ย้อนรอยงาน “ดนตรีในสวน” ที่เริ่มครั้งแรกในกรุงเทพฯ สมัยผู้ว่ากฤษฎา และจัดต่อเนื่องเป็นประจำมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างความสุขในวันหยุดของคนเมือง พร้อมเปิดให้ชมฟรี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่ครองใจคนกรุงฯ มาเกือบ 30 ปี
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวฮอตในโลกออนไลน์ หลังกรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารของพ่อเมืองคนใหม่ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดงาน ”ดนตรีในสวน” ขึ้นในวันที่ 4-5 มิถุนายน 2565
โดยกิจกรรม ในวันเสาร์ที่ 4 มิ.ย.จัดขึ้นในเวลา 16.30-18.00 น. ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร เป็นการแสดงดนตรีในสวนในชื่องาน “ดนตรีในสวน เพื่อความสุขและความหวัง” จากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จำนวน 4 วง และศิลปินนานาชาติ อีก 1 วง นอกจากนี้ยังมี ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินสีน้ำคนดังมาวาดภาพร่วมไปกับการแสดงดนตรีด้วย
ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 5 มิ.ย.65 จัดขึ้นในเวลา 17.00 น. - 19.00 น. บริเวณสนามหญ้า ศาลาภิรมย์ภักดี (ศาลาแปดเหลี่ยม) สวนลุมพินี เขตปทุมวันกับการแสดงดนตรีแนวสวิงแจ๊ซ จากวง Stumbling Swingout และเพลงสวิงโดย DJ Kang
ทั้งนี้งานดนตรีในสวนวันแรก (4 มิ.ย.) ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังในโซเชียล เนื่องจากนายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ ได้ไปร่วมในกิจกรรมดังกล่าว พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ว่า
“ผมเชื่อว่า กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความหวัง มีสิ่งดี ๆ มากมายเพียงแต่เรายังไม่ได้เจียระไนมัน จะเห็นว่าสิ่งดี ๆ อย่างดนตรีในสวนวันนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณสักบาทเดียว แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจของคนกรุงเทพฯ ถึงแม้งบประมาณของกรุงเทพมหานครจะมีจำกัด แต่ไม่ใช่ปัญหา ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะรวมพลังกันได้ ผมนั่งน้ำตาซึมเพราะไม่อยากเชื่อว่าจะมีวันนี้ได้เร็วขนาดนี้ แล้วเราจะมีดนตรีในสวนแบบนี้ขยายไปในทุกๆสวน สวนชานเมือง สวนหลวงร.9 สวนในชุมชน สวนลานกีฬาชุมชนแออัด ทุกคนจะมีสิทธิได้ฟังดนตรี ได้เสพศิลปะเหมือนกันทุกคนในกรุงเทพฯ กราบขอบพระคุณทุกคนที่ช่วยกันทำให้กรุงเทพฯดีได้และน่าอยู่ได้ กราบขอบพระคุณครับ“ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวขณะร่วมดื่มด่ำกับบทเพลงดนตรีในสวนและบางช่วงก็โยกย้ายสร้างบรรยากาศสนุกสนานร่วมกับประชาชนที่มาร่วมชมดนตรี
สำหรับงานดนตรีในสวนถือเป็น 1 ใน 214 นโยบาย คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง มีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกคนมีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงศิลปินมีพื้นที่แสดงดนตรีและศิลปะการแสดง โดยการจัดงานดนตรีในสวนเมื่อวันที่ 4-5 มิ.ย. 65 ถือเป็นการจัดงานดนตรีในสวนครั้งแรกภายใต้การบริหารงานของนายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.
อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่การจัดงานดนตรีในสวนครั้งแรกใน กทม. (อย่างที่สื่อบางสำนักรายงาน) เนื่องจากงานดนตรีในสวนมีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่สวนลุมพินี ในช่วงปี 2536 ในสมัย “ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” เป็นผู้ว่าฯ กทม. หลังจากนั้นก็มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำเรื่อยมาในทุกผู้ว่าฯกทม. (ยกเว้นบางปีที่ที่มีโควิด-19 ระบาดหนัก) โดยจะขึ้นสู่ปีที่ 30 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาเปิดให้เข้าชมฟรีมาโดยตลอด
งานดนตรีในสวน เป็น 1 ใน นโยบายของ กทม. ที่เปิดให้ประชาชนที่ใช้บริการสวนสาธารณะหลาย ๆ แห่ง ได้รับประโยชน์จากหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย ตลอดจนการแสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรม นันทนาการ และการแสดง “ดนตรีในสวน” โดยกิจกรรมนี้มี มีกองสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นแม่งานหลัก
ทั้งนี้การแสดงดนตรีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริการสังคมของกทม. ที่นอกจากประชาชนจะได้เข้าไปพักผ่อนและออกกำลังกายในสวนอันร่มรื่นแล้ว บุคคลในครอบครัวยังได้ชมดนตรีในรายการที่ตนเองชื่นชอบในบรรยากาศที่อบอุ่นของวันหยุดสุดสัปดาห์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด สำหรับประชาชนที่มากันเป็นครอบครัว สามารถนำอาหารและเครื่องดื่มง่าย ๆ มานั่งกลางสนามหญ้าชมดนตรี โดยมีลูกหลานวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจร่าเริงและชื่นชอบในดนตรี อันเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การจัดการแสดงดนตรีในสวนยุค ๆ แรก จะจัดขึ้นที่ ศาลาภิรมย์ภักดี บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินี เขตปทุมวัน หลังจากนั้นก็มีการขยายไปจัดตามสวนอื่น ๆ อย่างเช่น อุทยานเบญจสิริ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ สวนรถไฟ เป็นต้น
ในระยะหลัง ๆ การแสดงดนตรีในสวนถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอการแสดงดนตรีในสวน เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงดนตรีคุณภาพจากทั้งวงดนตรีและนักร้องแล้ว ก็ยังมีการนำเสนอดนตรีในแนวทางที่หลากลหาย ทั้ง คลาสสิก ป็อบ แจ๊ซ ร็อก ลูกกรุง กรุงทุ่ง ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีร่วมสมัย เป็นต้น ที่สำคัญคืองานนี้ชมฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ก็ยังมีต่อยอด เป็นการจัดงานดนตรีในสวนเพื่อการกุศล อย่างเช่น งาน “ดนตรีในสวนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต” ที่จัดขึ้นในสมัย พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
สำหรับการจัดงานแสดงดนตรีในสวนปัจจุบันหลังการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. คนใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์เป็นโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ที่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ.2561-2565) และแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 ด้านที่ 3 มหานครสำหรับทุกคน มิติที่ 3.4 สังคมพหุวัฒนธรรม เป้าประสงค์ที่ 3.4.1 คนกรุงเทพฯ ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและปรองดอง เป้าประสงค์ที่ 3.4.1.3 พัฒนากลไกและเครือข่ายการขับเคลื่อนเรียนรู้พหุวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
และนี่ก็คือเรื่องราวของงานดนตรีในสวน อีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ เพื่อคนเมือง ซึ่งจัดมาต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานเกือบ 30 ปี ที่ยังคงตอบโจทย์วิถีคนเมือง และครองใจคนกรุงฯมาจนทุกวันนี้