กรมศิลปากรขอเชิญชมนิทรรศการถาวร “ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล”พร้อมแนะนำโบราณวัตถุ 10 ชิ้นต้องชมในหมู่พระวิมาน
กรมศิลปากร ขอเชิญชมนิทรรศการถาวร “ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล” จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอก ศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมแนะนำโบราณวัตถุ 10 ชิ้นต้องชมในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หมู่พระวิมาน พระมณเฑียรที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หมู่พระวิมานมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่เรียงกัน 3 หลัง สำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เชื่อมต่อกันด้วยมุขเป็นห้องหลังขวางทั้ง 4 ทิศ รวมมีพระที่นั่ง 11 องค์ ท้องพระโรง 1 องค์ พุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ให้เป็นห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จนกระทั่ง พุทธศักราช 2555 กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ บูรณะอาคารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มอาคารหมู่พระวิมาน และปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ โดยหมู่พระวิมานใช้เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอกที่แสดงเอกลักษณ์อันวิจิตรของศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวม 14 ห้องจัดแสดง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้งานประณีตศิลป์ของชาติ โดยมีฉากหลังเป็นบรรยากาศสถาปัตยกรรมและกลิ่นอายของวิถีชีวิตวังหน้า ประกอบด้วย พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ท้องพระโรงวังหน้า มุขกระสัน ทางเชื่อมระหว่างมณเฑียรที่ประทับด้านในกับท้องพระโรง จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติยศ กรมพระราชวังบวนสถานมงคล พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร จัดแสดงเครื่องราชยาน คานหาม พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ จัดแสดงเครื่องสูง พระแท่นราชบัลลังก์และพระโธรน พระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่น พระที่นั่งวสันตพิมาน (บน) จัดแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้า พระที่นั่งวสันตพิมาน (ล่าง) จัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข จัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงเครื่องสัปคับ มุขเด็จ จัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก พระที่นั่งอุตราภิมุข จัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ล่าง) จัดแสดงศิลปะเครื่องมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (บน) จัดแสดงเครื่องใช้ในพุทธศาสนา และพระที่นั่งบูรพาภิมุข จัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แนะนำโบราณวัตถุ 10 ชิ้นต้องชมในหมู่พระวิมาน ได้แก่
พระที่นั่งพุดตานฝ่ายพระราชวังบวร (พระที่นั่งพุดตานวังหน้า)
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24
กระทรวงวังส่งมา
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มุขกระสัน
พระที่นั่งพุดตาน พระราชยานสำหรับเสด็จกระบวนพยุหยาตรา ใช้พลแบกหาม 16 นาย สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ ๔ พระราชทานแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นวังหน้าที่มีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง ภายหลังจึงใช้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหาอุปราชและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
พระที่นั่งราเชนทรยาน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24
สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวังส่งมา
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องราชยานคานหาม พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร
พระที่นั่งราเชนทรยาน มีลักษณะเป็นทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใช้พลแบกหาม 56 นาย สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราสี่สาย เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใช้ในการอัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ หรือพระโกศพระอัฐิพระบรมวงศ์จากพระเมรุท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
กลองวินิจฉัยเภรี
สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2380
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ สำหรับร้องทุกข์ถวายฎีกา
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องพระแท่นราชบัลลังก์และพระโธรน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ
เจ้าพระยาพระคลัง สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีที่ทิมดาบกรมวังในพระบรมมหาราชวัง สำหรับให้ราษฎรใช้ตีกลองร้องทุกข์ถวายฎีกา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ที่หอริมประตูเทวาพิทักษ์ และโปรดเกล้าฯ ให้เลิกวิธี “ตีกลองร้องฎีกา” เปลี่ยนเป็นเสด็จรับฎีการาษฎรด้วยพระองค์เองทุกวันโกนเดือนละ 4 ครั้ง ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตีกลองวินิจฉัยเภรีเป็นอาณัติสัญญาณ
ศีรษะหุ่นพระยารักน้อย พระยารักใหญ่
ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
กรมพิณพาทย์และโขนหลวงมอบให้เมื่อ พ.ศ. 2469
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องนาฏดุริยางค์ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข
ศีรษะหุ่นหลวงพระราม-พระลักษมณ์ คู่นี้ เรียกกันว่า พระยารักใหญ่ พระยารักน้อย แกะสลักจากไม้รัก เป็นฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงมีพระปรีชาชาญในการแกะสลักไม้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ออกแบบวัดเบญจมบพิตร ตรัสชมว่า “งามไม่มีหน้าพระอื่นเสมอสอง”
แพลงสรงจำลอง
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2429
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทาน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2470
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องโลหศิลป์ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข
แพลงสรงจำลอง ทำด้วยเงินกะไหล่ทองกับนาก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสร้างถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีลงสรง เมื่อ พ.ศ. 2429 พระราชพิธีลงสรงเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระนามาภิไธยตั้งพระนามพระราชกุมารที่ดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าอย่างเต็มตำราครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีลงสรงเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
สัปคับ
สมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างล้านนา ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (150 ปีมาแล้ว)
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา (พ.ศ. 2416) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องสัปคับ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข
สัปคับจำหลักงาช้าง ฝีมือช่างชั้นเยี่ยมชาวล้านนา ฉลุโปร่งเป็นลายพันธุ์พฤกษา นกยูง และรูปบุคคล ทั้งนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา มีเหตุการณ์สำคัญกล่าวคือ พระราชพิธีทรงผนวช เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2416 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 โดยทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสมบูรณ์ มิต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินดังเดิม
ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2365
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องเครื่องไม้จำหลัก มุขเด็จทิศตะวันตก
เดิมเป็นบานประตูคู่กลางด้านหน้าพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีส่วนร่วมในการจำหลักด้วยพระองค์เอง ประตูจำหลักจากไม้แผ่นเดียวคว้านผิวลึกลงเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาตวัดเกี่ยวกันคล้ายกำลังเคลื่อนไหว สอดแทรกรูปสรรพสัตว์นานาพันธุ์ ลงรักปิดทองฝีมือประณีตงดงามอย่างยิ่ง ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2502 เกิดไฟไหม้บานประตูชำรุดบานหนึ่ง จึงได้นำบานประตูคู่กลางด้านหลังมาใส่ไว้แทน และถอดบานประตูเดิมนี้ออกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ พระที่นั่งอุตราภิมุข
ฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ลักษณะเป็นเสื้อนอกแบบยุโรป ชายเสื้อยาว แขนยาว คอตั้ง และที่ปกเสื้อปักรูปพระมหามงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ ๔ ฉลองพระองค์นี้มีต้นแบบจากชุดเครื่องแบบทหารยุโรป อันแสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในราชสำนักขณะนั้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จึงพัฒนาลวดลายปักที่เป็นแบบตะวันตกให้ผสมผสานกับลวดลายและฝีมือประณีตชั้นสูงของช่างไทยในราชสำนัก และใช้เป็นเครื่องแบบเต็มยศของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ
ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก
ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องเครื่องประดับมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ล่าง)
ฉากไม้ประดับมุกภาพพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวกในซุ้มเรือนแก้ว ฉากประดับมุกนี้แสดงถึงความวิจิตรบรรจงของช่างไทยในการฉลุเปลือกหอยให้เป็นลวดลายชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนติดลงบนแผ่นไม้ แล้วใช้รักสมุกถมลงช่องว่างจนเกิดลวดลายสีขาวของเปลือกหอยตัดกับสีดำของยางรัก ฉากนี้ยังมีประวัติว่าได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการที่ต่างประเทศอยู่หลายวาระ อาทิ งานแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาติ ณ ชังป์ เดอมารส์ (Champ-de-Mars) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2410 หรือ มหกรรมแสดงสินค้าโลก ที่เมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2447 เป็นต้น
กลองสำหรับพระนคร
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 (200 ปีมาแล้ว)
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องศัสตราวุธ พระที่นั่งบูรพาภิมุข
กลองทั้งสามใบนี้แต่เดิมอยู่ที่หอกลองประจำเมืองกรุงเทพฯ ที่สวนเจ้าเชตุ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) หอกลองมี 3 ชั้น ชั้นล่าง “กลองย่ำพระสุริย์ศรี” ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณย่ำรุ่ง-ย่ำค่ำ เวลาเปิดปิดประตูเมือง ชั้นกลาง “กลองอัคคีพินาศ” ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเมื่อเกิดอัคคีภัย และกลองชั้นสุดบน “กลองพิฆาตไพรี” ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเมื่อมีข้าศึกมาประชิดเมือง และเมื่อมีการใช้นาฬิกาแพร่หลายพ้นสมัยการตีกลองให้สัญญาณ จึงย้ายกลองทั้งสามใบนี้ไปยังหอนาฬิกาศาลสถิตยุติธรรม และหอนาฬิกาศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมตามลำดับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. 2454 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถาน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline