1070 Facebook : พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline