xs
xsm
sm
md
lg

“เลียงผา” ออกโชว์ตัวที่หุบป่าตาด จ.อุทัยธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยภาพถ่ายเลียงผา ออกมาหากินบริเวณผาด้านหน้าของหุบป่าตาด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเลียงผานั้นจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา CITES จัดเลียงผาไว้ใน Appendix I

ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
เฟซบุ๊กเพจประชาสัมพันธ์ฯ สบอ.12 นครสวรรค์ โพสต์ข้อความว่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยภาพถ่ายเลียงผา ออกมาหากินบริเวณผาด้านหน้าของหุบป่าดาต โดยเลียงผามีลักษณะคล้ายกับกวางผา ซึ่งเดิมก็เคยถูกจัดให้อยู่สกุลเดียวกันมา แต่เลียงผามีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขายาว

ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ, สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์ มีขนหยาบและไม่เป็น 2 ชั้นเหมือนกวางผา ใต้ตามีต่อมน้ำมันใช้สำหรับถูตามต้นไม้หรือโขดหินเพื่อประกาศอาณาเขต

ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง หรือตามเกาะต่าง ๆ เลียงผาเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน โดยพบว่าเลียงผาจะชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ในป่าเบญจพรรณ ในป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และบริเวณหน้าผาหินชั้นตามลาดเขาในป่าดงดิบเขา

ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
เลียงผาสามารถพบได้ในสภาพป่าค่อนข้างหลากหลาย โดยในปัจจุบันสามารถพบร่องรอยของเลียงผาในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าไผ่ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ พื้นที่เกษตร ป่าเบญจพรรณ ไร่ร้าง ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตาม เลียงผามักใช้พื้นที่ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันมีป่าปกคลุมเป็นหลัก โดยทั่วไปแล้วเลียงผาสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 200 ไปจนถึงที่ระดับ 2,200 เมตร เลียงผา ถือเป็นสัตว์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในวงศ์ย่อยนี้ โดยปรากฏมาตั้งแต่ยุคไพลโอซีนราว 2-7 ล้านปีมาแล้ว

ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
สำหรับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน มีพื้นที่รับผิดชอบ 13,052 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขต อ.หนองฉาง และ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูน สูงชัน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์และคุ้มครองไว้อย่างยิ่ง

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น