xs
xsm
sm
md
lg

“เบตง” บินตรง...เที่ยวตัวเมือง “Small Is Beautiful” เช็กอินหอนาฬิกา ตื่นตาอุโมงค์เบตงฯ โฉมใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


4 แยกหอนาฬิกา ศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งตัวเมืองเบตง
...ชวนเที่ยวตัวเมืองเบตง สัมผัสเสน่ห์เมืองเล็ก ๆ แต่น่ารัก ประเภท “Small Is Beautiful” นำโดยหอนาฬิกาสุดคลาสสิก ตู้ไปรษณีย์สีแดงในตำนาน สตรีทอาร์ตมีชีวิต และ อุโมงค์เบตงฯ ที่วันนี้ปรับโฉมใหม่ติดไฟสว่างมีงานศิลปะประดับภายใน น่าเดินเที่ยวชมมาก...

เบตง” ชื่อนี้หมายถึง “ไม้ไผ่” หรือ “ไผ่ตง” ในภาษามลายู (Buluh Betong)

พลันที่เดินทางลัดฟ้าจากกทม. มาถึงยังสนามบินเบตง (ท่าอากาศยานเบตง) ผมก็ได้เจองานดีไซน์ไม้ไผ่ประดับอยู่ทั่วไปในสนามบินแห่งนี้ ที่ดูแล้วมีความสวยเก๋เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนี่ถือเป็นสนามบินหนึ่งเดียวในเมืองไทย ที่ตกแต่งด้วยคอนเซ็ปต์ไม้ไผ่ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของความเป็นเบตงให้คนต่างถิ่นรับรู้อย่างเด่นชัด

อย่างไรก็ดีวิถีการกำเนิดเติบโตของสนามบินเบตงใช่ว่าจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ต้องเผชิญกับดราม่าชนิดตับแทบพัง ก่อนที่จะเคลียร์กันลงตัว จนนำมาสู่การเปิดเที่ยวบินตรงของสายการบิน “นกแอร์” เส้นทางไป-กลับ “กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง” ที่มาพร้อม ๆ กับ แคมเปญ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ที่จัดเป็นแพกเกจท่องเที่ยวเบตงครบวงจร ทั้งตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว (+ไกด์) นำเที่ยวสถานที่ไฮไลท์ในเบตง พร้อมกินอาหารท้องถิ่นสไตล์เบตง และที่พักหลากหลายรูปแบบ

สนามบินเบตง สนามบินที่ตกแต่งด้วยคอนเซ็ปต์ไม้ไผ่หนึ่งเดียวในไทย
ตัวผมเองแม้จะเคยมาเบตงหลายครั้ง แต่การได้นั่งเครื่องบิน บินตรงมาลงเบตงครั้งแรกมันก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นไม่เบา

...สถานที่บางแห่งแม้เราจะมาบ่อยจนคุ้นเคย แต่หากเปลี่ยนบรรยากาศการเดินทางมา มันก็เป็นการเปลี่ยนอรรถรส ช่วยเพิ่มเสน่ห์สีสันความแปลกใหม่ให้กับการเดินทางได้ไม่น้อย...

เดินชิลล์ เที่ยวเมืองเบตง


ตัวเมืองเบตงตั้งอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา
อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

อำเภอเบตงมีพื้นที่สวนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีบรรยากาศคล้ายกับจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย อีกทั้งยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม แถมยังมีหมอกให้ชมกันตลอดทั้งปีเฉกเช่นดังคำขวัญประจำอำเภอ

เบตงวันนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวฮอตฮิตของดินแดนด้ามขวาน เพราะหลังจากมีเครื่องบินบินตรงมาลง และเปิดด่านชายแดน (พร้อมยกเลิกไทยแลนด์พาส) ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลย์เดินทางมาเยือนเบตงกันอย่างคึกคัก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเบตงที่เคยซบเซาช่วงโควิดให้กระเตื้องขึ้นมาได้มากโข

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในเบตงแบ่งเป็น 2 โซนหลัก คือ โซน “ในเมือง” กับ “นอกเมือง” ซึ่งผมขอเริ่มแนะนำ (ตอนแรก) จากโซนในเมืองหรือในตัวเมืองกันก่อน

อาคารตึกหลากสี กลางเมืองเบตง
ตัวอำเภอเบตงตั้งอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะที่มีขุนเขาแวดล้อม ตัวเมืองเบตง (เขตเมืองเก่า) เป็นตัวเมืองเล็ก ๆ แต่จัดอยู่ในประเภท “Small Is Beautiful” เพราะเป็นเมืองที่มีวิถีสีสัน และมีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวกันเพียบ

แถมที่เที่ยวส่วนใหญ่ในตัวเมืองเบตงจะอยู่ไม่ไกลกัน นำโดยบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา ที่มี “หอนาฬิกาเบตง” ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

หอนาฬิกาเบตงนอกจากจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเมืองเบตงแล้ว ยังเป็นย่านศูนย์กลางการค้าขายทั้งกลางวัน-กลางคืน และศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเบตงอีกด้วย

หอนาฬิกาเบตง 1 ใน สัญลักษณ์ที่อยู่คู่เบตงมาช้านาน
หอนาฬิกาเบตง ตั้งอยู่เป็นวงเวียนกลางจุดตัดระหว่างถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ เป็นสถาปัตยกรรม หินอ่อนสีขาวนวลในสไตล์ไทยผสมจีน มีรูปทรงสมส่วนดูสวยงามคลาสสิกที่อยู่คู่กับเมืองเบตงมาช้านาน

รอบข้างด้านบนหอนาฬิกาแม้จะมีสายไฟพาดโยงเต็มพรึ่ด แต่นี่กลับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองแห่งนี้ เพราะในช่วงราวเดือน ก.ย.-มี.ค. ของทุก ๆ ปี จะมี “นกนางแอ่น” หนีหนาวจากไซบีเรียมายังเบตง พอตกเย็นไปถึงค่ำเจ้านกพวกนี้มันจะมาเกาะเรียงรายบนสายไฟ พร้อมส่งเสียงร้องเซ็งแซ่

นกนางแอ่นบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา อีกหนึ่งเอกลักษณ์แห่งเบตง
เท่านั้นยังไม่พอพวกมันยังปล่อยสิ่งมงคลลงมาสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวที่มาเดินบริเวณนี้ หากใครได้รับสิ่งมงคลเหล่านี้ เป็น “ขี้นกนางแอ่น” ที่ตก ปุ๊ ปุ๊ ลงใส่หัวหรือตัว นั่นแสดงว่าคุณได้มาถึงเบตงโดยสมบูรณ์แบบแล้ว ยิ่งหากมันตกใส่ของกิน ขนม โรตี หรือลูกชิ้นที่ยืนกินแล้วนั้นก็จะกลับไปคุยกับเพื่อน ๆ ได้ว่า “เบตง หรอยแรง” ไม่ได้ขี้หก

ที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาฯ มุมถนนสุขยางค์เป็นที่ตั้งของ “ตู้ไปรษณีย์สูง-ใหญ่” ที่เคยเป็น “ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ที่ใช้งานได้จริง มีความสูง ราว 2.9 เมตร ถ้ารวมฐานจะสูง 3.2 เมตร (ปัจจุบันเบตงมีตู้ไปรษณีย์ใหญ่ยักษ์กว่าสร้างขึ้นภายหลัง ตั้งอยู่หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งใหญ่กว่าเดิมถึง 3 เท่า)

ตู้ไปรษณีย์สีแดงสูง-ใหญ่ ในตำนาน
ตู้ไปรษณีย์สูง-ใหญ่ตู้นี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 โดยนาย “สงวน จารุจินดา” อดีตนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอเบตง เพื่อสื่อสัญลักษณ์ว่า เบตงในอดีตการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกลำบากมาก

แต่เมื่อสร้างเสร็จต่อมาในยุคหลัง ตู้ไปรษณีย์สีแดงสูงใหญ่ตู้นี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองเบตงไปโดยปริยาย ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มีคนไปส่งจดหมายส่งโปสการ์ดกันเป็นจำนวนมาก ส่วนมาในยุคนี้ก็ต้องไปเช็กอินที่ตู้ไปรษณีย์แห่งนี้เป็นที่ระลึกกัน

ถัดจากหอนาฬิกาฯไปไม่กี่สิบเมตร เป็น “อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์” ที่สร้างขึ้นเพื่อให้รถยนต์วิ่งลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย มีความยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร เชื่อมต่อระหว่างชุมชนเมืองเก่าเบตงกับชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว

อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์โฉมใหม่
ปัจจุบันอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ปรับปรุงโฉมใหม่ ภายในอุโมงค์ติดไฟสว่าง พร้อมตกแต่งด้วยงานอะลูมิเนียมฉลุลาย ทำเป็นรูปสัญลักษณ์และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของเบตง ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินคู่เมืองเบตงที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

เมื่อนั่งรถหรือเดินลอดอุโมงค์จากฝั่งหอนาฬิกาไปทะลุฝั่งเมืองใหม่แกรนด์วิว จะพบกับ “สวนสาธารณะเทศบาลตำบลเบตง” หรือ “สวนสุดสยาม” ที่มีพื้นที่กว้างขวาง บริเวณด้านหน้าสวนมีประติมากรรม “ไก่เบตง” ตัวอวบเหลืองยืนอวดโฉม ใกล้ ๆ กัน เป็นป้าย “เบตง ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

ประติมากรรม “ไก่เบตง” สัญลักษณ์ความอร่อยคู่เบตง
ข้าง ๆ ป้ายด้านหนึ่งมีรูปปั้น “พี่ตูน บอดี้สแลม” (อาทิวราห์ คงมาลัย) ยืนเคียงคู่ ซึ่งชาวเบตงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พี่ตูนจากโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เบตง-แม่สาย ที่มาออกสตาร์ทเริ่มต้นนำวิ่งที่บริเวณนี้

ถัดจากรูปปั้นไก่เบตงขึ้นไป เป็น “สนามกีฬาเบตง” และ “พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง” ที่ตั้งอยู่บนเขา สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ในสไตล์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์ ตัวอาคารมี 3 ชั้น ส่วนหลังคาสร้างซ้อนหลายชั้นลดหลั่นกันไป

พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง
ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะเป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะวัตถุ และข้อมูลบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองเบตงแล้ว ที่ชั้น 3 ยังมีหอคอยชมวิว ซึ่งสามารถมองลงมาเห็นเมืองเบตงได้อย่างสวยงามกว้างไกล โดยเฉพาะมุมมองต่อบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา บนนี้ถือเป็นที่หนึ่งเลยทีเดียว

สำหรับบริเวณตั้งแต่หอนาฬิกา ตู้ไปรษณีย์ เรื่อยมาลอดผ่านอุโมงค์เบตงฯ มาทะลุทางฝั่งเมืองใหม่ เราสามารถเดินทอดน่องเที่ยวชิลล์ ๆ ถ่ายรูปเช็กอินตามจุดต่าง ๆ ได้อย่างสบาย ถือเป็นการออกกำลังไปในตัวในการเดินทัวร์เมืองเล็ก ๆ แต่น่ารัก และมากไปด้วยเสน่ห์กระไรปานนั้น

เบตง เมืองงามสามวัฒนธรรม


วัดเจ้าแม่กวนอิม
เบตง เป็นหนึ่งในเมืองงามสามวัฒนธรรมแห่งดินแดนด้ามขวาน ประกอบไปด้วยวัฒนธรรม ไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม ที่นี่จึงมีศาสนสถานของทั้ง 3 วัฒนธรรมให้เที่ยวชมกัน ไม่ว่าจะเป็น “มัสยิดกลาง” (มุสลิม) ที่ตั้งอยู่บนถนนสุขยางค์ เยื้อง ๆ กับที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข

วัดโพธิ์สัตโตเจ้าแม่กวนอิม” หรือ “วัดเจ้าแม่กวนอิม” (ไทยจีน) ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสวนสุดสยาม ภายในวัดนอกจากจะประดิษฐานองค์เข้าแม่กวนอิมและเทพเจ้าองค์อื่น ๆ แล้ว โดดเด่นไปด้วยเจดีย์ 7 ชั้นที่ตั้งตระหง่าน ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวจีน-มาเลย์ เดินทางมากราบไหว้ขอพรองค์เจ้าแม่กวนอิมที่วัดแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก

ส่วนศาสนสถานสำคัญของไทยพุทธในเมืองเบตงก็คือ “วัดพุทธาธิวาส” ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา บนถนนรัฐกิจ ไม่ไกลจาก 4 แยกหอนาฬิกาเท่าใด

พระพุทธธรรมกายมงคลปยุรเกศานนท์สุพพิธาน
วัดพุทธาธิวาส เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของเมืองเบตง ภายในวัดมีการสร้างสิ่งต่าง ๆ ไล่เรียงไปตามระดับของเนินเขา เริ่มตั้งแต่ “พระพุทธธรรมกายมงคลปยุรเกศานนท์สุพพิธาน” ที่ตั้งอยู่ริมถนนโดดเด่น เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง 14.29 เมตร ขนาดหน้าตัก กว้าง 9.99 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเบตง

จากองค์พระใหญ่เดินไล่ไต่ขึ้นไปตามเนินเขาจะเป็นส่วนของโบสถ์ “วิหารหลวงปู่ทวด” (เหยียบน้ำทะเลจืด) และ “วิหารพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” ที่อยู่ในระนาบเดียวกันให้สักการะบูชา

จากนั้นเดินบันไดสูงไปอีกจะเป็นที่ตั้งของ “พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ” ที่ชื่อมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงประกาศเป็นชื่อ” เจดีย์องค์นี้มีสีทองอร่าม สร้างด้วยศิลปะศรีวิชัยประยุกต์อันสวยงามสมส่วน และใหญ่ที่สุดในภาคใต้ กว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร

พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ
ภายในองค์พระธาตุเจดีย์มี 3 ชั้น ชั้นล่างประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ชั้น 2 ประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธธรรมประกาศ” ส่วนชั้น 3 ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ที่ข้าง ๆ องค์เจดีย์ยังมี ต้นจำปีที่ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงปลูกเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธปฏิมากรภายในพระอุโบสถ และทอดพระเนตรการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้

พระพุทธธรรมประกาศ (ชั้น 2)
สตรีทอาร์ตมีชีวิต

ในตัวเมืองเบตงยังมี “สตรีทอาร์ต” เป็นอีกหนึ่งสีสันดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเช็กอินกันไม่รู้เบื่อ

สตรีทอาร์ตเมืองเบตง เริ่มต้นวาดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เนื่องในโอกาสงานฉลอง 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง ต่อมาในช่วงปี 2563 ก็ได้มีโครงการ “ATM Spray X Betong Street Art” ที่เป็นการรวมศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตระดับแนวหน้าของประเทศไทยกว่า 30 ชีวิต มาร่วมสร้างสีสันบนผนังอาคารใจกลางเมืองเบตง จากนั้นก็ภาพศิลปะบนผนังเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวอันโดดเด่นของเบตงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวันนี้ภาพสตรีทอาร์ตเมืองเบตงก็ยังคงมีการวาดเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ ตามพื้นที่ว่างต่าง ๆ

นักท่องเที่ยวร่วมแจมกับภาพสตรีทอาร์ตเมืองเบตง
ภาพสตรีทอาร์ทเมืองเบตงมีจุดเด่นตรงที่เป็นการนำวิถีวัฒนธรรมของชาวเบตง สถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกิน และอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของเมืองเบตงมานำเสนอผ่านงานศิลปะได้อย่างสวยงาม

ภาพงานศิลปะสตรีทอาร์ตเมืองเบตง สื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเบตงที่ผสมผสานอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนสงบงาม ผ่านงานศิลปะให้คนทั่วไปได้รับรู้

นอกจากนี้ภาพบุคคลหลายคนที่ปรากฏบนสตรีทอาร์ตคือคนเบตงที่มีอยู่จริง หลายคนยังมีชีวิตอยู่ และบางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว จนหลาย ๆ คนยกให้สตรีทอาร์ตที่นี่เป็น “สตรีทอาร์ตมีชีวิต” กันเลยทีเดียว

และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจเด่น ๆ ของตัวเมืองเบตง เมืองเล็ก ๆ น่ารัก ประเภท “Small Is Beautiful” ที่ยังคงมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดอยู่มิเสื่อมคลาย สมดังฉายา

“เบตง ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

สตรีทอาร์ตมีชีวิตแห่งเบตง
################################

ปัจจุบันการเดินทางสู่เบตงสามารถไปได้ทั้งทางรถยนต์ และทางเครื่องบิน โดยมีสายการบิน “นกแอร์” เครื่องบิน Q-400 จำนวน 86 ที่นั่ง บินตรงไป-กลับ “กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง” สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ได้แก่ วันอังคาร ศุกร์ และ อาทิตย์ ผู้สนใจดูรายละเอียดเที่ยวบินและแพกเกจ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ได้ที่ www.nokair.com
หรือที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Nok Air

นอกจากนี้ผู้สนใจยังสามารถสอบถาม ข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในพื้นที่อำเภอเบตง และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส (ดูแลพื้นที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี) โทร.0 7354 2345 - 6


ปัจจุบันเบตง มีสายการบินนกแอร์ บินตรงไป-กลับ กรุงเทพฯ-เบตง สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน




กำลังโหลดความคิดเห็น