16 มิถุนายน “วันเต่าทะเลโลก” (World Sea Turtle Day) ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลจากยุคดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้ มีหลักฐานการอาศัยอยู่ทั่วไปเมื่อ 130 ล้านปีก่อนในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ปัจจุบันมี 7 ชนิดได้แก่ เต่าหลังแบน เต่าหญ้าแอตแลนติก เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน และเต่ามะเฟือง
ส่วนเต่าทะเลที่พบในเมืองไทยเคยมี 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้าหรือเต่าสังกะสี ส่วนเต่าหัวค้อน ไม่พบมานานแล้ว และคาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย
เต่าทะเลถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของความสมบูรณ์ของท้องทะเล และเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเทศทางทะเลเป็นอย่างมาก โดยในประเทศไทย เต่ามะเฟืองได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนเต่าทะเลชนิดที่เหลืออยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ชวนมาเรียนรู้ความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเล กับ 5 สถานที่ท่องเที่ยวในไทย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา
จังหงัดพังงา ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลไทย โดยมีสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเข้าไปชมและเรียนรู้ ได้แก่
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา บริเวณหาดท้ายเหมือง จ.พังงา นับเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยที่โดดเด่นเรื่องของการอนุบาลเต่าตนุ เมื่อทางศูนย์วิจัยฯได้ลูกเต่าตนุที่ฟักออกมา( ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการฟักของอุทยานฯหาดท้ายเหมือง) จะนำมาเข้าสู่กระบวนการอนุบาลโดยนำลูกเต่ามาเลี้ยงไว้ในบ่อพัก ซึ่งบริเวณนี้นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอเข้าชมได้
เต่าเมื่อมีอายุราว 8 เดือน จะได้รับการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพราะเป็นช่วงอายุที่พอจะเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นนก หรือปลาขนาดใหญ่ ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯได้มีโครงการให้นักท่องเที่ยวสามารถบริจาคเงินเพื่อปล่อยเต่าได้(ในจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าค่าเลี้ยงดูเต่า) โดยผู้บริจาคจะเป็นเหมือนเจ้าของเต่ากลายๆ เพราะมีการลงชื่อ ลงทะเบียน และฝังชิปติดตามเต่าไว้ มีการให้อีเมลของผู้ปล่อยเพื่อทางศูนย์จะได้คอยส่งข้อมูลให้กับผู้ปล่อยเต่า
จากศูนย์วิจัยไปราว 30 กม. เป็นที่ตั้งของ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา นักท่องเที่ยวสามารถชมบ่ออนุบาลเต่า เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการปฏิบัติงานการอนุรักษ์เต่าทะเลของกองทัพเรือ มีการอนุบาลเต่าหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งเต่าตนุ เต่าหญ้า และเต่ากระ รวมทั้งวงจรชีวิตของเต่าทะเล
นอกจากนี้จังหวัดพังงายังมีโครงการงานประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี
กองทัพเรือได้สงวนพื้นที่เกาะในอ่าวสัตหีบ นั่นก็คือเกาะคราม เกาะอีร้า และเกาะจาน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ชุกชุม ไว้เป็นที่สำหรับให้แม่เต่าขึ้นวางไข่โดยเฉพาะ และจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือขึ้น ภายใต้การดูแลของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นแหล่งอนุบาลเต่าทะเลก่อนที่จะนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ
อาคารนิทรรศการ เป็นอาคารทรงโดม มีวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเล ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเต่า ส่วนบ้านเต่าทะเล เป็นอาคารโปร่งมีหลังคา มีระเบียงเหล็กกั้นส่วนของบ่อเต่า คล้ายสระน้ำ และมีกระจกใสกั้นให้ได้เห็นเต่าตัวโตแหวกว่ายน้ำกันแบบชัดๆ จุดนี้ยังสามารถชมเต่าทะเลได้อย่างใกล้ชิด
โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เกาะมันใน จังหวัดระยอง
เดิมเกาะมันในเคยเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2518 พระองค์ได้พระราชทานเกาะนี้ให้กรมประมง และมีพระราชประสงค์เพื่อให้อนุรักษ์เต่าทะเลโดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
บนเกาะมันในนี้เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก” ที่เป็นสถานที่อนุบาลลูกเต่าทะเลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล โดยมี “อาคารพิพิธภัณฑ์เต่าทะเล” จัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเลให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ ใกล้ตัวอาคารจะเป็น “บ่ออนุบาลเต่า” ที่เป็นบ่อคอนกรีตใช้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ลูกเต่าตัวน้อย ไล่ไปถึงบ่อของเต่าวัยเจริญพันธุ์ เต่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตัวใหญ่หลายขนาด อายุนับสิบปีหลากสายพันธุ์จัดแสดงให้ชม
ชมรมเกาะทะลุ และเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เกาะทะลุ เป็นเกาะกลางอ่าวไทยในเขต อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกาะอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 7 กิโลเมตร นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญที่มี “เต่ากระ” ขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี
กองทัพเรือ ชมรมเกาะทะลุ และเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท ที่เห็นความสำคัญของพื้นที่ของเกาะทะลุ จึงร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์อนุบาลเต่าทะเลขึ้น โดยคาดหวังว่าจากกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้ทำไป นอกจากจะสามารถช่วยให้ปริมาณเต่ากระเพิ่มมากขึ้นจากเดิมแล้ว ยังสามารถอนุรักษ์พันธุ์เต่ากระไว้ได้อีกด้วย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline