ความโด่งดังของภาพยนตร์อินเดียเรื่อง “คังคุไบ” หรือ Gangubai Kathiawadi: หญิงแกร่งแห่งมุมไบ กลายเป็นปรากฏการณ์ร้อนแรงในโลกโซเชียล โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สถานะของตัวเอกในเรื่องที่เป็นเจ้าสำนักโสเภณี หรือแม่เล้า ผู้มีชื่อเสียงทรงอิทธิพล ซึ่งถ้ากลับมามองที่เมืองไทยของเรา ก็เคยมีเจ้าสำนักโสเภณีผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยเป็นผู้สร้างวัดถวายแก่พุทธศาสนาที่สืบทอดความศรัทธาต่อเนื่องมากว่าร้อยปี
ย้อนอดีตกลับไปสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สยามในยุคนั้นเหล่าบุรุษทั้งหลายต่างทราบกันดีว่า บริเวณตรอกเต๊า ย่านเยาวราช (ปัจจุบัน คือ ถนนเจริญกรุง ซอย 14) เป็นย่านโคมเขียว หรือซ่องโสเภณี ซึ่งมีทั้งรูปแบบชั้นสูงไปจนถึงระดับตลาดล่าง โดยมี “โรงยายแฟง” เป็นหนึ่งในซ่องโสเภณีที่นิยมของชนชั้นนำ ผู้เป็นเจ้าสำนักโสเภณี หรือแม่เล้าแห่งนี้ ก็คือ “ยายแฟง” (บ้างก็เรียกว่า ย่าแฟง) ซึ่งนับเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยจากกิจการเริงรมย์ดังกล่าว
ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยกล่าวกันว่า หากใครสร้างวัดจะถือเป็นคนโปรดประจำรัชกาล เป็นเหตุให้บรรดาขุนนาง ชนชั้นสูง ผู้มีฐานะร่ำรวยทั้งหลายจึงนิยมสร้างวัด แน่นอนว่า ยายแฟง ผู้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ร่ำรวย และมีความศรัทธาต่อพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงรวบรวมเงินทองร่วมกับบรรดาลูกๆ (ลูกๆในที่นี้ คือ หญิงงามเมืองทั้งหลายในสำนัก) มาสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2376 ซึ่งไม่มีชื่อทางการ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดใหม่ยายแฟง”
มีเรื่องเล่ากันว่าในงานสมโภชวัดแห่งใหม่ ยายแฝงนิมนต์ “มหาโต”ไปเทศน์ในงานสมโภช ฉลองการสร้างวัด ( มหาโต ในเวลาต่อมา คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือ หลวงปู่โต แห่งวัดระฆัง) มหาโต ท่านเป็นพระเทศน์ประเภทขวานผ่าซาก จึงเทศน์ไปตรงๆว่า “เจ้าภาพทำบุญด้วยทุนรอนจากผลเช่นนี้ (เงินจากโรงโสเภณี) ย่อมได้อานิสงส์เพียงสลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น” อันหมายถึงได้บุญเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิดไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยายแฟงได้ฟังดังนั้น ก็โกรธมากจนเกือบจะได้ด่าพระเสียแล้ว แต่ด้วยความที่มหาโตเป็นพระสงฆ์ที่ผู้คนในรั้วในวังต่างนับถือกันมาก ยายแฟงจึงได้แต่แสดงความไม่พอใจด้วยการยกเครื่องกัณฑ์เทศน์กระแทกถวาย
หลังจากเหตุการณ์นั้น ยายแฟง นิมนต์ “ทูลกระหม่อมพระ” จากวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) มาเทศน์เพื่อหวังจะแก้หน้าจากการเทศน์ของมหาโตในคราวก่อน แต่ทูลกระหม่อมพระ ทรงเทศนาไปในแนวทางเดียวกันว่าหากทำกุศลด้วยจิตขุ่นมัวก็จะได้ผลน้อย “ถ้าเป็นความเห็นของอาตมาแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียงสองไพเท่านั้น”(ซึ่งคราวนี้เปรียบเป็นหน่วยเงินที่น้อยยิ่งกว่าสลึงเฟื้องเสียอีก)
อย่างไรก็ดี เรื่องราวข้างต้นก็เป็นเพียงเรื่องเล่าบทหนึ่งของการแรกเริ่มสร้างวัดแห่งนี้ ไม่ได้ผลอะไรต่อการเป็นศาสนสถานดังเช่นวัดแห่งอื่น โดยต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ลูกหลานของยายแฟง ได้บูรณะวัดใหม่ พร้อมทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนามวัด พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล” อันมีความหมายว่า วัดที่สร้างด้วยผลประโยชน์ของหญิงงามเมือง
ภายในวัดคณิกาผล มีสิ่งสำคัญที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถ ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปประธานศิลปะสุโขทัย พระวิหารหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธรูปสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งวันนี้เป็นพระพุทธรูปสีทองอร่ามแต่สันนิษฐานว่าในอดีตเคยเป็นองค์สีดำมาก่อน โดยมีพระพุทธรูปองค์จำลองสีดำประดิษฐานอยู่ด้านหน้า พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา หอระฆังก่ออิฐถือปูนแบบเก่า หลังคาประดับลายปูนปั้นเขียนสี เป็นต้น
นอกเหนือจากสิ่งก่อสร้างหรือวัตถุทางพุทธศาสนาแล้ว ภายในพระวิหารหลวงพ่อองค์ดำ มีรูปหล่อของยายแฟง สำหรับผู้มาขอพรตามความเชื่อ และด้านหลังพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของ “อาคารย่าแฟง” ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2523 ด้านในมีรูปปั้นยายแฟงครึ่งตัวภายในตู้กระจก มีข้อความจารึกใต้ฐานว่า "วัดคณิกาผลนี้ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยคุณแม่แฟง บรรพบุรุษของตระกูลเปาโรหิตย์” ซึ่งมีคนนำของไหว้สักการะมาบูชา ด้วยความเชื่อว่าขอพรจากย่าแฟงหรือยายแฟง จะสมหวังในเรื่องความรัก โชคลาภ และการงาน
ตำนานแม่เล้าเจ้าสำนักนางโลมผู้สร้างวัดในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะหลังจากยายแฟงเสียชีวิตไปแล้ว บุตรสาวที่ชื่อ "นางกลีบ สาครวาสี” หรือ แม่กลีบ ก็ดำเนินกิจการหญิงงามเมืองต่อไป เรียกว่า “โรงแม่กลีบ” แถมยกระดับให้ดูดีขึ้นไปกว่าเดิม เป็นซ่องโสเภณีชั้นสูงที่หรูหรา ตกแต่งด้วยข้าวของอย่างดี ซึ่งแม่กลีบก็เดินตามรอยของมารดาในเรื่องการทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยได้สร้างวัดขึ้นในที่ซึ่งเป็นสวนดอกไม้ของยายแฟง ห่างจากวัดคณิกาผลประมาณ 300 เมตร บริเวณปลายตรอกเต๊า เมื่อปี พ.ศ.2407 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า "วัดกันมาตุยาราม" อันหมายถึง “วัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง" เพราะชื่อของบุตรชายนางกลีบมีชื่อว่า“กัณฑ์” ซึ่งมาจากการยกลูกชายใส่กัณฑ์เทศน์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ด้วยความเชื่อว่าให้เลี้ยงง่าย แต่ว่ากันว่ามีการเขียนสะกดผิดไปเป็น “กัน” จึงปล่อยให้ใช้ไปตามนั้นมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ต่อมานายกัณฑ์ ยังเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กและได้นามว่า พระดรุณรักษา
วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ชุมชนเชื้อสายจีน ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างสำคัญ เช่น พระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระอริยกันต์มหามุนี" ภายในมีจิตรกรรมพุทธประวัติวิจิตรมากที่สันนิษฐานว่าน่าจะวาดไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกาสีขาว สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปของอินเดีย ซึ่งเป็นทรงเจดีย์ที่มีเพียงสองแห่งในประเทศไทยเท่านั้น (อีกแห่ง คือ เจดีย์องค์เล็กที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร) ซุ้มประตูทางเข้าวัดก็เป็นงานปูนปั้นที่มีความสวยงามวิจิตร รวมถึงยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิมด้านหน้า
สิ่งสำคัญอีกจุดที่อยู่เคียงข้างเจดีย์ทรงลังกา คือ อาคารทรงโดมสีขาว ประตูไม้ มีป้ายติดไว้เหนือประตูข้อความว่า “อนุสาวรีย์คุณแม่กลีบ มารดาพระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗” ซึ่งภายในมีรูปปั้นครึ่งตัวของคุณแม่กลีบอยู่ในตู้กระจก
“วัดคณิกาผล” และ “วัดกันมาตุยาราม” เป็นวัดที่สร้างขึ้นจากเจ้าสำนักโสเภณีผู้ร่ำรวย แม้หลักความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องการสร้างกุศล ทั้งยายแฟงและแม่กลีบจะได้บุญไปเพียงเสี้ยว แต่ทว่ากาลเวลาที่ผ่านมากว่าศตวรรษ ศาสนสถานทั้งสองแห่งนี้ก็ยังคงดำรงอยู่คู่กับชุมชน เป็นศูนย์รวมความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน และถือเป็นวัดสำคัญในย่านเจริญกรุงที่จารึกไว้เป็นตำนาน “แม่เล้าสร้างวัด” จวบถึงจนปัจจุบัน
ข้อมูลการเดินทาง
“วัดคณิกาผล" ตั้งอยู่ที่ถนนพลับพลาไชย ตรงข้ามกับสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย ส่วน “วัดกันมาตุยาราม” ตั้งอยู่บนถนนมังกร ห่างจากวัดคณิกาผลประมาณ 300 เมตร (ข้ามถนนเจริญกรุงมาอีกฟาก) การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่สะดวก คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีวัดมังกร
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline