หากเดินทางขึ้นสู่ภาคเหนือโดยใช้เส้นทางหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน หนึ่งในจังหวัดที่อยู่บนเส้นทางสายนี้ก็คือ “กำแพงเพชร” ซึ่งหากว่าใครอยากจะแวะเข้าไปเที่ยวในตัวเมืองกำแพงเพชร ก็เพียงเลี้ยวขวา ตรงเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็จะถึงตัวเมืองแล้ว
มีโอกาสได้แวะเที่ยวกำแพงเพชรทั้งที ต้องไม่พลาดที่จะมาสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง โดยเฉพาะในตัวเมืองกำแพงเพชรนั้นมีอยู่หลายวัดที่ใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องแวะมาไหว้พระทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล
มาเริ่มต้นกันที่ “วัดเทพโมฬี” ที่ตั้งอยู่ในย่านตัวเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดเก่าและ และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโมฬี” พระพุทธรูปปูนปั้นโบราณ ศิลปะสมัยอู่ทองยุคต้นของกรุงศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันมีการปฏิสังขรณ์ และสร้างครอบองค์เดิมไว้ภายใน จึงทำให้เห็นเพียงพระพุทธรูปศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่อยู่ด้านนอก
ชาวเมืองนี้เรียกว่า “หลวงพ่อโม้” หมายถึง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งมีขนาดหน้าตักกว้าง 10 ศอก 1 คืบ สูง 13 ศอก 1 คืบ และเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพกันมายาวนาน เชื่อกันว่าห้ามมิให้ฝนตกได้ และยังสามารถกราบไหว้บนบานขอความช่วยเหลือในยามที่เดือดร้อน ล้วนแต่ได้รับผลสำเร็จกันถ้วนหน้า
วัดถัดไปที่อยู่ติดๆ กันแบบสามารถเดินถึงกันได้คือ “วัดเสด็จ” วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด มีรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ปัจจุบันมีการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ใกล้ๆ กันเป็น วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
และที่นี่ยังเป็นวัดที่มีตำนานพระเครื่องดังของกำแพงเพชร นั่นคือ “พระกำแพงสามขา” พระบูชาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเมืองกำแพงเพชร เหตุที่เรียกขานว่าสามขา เพราะแท่นที่ประทับของพระพุทธรูปมี 3 ขา ด้านหน้าสองขา และด้านหลังหนึ่งขารวมเป็นสามขา ชาวกำแพงเพชรเชื่อว่ามีพุทธคุณแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม
ถัดจากวัดเสด็จอีกไม่ไกลคือ “วัดบาง” เป็นสถานที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชร โดยประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อเพชร ตามประวัติกล่าวว่าหลวงพ่อเพชร วัดบาง ถูกอัญเชิญมาในคราวเดียวกันกับหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร เมื่องครั้งเกิดกบฏจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่กว่า 800 ปี เนื้อสำริด ศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูง 3 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ชาวกำแพงเพชรเชื่อว่าหากได้มาสักการะแล้วก็จะร่ำรวยมั่งมีเหมือนสมัยเชียงแสน
มาต่อกันที่ “วัดคูยาง” ที่อยู่ห่างออกมาอีกเล็กน้อย วัดแห่งนี้ถูกสันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 400 ปี แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ภายหลังจึงมีการก่อตั้งวัดขึ้นใหม่ในบริเวณที่ตั้งเดิม
ไฮไลต์ของวัดคูยางคือ “หอไตรกลางน้ำ” เป็นภูมิปัญญาของชาวพื้นเมืองที่จะรักษาพระไตรปิฎกไว้จากสัตว์หรือแมลงที่จะมากัดกิน เป็นอาคารทรงไทยพื้นถิ่นกำแพงเพชร สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ใต้ถุนสูง กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ตั้งอยู่กลางคูน้ำเดิม และมีเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร
ไหว้พระในตัวเมืองกำแพงเพชรมา 4 วัดแล้ว ขอออกนอกเมืองมาสักเล็กน้อย ข้ามแม่น้ำปิงกลับมาทางถนนพหลโยธิน จะเป็นพื้นที่ของ ต.นครชุม ซึ่งมีวัดที่โดดเด่นคือ “วัดสว่างอารมณ์” เดิมเป็นวัดร้าง แต่ภายหลังชาวบ้านและพ่อค้าชาวพม่าช่วยกันบูรณะให้กลับมาเป็นวัดประจำหมู่บ้านอีกครั้ง ศิลปะภายในวัดจึงเป็นแบบไทยผสมพม่า
ภายในวัดประดิษฐาน “หลวงพ่ออุโมงค์” พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน สิงห์หนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกำแพงเพชร มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นที่พึ่งทางใจของชาวนครชุมและใกล้เคียง มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของความสัตย์ ชาวบ้านนิยมมากล่าวคำสาบาน ถ้าหากผิดคำสาบานก็จะเป็นไปตามที่กล่าวไว้ และยังมี “หลวงพ่อมหามงคล (หลวงพ่อยักษ์)” พระพุทธรูปศิลปะชาวบ้านเมืองเหนือ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อมหามงคล ด้านหน้าวิหารหลวงพ่ออุโมงค์
สักการะพระพุทธรูปภายในวัดแล้ว แนะนำให้เดินมาทางริมคลองสวนหมากที่อยู่ติดด้านหน้าวัด เดินตามทางลัดเลาะริมคลองมาเล็กน้อย ก็จะได้พบกับ “บ้านห้าง ร.5” หรือ “บ้านพะโป้” ซึ่งเป็นคหบดีชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอาชีพค้าไม้บริเวณปากคลองสวนหมากเมืองนครชุมในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน (ในสภาพทรุดโทรม) เป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้น รูปแบบไทยผสมตะวันตก โดยได้ซื้อบ้านมาจากพระยาราม ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2449 ได้เสด็จเยือนบ้านพะโป้ จนเป็นที่มาของชื่อบ้านห้าง ร. 5
ได้ยินชื่อ “พะโป้” หลายๆ คนอาจจะคุ้นหูจากภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ซึ่งต้องบอกว่ามีที่มาจากบรรยากาศของเมืองนครชุมนี่เอง โดย “ครูมาลัย ชูพินิจ” ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย ได้นำบรรยากาศฉากหลังบรรยากาศของเมืองนครชุมและประวัติศาสตร์ของนครชุมแฝงอยู่มาเป็นฉากหลัง พร้อมกับหยิบเรื่องราวของ “พะโป้” ชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับสัมปทานไม้แห่งเมืองกำแพงเพชร ที่มาตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากคลองสวนหมากซึ่งมีชีวิตอยู่จริงมาเป็นตัวละครนวนิยายที่แต่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลงานของครูมาลัยที่บันทึกเรื่องราวของนครชุม และคลองสวนหมาก ไว้อย่างละเอียดครบถ้วนในหนังสือ “ทุ่งมหาราช”
และอีกหนึ่งวัดในนครชุมที่ไม่ควรพลาดคือ “วัดพระบรมธาตุนครชุม” เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่วัดแห่งนี้ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา โดยพญาลิไททรงประดิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ.1900 ประชาชนชาวกำแพงเพชรมีความศรัทธาต่อองค์พระธาตุเป็นอย่างมาก
ภายในมี “พระบรมธาตุนครชุม” เจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์ มีลักษณะรูปทรงเดียวกับเจดีย์ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ เป็นพระบรมธาตุเจดีย์อยู่คู่เมืองกำแพงเพชร มาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุม มีระยะเวลายาวนานกว่า 600 ปี และยังคงยั่งยืนสืบต่อกันมาเป็นองค์มหาเจดีย์แห่งศรัทธาจวบจนปัจจุบัน
ในย่านตัวเมืองกำแพงเพชร นอกจากจะมีหลากหลายวัดให้ได้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และทำบุยเพิ่มสิริมงคลให้กับตัวเองแล้ว หากใครพอมีเวลาเที่ยวอีกสักวัน แนะนำให้ไปชมโบราณสถานภายใน “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระแก้ว วัดช้างรอบ วัดพระสี่อิริยาบถ เป็นต้น
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline