xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวกรุงสไตล์ “Dark Tourism” ภายใต้แนวคิด “โศกนาฏกรรมกับชีวิตหลังความตายใต้เงาพระนคร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดพลับพลาไชย
เดินเที่ยวกรุงในสไตล์ดาร์กๆ แบบ “Dark Tourism” ไม่ว่าจะเป็นชมวัดเก่าแก่จากเงินแม่เล้าโสเภณี ศาลเจ้าที่เกี่ยวข้องกับศพไร้ญาติ วัดที่เคยเป็นลานประหารนักโทษ ฌาปนสถานสำคัญของกรุงเทพ กุโบร์หรือสุสานชาวอิสลามใจกลางเมือง


การท่องเที่ยวมักทำให้เรารู้สึกได้พักผ่อนหย่อนใจ แต่การท่องเที่ยวที่เรียกว่า “Dark Tourism” อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เข้าไปชมสถานที่หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรม ความตาย ภัยพิบัติ หรือความหม่นเศร้าต่างๆ อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวสไตล์นี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป เพราะสถานที่หลายแห่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์สำคัญ มีเรื่องราวแฝงข้อคิดเตือนใจ และยังได้รับความรู้ในมุมมองใหม่ๆ

สำหรับกรุงเทพฯ ก็มีสถานที่รูปแบบ “Dark Tourism”ให้ชมมากมาย เมื่อไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดเส้นทางเดินเที่ยวกรุง ภายใต้แนวคิด “โศกนาฏกรรมกับชีวิตหลังความตายใต้เงาพระนคร” ให้เหล่านักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบเรื่องราวดาร์กๆ ได้ออกไปตามรอย

พระอุโบสถวัดคณิกาผล
วัดคณิกาผล พุทธสถานจากเงินของหญิงงามเมือง (ถนนพลับพลาไชย)

วัดสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งนี้ เกิดขึ้นจากการสร้างของ “ยายแฟง” (หรือ ย่าแฟง) ผู้เป็นแม่เล้าโสเภณีแห่งย่านตรอกเต๊า (เจริญกรุง ซอย 14) ความร่ำรวยของยายแฟงมาจากเงินของหญิงบริการ อาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับสถานะในสังคม โดยนำเงินมาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2376 ชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ก่อนจะได้รับพระราชทานนามใหม่ในสมัย รัชกาลที่ ๔ ชื่อ “วัดคณิกาผล” อันมีความหมายว่า วัดที่สร้างด้วยผลประโยชน์ของหญิงงามเมือง

อาจกล่าวได้ว่าเงินสร้างวัดของยายแฟงเป็นเงินบาป ดังนั้นเมื่อยายแฟงนิมนต์ “มหาโต”ไปเทศน์ในงานสมโภชวัด ( มหาโต ในเวลาต่อมา คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือ หลวงปู่โต แห่งวัดระฆัง) มหาโตท่านจึงเทศน์ไปว่า “เจ้าภาพทำบุญด้วยทุนรอนจากผลเช่นนี้ (เงินจากโรงโสเภณี) ยายแฟงจึงได้อานิสงส์เพียงสลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น

รูปหล่อยายแฟง วัดคณิกาผล
ต่อมาเมื่อยายแฟงนิมนต์ “ทูลกระหม่อมพระ” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ครั้งเมื่อทรงผนวช) จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเทศน์เพื่อหวังจะแก้หน้าจากการเทศน์ของมหาโต แต่ทูลกระหม่อมพระ ทรงเทศนาไปในแนวทางเดียวกันว่า “ถ้าเป็นความเห็นของอาตมาแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียงสองไพเท่านั้น”

เรื่องราวจากอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และเจ้าภาพก็ได้บุญไปเพียงน้อยนิด แต่วัดคณิกาผล ก็เป็นวัดโบราณมีสิ่งสำคัญที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถหลวงพ่อทองคำ พระวิหารหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่ ๓ และมีรูปหล่อของยายแฟง ซึ่งมีคนนำของไหว้บูชา ด้วยความเชื่อว่าขอพรเรื่องความรัก โชคลาภ และการงาน

รูปหล่อหลวงปู่ไต้ฮงกง
ศาลเจ้าไต้ฮงกง นักบุญแห่งผู้ยากไร้และศพไร้ญาติ (ถนนพลับพลาไชย)
ศาลเจ้าซึ่งเกิดจากความศรัทธาที่มีต่อ “ไต้ฮงโจวซือ” หรือ “ไต้ฮงกง” บุคคลซึ่งมีตัวตนอยู่จริงสมัยราชวงศ์ซ่ง ท่านรับราชการเป็นขุนนางจนกระทั่งอายุ 54 ปี จึงตัดสินใจบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เมื่อธุดงค์มาที่เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งมีภัยพิบัติบ่อยครั้งผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่านได้ชักชวนสานุศิษย์สร้างศาลาให้คนเจริญจิตภาวนา และใช้สำหรับแจกจ่ายยารักษาโรคในช่วงที่เกิดโรคระบาดหนัก อีกทั้งยังชวนสานุศิษย์ออกเก็บศพ และรวบรวมเงินเพื่อทำโลงศพให้ผู้ยากไร้ก่อนนำไปฝัง

ในเมืองยังมีแม่น้ำเหลียงเจียงที่เชี่ยวกรากซึ่งผู้โดยสารเรือประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำบ่อยครั้ง หลวงปู่ไต้ฮงกง
จึงนำเรือต่อกันเป็นสะพาน ใช้เรือแล่นเลียบสะพานเพื่อให้คนปลอดภัยจากการข้ามฟาก และสร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำจนสำเร็จ

สถาปัตยกรรมภายนอกศาลเจ้าไต้ฮงกง
เมื่อหลวงปู่ไต้ฮงกงมรณภาพ ชาวจีนได้สร้างกุศลศาลาอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงชื่อว่า “ป่อเต็กตึ๊ง” มีความหมายว่า อนุสรณ์แด่ผู้มีคุณความดี สำหรับเมืองไทย ศิษยานุศิษย์ชาวจีนได้อัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงกงมาในปี พ.ศ. 2439 ประดิษฐานที่ร้านกระจก ย่านวัดเลียบ ก่อนจะย้ายไปประดิษฐาน ณ สุสานวัดดอนกุศล (สุสานเก่าของมูลนิธิฯ)

ในปี 2452 สานุศิษย์ คหบดีเชื้อสายจีน ได้รวบรวมเงินและจัดซื้อที่ดินสร้างศาลาประดิษฐานถาวร เป็นศาลเจ้าไต้ฮงกงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งศาลเจ้านี้ เป็นดั่งศูนย์รวมความศรัทธาของชาวมูลนิธิป่อเต๊กตึ้ง พร้อมทั้งสืบสานคุณความดีของหลวงปู่ฯ ด้วยงานสังคมสังเคราะห์ การศึกษา และการจัดการศพไร้ญาติ ปัจจุบันเป็นศาลเจ้าที่มีความสวยงาม มีผู้คนมากราบไหว้สักการะองค์เทพต่างๆโดยไม่ขาดสาย

ภายในศาลเจ้าไต้ฮงกง
วัดพลับพลาไชย ตำนานลานประหารตัดหัวนักโทษ (ถนนไมตรีจิตต์)
วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีตำนานความสยองขวัญด้วยประวัติศาสตร์ของลานหน้าวัดแห่งนี้เคยเป็นลานประหาร เนื่องจากเหล่านักโทษสามัญชนทั่วไปในสมัยก่อนไม่ประหารในเขตพระนคร หรือเขตพระราชฐาน ทางการจึงเลือกบริเวณใกล้ๆซึ่งคือลานหน้าวัดพลับพลาไชย

คดีประหารที่ลานวัด ซึ่งเลื่องลือมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ การประหาร “อีอยู่” หรือนางอยู่ ผู้เป็นเมียคุณพระ แต่ไปเล่นชู้กับทาสชาย ต่อมาทาสชายก็เล่นชู้กับ “อีเกลี้ยง” ทาสหญิงด้วยกัน เมื่อนางอยู่ทราบประกอบกับหลังจากนั้นโดนคุณพระจับความผิดได้ ด้วยพิษแห่งความหึงหวงรวมทั้งโมโหคิดว่าอีเกลี้ยงนำความไปฟ้องคุณพระ นางอยู่จึงลงโทษและทรมานอีเกลี้ยงจนถึงแก่ความตาย

วัดพลับพลาไชย
นางอยู่ให้ทาสคนอื่นรีบนำศพอีเกลี้ยงไปฝังที่วัด แต่ด้วยการตายที่ผิดปกติไม่ยอมให้สัปเหร่อตรวจสอบดูก่อน จึงหาวัดฝังไม่ได้ ทำให้ไม่รอดพ้นสายตาของพลเมืองดีที่นำความไปแจ้งกรมนครบาลให้มีการชันสูตรศพ จนกระทั่งสืบสาวความผิดทราบถึงสาเหตุ ก่อนจะนำไปสู่การพิจารณาคดีที่พิพากษาให้เฆี่ยนนางอยู่ 3 ยก (รวม 90 ครั้ง) และให้นำไปประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ

พระประธานในพระอุโบสถ วัดพลับพลาไชย
มีเรื่องเล่ากันว่างานประหารครั้งนั้น มีผู้คนแห่ไปดูเป็นจำนวนมากจนศาลาวัดหนึ่งพังลงมาแต่ไม่มีใครเป็นอะไร ส่วนนางอยู่เมื่อโดนตัดศีรษะก็ถูกนำไปเสียบประจาน พร้อมปล่อยให้ฝูงแร้งลงมากินศพ (สมัยก่อนชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่าวัดโคก หรือวัดโคกอีแร้ง เพราะเป็นเนินดินขนาดใหญ่สำหรับทำนา และมีแร้งจำนวนมาก) เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายยุคสมัย มีการขุดสร้างอาคารต่างๆละแวกนั้นจึงยังเคยมีการพบโครงกระดูกที่ไร้หัว รวมถึงเรื่องเล่าสยองขวัญที่โรงเรียนวัดพลับพลาไชย


พระเมรุหลวงวัดเทพศิรินทร์ ฌาปนสถานสำคัญ สมัย ร.๕ (ถนนหลวง)
อาคารทรงเรือนยอดแบบไทยที่ดูวิจิตร ตระหง่านอยู่กลางวัดเทพศิรินทร์ หรือ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นความงามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของความตาย เพราะนั่นคือ “พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์”ฌาปนสถานสำหรับพระราชทานเพลิงพระราชวงศ์ที่ไม่ได้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง พระศพเจ้านายฝ่ายใน ราชนิกุล ขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนสามัญชนทั่วไป

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างสุสานหลวงอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี หรือพระราชมารดาของพระองค์ ด้วยพระราชประสงค์ที่จะได้ไม่เป็นการสิ้นเปลืองสำหรับการสร้างฌาปนสถานแห่งใหม่ที่อื่น แต่จะได้มีฌาปนสถานถาวรสำหรับเจ้านายที่ไม่ได้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง หรือสามัญชนทุกชนชั้นก็สามารถใช้ได้ และยังใช้เป็นพระเมรุถวายพระเพลิงพระบุพโพ (น้ำของเสียจากร่างกาย) ของพระบรมวงศ์สำคัญที่บรรจุพระบรมศพหรือพระศพลงพระโกศ

ต่อมา สุสานหลวงก็เป็นสถานที่ปลงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ เมื่อ พ.ศ.2437 ซึ่งครั้งนั้นมีการสร้างที่ตั้งพระศพเป็นพลับพลาถาวร รัชกาลที่ ๕ พระราชทานนามว่า “พลับพลาอิศริยาภรณ์” สำหรับใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพงานอื่น ส่วนพระเมรุหลวงที่เห็นในปัจจุบัน เป็นการสร้างใหม่เพื่อให้เหมาะกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๙ และใช้ต้นแบบมาจากพระเมรุสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 10

กุโบร์มัสยิดมหานาค
กุโบร์มัสยิดมหานาค สุสานใหญ่ชาวอิสลามใจกลางกรุง (ถนนกรุงแมน)
“จากแผ่นดินเราได้บังเกิดพวกเจ้า และ ณ แผ่นดินนั้นเราจะให้พวกเจ้ากลับคืนไป” ข้อความจากพระคัมภีร์อัลกุรอานของชาวมุสลิม สื่อความหมายได้เป็นอย่างดีของหลักความเชื่อในศาสนาอิสลามเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ที่จะนำร่างของผู้วายชนม์กลับคืนสู่ผืนดิน

