xs
xsm
sm
md
lg

ความหวังใหม่ “พลับพลึงธาร” หนึ่งเดียวในโลก ฟื้นชีวิตอีกครั้งหลังถูกทำลายอย่างน่าปวดใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พลับพลึงธาร พืชเฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก กับความหวังใหม่ของการฟื้นฟูสู่ความยั่งยืน (แฟ้มภาพ ปี 2550)
ถอดบทเรียน “พลับพลึงธาร” วันวาน-วันนี้ สู่อนาคตที่ยั่งยืนของพืชเฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก หลังถูกทำลายอย่างน่าปวดใจจนแทบหมดสิ้นจากเมืองไทย ก่อนที่หลายภาคส่วนจะร่วมมือกันฟื้นชีวิตให้กลับมาบานสวยงามเป็นดัง “ราชินีแห่งสายน้ำ” อีกครั้ง

การพัฒนาพื้นที่แบบ “ขาดองค์ความรู้” หรือ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ในหลาย ๆ โครงการของบ้านเรา กลับกลายเป็นดังมุมเบอแรงที่วกกลับมาทำร้าย ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ จนเสียหายยับเยินแทบสูญสิ้นหมดไป

หนึ่งในนั้นก็คือโครงการขุดลอก “คลองนาคา” เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่และอีกหลายแห่งระบุตรงกันว่า โครงการนี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จนไปทำลายแหล่งอาศัยของ “พลับพลึงธาร” พืชเฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก จนเสียหายเกือบสูญพันธุ์ เกิดเป็นวิกฤติพลับพลึงธารอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

รู้จักพลับพลึงธาร


กิจกรรมล่องแพชมทุ่งพลับพลึงธารหนึ่งเดียวในโลกที่คลองนาคา (แฟ้มภาพ ปี 2550)
“พลับพลึงธาร” (Crinum thaianum J. Schulze.) เป็นพืชน้ำอยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) มีชื่อเรียกของแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ หญ้าช้อง หอมน้ำ (ระนอง) และช้องนางคลี่ (บ้านนางย่อน) พลับพลึงธาร เป็นพืชเฉพาะถิ่นแห่งเดียวในโลก พบในบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทย โดยพบมากที่ ระนองตอนล่าง และพังงาตอนบน (มีบางข้อมูลรายงานว่ามีการพบพลับพลึงธารอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาด้วย)

พลับพลึงธารเป็นพืชที่ขึ้นในธารน้ำใสสะอาดและไหลอยู่ตลอดเวลา พื้นท้องน้ำไม่ลาดชันมาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสะอาดของน้ำ

ดอกพลับพลึงธารมีสีขาวเนียนคล้ายดอกพลับพลึงแต่อยู่ในน้ำ ดอกจะบานปีละครั้งในช่วงฤดูหนาวราว 3 เดือน พร้อมส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงถูกเรียกว่า “หอมน้ำ”

พลับพลึงธารปัจจุบันเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก
ขณะที่ใบของพลับพลึงธารนั้นจะเป็นกลุ่มแถบยาวเป็นริ้วพริ้วไหวไปตามการไหลของสายน้ำ ยามสะท้อนแสงแดดดูเป็นเส้นสายส่ายไหวพริ้วดูสวยงามไม่น้อย

อันซีนระนองที่คลองนาคา


พลับพลึงธารได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ” ซึ่งเมื่อย้อนอดีตไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในยุคทองของพลับพลึงธาร ที่ “คลองนาคา” ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ถือเป็นแหล่งเที่ยวชมทุ่งดอกพลับพลึงธารอันสวยงามหนึ่งเดียวในโลก เป็นหนึ่งใน “อันซีนระนอง” ขึ้นชื่อของเมืองน้ำแร่ ที่ถูกบรรจุให้เป็นไฮไลท์กิจกรรมท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนในโครงการ “12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน มหัศจรรย์เมืองไทยต้องไปสัมผัส” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ภาพยุคทองของทุ่งดอกพลับพลึงธารคลองนาคา ปี 2550
โดยในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน พลับพลึงธารที่นี่จะออกดอกบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำจะเกิดเป็นทุ่งพลับพลึงธารสีขาวนวล ดูสวยงามน่าประทับใจกระไรปานนั้น

แต่เมื่อพลับพลึงธารโด่งดังปัญหาการถูกรุกรานทำลายอันเป็นเหตุให้ปริมาณลดจำนวนลงไปมากก็ตามมา เพราะมีคนเก็บมาหัวต้นพลับพลึงธารไปขายเป็นพืชน้ำจำนวนมาก

ขณะที่อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญก็คือการขุดคลองคลองนาคาตั้งแต่ในช่วงราวปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ภาพยุคทองของทุ่งดอกพลับพลึงธารคลองนาคา ปี 2550
การขุดลอกลำคลองนาคาแม้จะทำไปด้วยเจตนาดีแต่ว่ากลับส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของพลับพลึงธาร เพราะเป็นการทำลายหัวพลับพลึงธารลงไปจำนวนมาก รวมถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ กระแสน้ำในลำคลองไหลแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้หัวพลับพลึงธารหลุดลอยเป็นจำนวนมาก และไปปรากฏในลำคลองที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา แทน

นอกจากนี้การลดลงและหดหายไปของพลับพลึงธารก็ยังมาจากปัจจัยอื่น ๆ อีก อย่างเช่น

-การบุกรุกหรือตัดต้นไม้ชายคลอง ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายดินตลิ่ง
-การลักลอบขุดหินและทรายขาย ทำให้หัวพลับพลึงธารถูกทำลายและทิศทางของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลง

พลับพลึงธารดัชนีชี้วัดความสะอาดของสายน้ำ
-การปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล การปนเปื้อนของสารเคมี ทั้งจากกิจกรรมทางการเกษตรและบ้านเรือน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในลำคลอง

(หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจาก สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน)

ส่งผลให้จำนวนประชากรของพลับพลังธารหลังการขุดลอกคลองนาคาลดหายไปเป็นจำนวนมาก จนแทบจะสูญพันธุ์

ใบพลับพลึงธารเป็นกลุ่มริ้วพริ้วไหวไปตามสายน้ำ
แต่ยังดีที่หลังจากนั้นหลายภาคส่วนทั้งในจังหวัดระนองและนอกพื้นที่ต่างตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ฟื้นฟู ขยายพันธุ์ ประชากรพลับพลึงธารที่คลองนาคาให้กลับมามีปริมาณมากพอที่จะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อชมความสวยงามของพลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำหนึ่งเดียวในโลกแห่งเมืองระนองอีกครั้งหนึ่ง

ความหวังใหม่พลับพลึงธาร หนึ่งเดียวในโลก


พลับพลึงธารขึ้นในธารน้ำไหลสะอาด
ปัจจุบันสถานะของพลับพลึงธารพืชเฉพาะถิ่นพบหนึ่งเดียวในโลกยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES และไม่ได้รับการการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใด ๆ ในประเทศไทย

นอกจากนี้มีข้อมูลว่าปัจจุบัน พบพลับพลึงธารเหลือแค่ประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น และพบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี ค.ศ. 2011

อช.ศรีพังงา ปลูกต้นพลับพลึงธารเพิ่มและติดตามพบว่าเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ (ภาพ : กรมอุทยานฯ)
อย่างไรก็ดีเป็นที่น่ายินดีว่าวันนี้ชุมชนในพื้นที่ถิ่นอาศัยของพลับพลึงธารและภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งในระนอง และ พังงา ต่างตื่นตัวในการอนุรักษ์พืชชนิดนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ชมรมเพลินไพรศรีนาคา กลุ่มอนุรักษ์คลองบางปรุ กลุ่มอนุรักษ์บ้านห้วยทรัพย์ กลุ่มอนุรักษ์บ้านนายทุย พลับพลึงธารบ้านบางวัน และกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางซอย เป็นต้น (ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำอันดามันตอนบน)

ชุมชนเหล่านี้ มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟู และมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ห้ามการขุดหาหัวพลับพลึงธารเพื่อการค้า รวมถึงมีการสร้างแหล่งปลูก เพาะกล้า ขยายพันธุ์พลับพลึงธารหนึ่งเดียวในโลกเอาไว้ให้อยู่คู่เมืองไทยสืบต่อไปอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันพบพลับพลึงธารเหลือแค่ประมาณ 1 % เท่านั้น
ขณะที่ล่าสุดมีข้อมูลจาก อุทยานแห่งชาติศรีพังงา หนึ่งในหน่วยงานถาครัฐที่ร่วมทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูพลับพลึงธาร ระบุว่า จากการติดตามผลการปลูกต้นพลับพลึงธารพืชอาศัยถิ่นเดียวในโลกที่ใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 500 ต้น บริเวณคลองห้วยทรัพย์ หมู่ที่ 6 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา พบว่าต้นพลับพลึงธาร สามารถเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้

นี่นับเป็นอีกข่าวดีของการอนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรพลับพลึงธาร พร้อมกับเป็นอุทาหรณ์ให้นำไปถอดบทเรียนของการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ในบ้านเรา ที่ต้องเข้าใจและมีองค์ความรู้ในสิ่งที่จะพัฒนา ไม่ใช่สักแต่ว่าขอให้ได้ใช้งบประมาณให้ผ่าน ๆ ไปในแต่ละปี เพราะสุดท้ายแล้วหากพัฒนาผิดวิธี มันจะกลายเป็นดังมุมเบอแรงที่วกกลับมาทำร้าย ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ จนเสียหายยับเยินแทบสูญสิ้นหมดไป

แต่...อนิจจา หลายหน่วยงานของภาครัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในบ้านเราต่างก็ชื่นชอบการกระทำในลักษณะนี้เป็นอย่างยิ่ง

เพราะเงินงบประมาณและเงินทอนมันช่างหอมหวานกระไรปานนั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น