xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านกลอเซโล” ตื่นตาทะเลหมอก 2 แผ่นดิน ชุมชนตัวอย่างหยุดหมอกควันบนพื้นที่สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


“บ้านกลอเซโล” ตื่นตาทะเลหมอก 2 แผ่นดิน (ภาพจาก : เพจองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
ชวนไปสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้าน “กลอเซโล” แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่มาแรงของสายลุย กับจุดชมวิวทะเลหมอก 2 แผ่นดินอันสวยงาม รวมถึงวิถีชุมชนในการอยู่ร่วมกับป่า จนถูกยกให้เป็นชุมชนตัวอย่างของการหยุดหมอกควันบนพื้นที่สูง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ด้วยองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการหลวง

วันนี้ชื่อของ “บ้านกลอเซโล” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในบรรดาขาเที่ยวสายลุย เนื่องจากการเดินทางสู่หมู่บ้านแห่งนี้ค่อนข้างสมบุกสมบัน แต่เมื่อขึ้นไปถึงยังจุดหมายก็สวยงามคุ้มค่าต่อการมาเยือนนัก โดยเฉพาะจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทะเลหมอก 2 แผ่นดินของไทย-เมียนมา ได้อย่างสวยงามอลังการ

บ้านกลอเซโล ชุมชนสงบงามบนเขาสูง


กลอเซโล หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางผืนป่าแวดล้อมด้วยขุนเขา
“บ้านกลอเซโล” ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนที่ตั้งขึ้นตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน ประชากรที่นี่ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำไร่หมุนเวียน หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวิน อุทยานแห่งชาติสาละวิน

กลอเซโลเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ มีบรรยากาศโอบล้อมด้วยขุนเขาและทะเลหมอก วันนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวมาแรงของเมืองสามหมอก

หมู่บ้านกลอเซโลมีไฮไลท์คือ “จุดชมวิวกลอเซโล” ที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านไปประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นยอดเขาที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม ในวันที่ฟ้าเป็นใจสามารถมองเห็นทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งสวยงามตระการตา

จุดชมทะเลหมอก 2 แผ่นดิน บ้านกลอเซโล (ภาพจาก : เพจองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
นอกจากนี้ยังเป็นทะเลหมอก 2 แผ่นดิน เพราะทะเลหมอกจะลอยสวยงามอยู่ระหว่างชายแดนฝั่งไทยกับฝั่งเมียนมา ที่มีความสวยงามของทะเลหมอกอลังการเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น

โดยแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมาได้ไม่นาน เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ต้องผ่านสถานการณ์โควิดที่ทำให้ทางหมู่บ้านต้องปิดแหล่งท่องเที่ยวไปชั่วคราว แต่ภาพความสวยงามที่ได้เผยแพร่ออกไปก็ทำให้หลายๆ คนอยากที่จะเดินทางไปชมด้วยตาตัวเอง

ทะเลหมอก 2 แผ่นดิน บ้านกลอเซโล
อย่างไรก็ดีบริเวณจุดชมวิวกลอเซโลยังวันนี้คงมีบรรยากาศดิบ ๆ มีจุดกางเต็นท์ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นอกจากห้องน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

แต่ด้วยความที่มีวิวทิวทัศน์ทะเลหมอกงดงามอลังการ จึงทำให้มีคนเดินทางขึ้นไปเที่ยวที่หมู่บ้านแห่งนี้กันไม่ได้ขาด แม้สภาพเส้นทางขึ้นสู่หมู่บ้านกลอเซโลวันนี้ยังมีสภาพโหดหินสมบุกสมบัน ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ 4x4 หรือมอเตอร์ไซค์วิบากขับลุยขึ้นไป

เส้นทางถนนลูกรังสู่บ้านกลอเซโล
โดยเส้นทางจากตัวอำเภอสบเมยไปยังบ้านแม่สามแลบจะเป็นทางลาดยาง รถสามารถวิ่งได้สะดวก แต่จากบ้านแม่สามแลบขึ้นไปยังบ้านกลอเซโลจะเป็นทางดินลูกรัง มีทางปกติระยะทาง 40 กิโลเมตร และทางลัด 20 กิโลเมตร (แต่เป็นทางดินเหมือนกัน) เส้นทางมีความแคบชัน บางจุดเป็นทางเลาะเลียบหน้าผา บางช่วงรถสวนกันไม่ได้ หากพบเจอรถสวนระหว่างทางอาจต้องถอยหลังลงเขาเพื่อหลบกัน ส่วนในช่วงหน้าฝนทางดินนี้ก็จะเละเป็นโคลนดูไม่จืด ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวกันในช่วงหน้าหนาว

แม้ทางขึ้นจะลำบากแต่เมื่อมาถึงได้ชมทะเลหมอก 2 แผ่นดินอันสวยงามคุ้มค่า (ภาพจาก : เพจองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
อย่างไรก็ดีแม้เส้นทางสู่บ้านกลอเซโล จะกลายเป็นสนามประลองความท้าทายของนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คน แต่ผลจากการขับรถเร็วจนเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายตลบอบอวล ชาวบ้านที่นี่จึงขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวให้ “ช่วยลดความเร็วลงหน่อย” เพราะมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านและบ้านเรือน รวมทั้งในหมู่บ้านก็มีเด็ก ๆ และชาวบ้านที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ อีกทั้งหากนักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่ไม่ชินทาง หรือไม่ชำนาญทางวิบากอาจประสบอุบัติเหตุได้ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงควรลดความเร็ว ขับรถขึ้น-ลง หมู่บ้านกลอเซโลด้วยความระมัดระวังเพื่อลดฝุ่นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุไปในตัว

ชุมชนตัวอย่าง หยุดหมอกควัน


ชาวบ้านกลอเซโลร่วมแรงร่วมใจกับเจ้าหน้าที่ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะเป็นหมู่บ้านที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามจนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมากแล้ว หมู่บ้านกลอเซโลยังเป็นหนึ่งในชุมชนบนพื้นที่สูงที่อยู่ในพื้นที่ดูแลของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ ด้วยแผนกลยุทธ์หยุดหมอกควันหรือระบบเกษตรที่เลี้ยงดูป่า โดยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในแนวทางของการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ในพื้นที่สูง ห่างไกลบริการของภาครัฐในทุกมิติ ทั้งรายได้ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ มุ่งเน้นการบูรณาการอย่างสมดุล ให้คนในพื้นที่มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

นายเดชธพล กล่อมจอหอ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่ม 4 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
นายเดชธพล กล่อมจอหอ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่ม 4 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า แนวทางของการพัฒนาบ้านกลอเซโล ทางสวพส.มุ่งเน้นให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตร ลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน โดยกำหนดเขตการพัฒนาเป็นโซน A, B, C และ D เพื่อสร้างต้นแบบและขยายการพัฒนาไปสู่แต่ละโซน จนกระจายการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งชุมชน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ในแนวทางของการนำองค์ความรู้โครงการหลวงมาปรับใช้ในการทำการเกษตรแบบไม่เผาในลักษณะของการจัดพื้นที่รายแปลงที่เหมาะสม ใช้พื้นที่น้อย มีรายได้มาก โดยการปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาสูง ช่วยเกษตรกรในชุมชนสามารถขายพืชผักได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมปลูกไม้ผลและกาแฟใต้ร่มเงาในพื้นที่ป่า เช่น การปลูกกาแฟอาราบิก้าอินทรีย์ ไม้ผล และบุก ด้วยระบบเกษตรที่เลี้ยงดูป่าและสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมื่อชุมชนบนพื้นที่สูงมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นพอมีพอกินตามหลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงก็มีเวลาที่จะดูแลป่าไม้ที่อยู่รอบชุมชน มีการปลูกป่า เป็นต้น

กาแฟอีกหนึ่งผลผลิตสำคัญของหมู่บ้านกลอเซโล
การทำงานเชิงกลยุทธ์มีส่วนทำให้จุด Hotspot ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบมีจำนวนน้อยมากและบางพื้นที่ไม่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเลย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน และอีกตัวอย่างที่ทำให้บ้านกลอเซโล ประสบความสำเร็จ คือ พัฒนาชุมชนในรูปแบบกลุ่มสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งติดตามประเมินผล ทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะทำให้มีอำนาจในการต่อรองการรับซื้อสินค้าจากชุมชน และในชุมชนยังมีเกษตรกรผู้นำตัวอย่างในการขยายงานกระจายการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งชุมชนอีกด้วย

ด้านนายพัลลภ ปัญญา หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของโครงการก็คือการยึดคนเป็นศูนย์กลาง และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับคนในชุมชน เพราะมีบทบาทสำคัญในการร่วมคิดและวางแผน เพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน แม้จะมีความยากลำบากในการสื่อสารและภาษา โดยได้มีการจัดเวทีชุมชนเพื่อประชาพิจารณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควบคุมไม่ให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า ใช้พื้นที่ให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ และขออนุญาตดำเนินงานในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีกรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมตามแผนของโครงการฯ เพื่อพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ และหน่วยงานบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและครบวงจร

นายพัลลภ ปัญญา หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ
นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางฝ่ายวิชาการรายสาขาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่บ้านกลอเซโลมีการพัฒนาเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีเกษตรกรผู้นำตัวอย่าง ที่ยึดระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับไม้ผลที่นิยมปลูกในพื้นที่ได้แก่ กาแฟอาราบิก้าอินทรีย์ บุก เสาวรส และอะโวคาโดภายใต้ระบบมาตรฐาน GAP อีกทั้งยังมีการพัฒนาพืชเสริมอื่น ๆ เช่น หมาก ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกทั่วใปในพื้นที่ เพราะชาวบ้านยังนิยมบริโภคหมาก แต่กาปหมากที่แห้งจะถูกทิ้งไว้หรือไม่ชาวบ้านก็นำไปเผาโดยเปล่าประโยชน์ และจากการศึกษาดูงานในพื้นที่อื่น ทำให้มองเห็นโอกาส ในการนำกาปหมากไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะใส่อาหารที่ใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลักษณะใช้แล้วทิ้ง ซึ่งนอกจากทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมแล้ว ยังมีส่วนทำให้การเผาป่าลดลง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่า และยังสามารถปลูกต้นหมากเพิ่มได้ทุกปี

เสน่ห์ทะเลหมอก 2 แผ่นดิน ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนบ้านกลอเซโลกันอย่างต่อเนื่อง (ภาพจาก : เพจองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)




กำลังโหลดความคิดเห็น