หากไม่ใช่คนในชุมชนมหานาค หรือไม่ใช่ชาวมุสลิม หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนเลยว่าใจกลางกรุงเทพฯ มี “กุโบร์” หรือสุสานของชาวมุสลิมเกือบ 10 ไร่ แบ่งเป็นสองฝั่งที่เสมือนโอเอซิสพื้นที่สีเขียวร่มรื่นขนาดใหญ่ สถานที่แห่งนี้เป็นกุโบร์ให้กับชาวชุมชนมหานาค รวมถึงชาวมุสลิมจากที่อื่นๆโดยไม่มีการแบ่งแยก

กุโบร์มัสยิดมหานาค
พื้นที่เขียวชอุ่มกลางเมือง เป็นสุสานที่เรียบง่ายตามวิถีความเชื่อของศาสนาอิสลาม ร่างของผู้ตายถูกฝังลึกลงไปประมาณ 2 เมตร ในลักษณะตะแคงข้างหันหน้าไปยังทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของกะบะฮ์ ในนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย บนหลุมศพมีใม้หรือเสาหินรูปร่างคล้ายใบเสมาปักไว้หัวและท้ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่งของหลุมศพ บรรยากาศของกุโบร์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด กลับเต็มไปด้วยความเงียบสงบ เรียบง่าย ร่มรื่น และทำให้ผู้มาเยือนตระหนักถึงสัจธรรมแห่งชีวิตที่ย่อมเกิดกับทุกคน

ศาลาอุรุพงษ์ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
ศาลาอุรุพงษ์ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร อนุสรณ์แด่ความอาลัย (ถนนพระราม 6)
วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร วัดเก่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเรียกว่าวัดนอก บ้างเรียกว่าวัดบรมสุข เนื่องจากตั้งอยู่นอกเมืองในยุคนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2377 เพื่อให้เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี หรือวัดป่า คู่กับวัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นวัดฝ่ายคามวาสี หรือวัดในชุมชน

หนึ่งในสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่เป็นอนุสรณ์แทนความอาลัยรัก คือ “ศาลาอุรุพงษ์" สถาปัตยกรรมทรงไทยยกพื้นสูง มีหน้ามุขสองมุข แต่งด้วยไม้จำหลัก มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งเจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ ๕ สร้างเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล “พระองค์เจ้าชายอุรุพงษ์รัชสมโภช” พระราชโอรสพระองค์โปรดของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไส้ตัน ขณะพระชนมายุได้เพียง 16 พรรษา

สถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของพระเกจิดัง
ศาลาแห่งนี้ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่มีนามว่า พระพุทธพิชิตมารมัธยมพุทธกาล ภายในมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์เจ้าชายอุรุพงษ์ และมีห้องอีกด้านหนึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของพระเกจิดังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัด

งานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส
นอกจากศาลาอุรุพงษ์แล้ว ภายในวัดบรมนิวาส มีสิ่งทรงคุณค่าไม่ควรพลาดชม คือ งานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถผลงานของ “ขรัวอินโข่ง” ยอดศิลปินในยุคนั้น ซึ่งนอกจากความวิจิตรทั้งภาพและสีสันแล้ว ยังเป็นการผสมผสานความเป็นตะวันตกกับตะวันออกไว้ในผลงาน พร้อมแฝงปริศนาธรรมอันลึกซึ้ง

พระอุโบสถ วัดบรมนิวาส
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการเดินทาง
เส้นทางเดินเที่ยวภายใต้แนวคิดนี้ เหมาะสำหรับคนที่ชอบเดินเที่ยวสำรวจประวัติศาสตร์ หรือสถานที่อันซีนในกรุงเทพฯ ซึ่งโปรแกรมทั้งหมดนี้ สามารถเดินเท้าได้จริงแบบวันเดย์ทริปจากเช้าถึงเย็น (มากหรือน้อยกว่านั้น แล้วแต่การใช้เวลาในแต่ละสถานที่)

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น