xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุด 7 แหล่งกิน-เที่ยว มือใหม่เมืองจันทบุรี เสน่ห์หลากสีสันแห่งแดนตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทิวทัศน์ยามเย็น “ชุมชนริมน้ำจันทบูร
ชวนเที่ยวชุมชนริมน้ำสุดน่ารัก อาสนวิหารฯวิจิตรระดับประเทศ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัดเก่าแก่ที่มีสมบัติของชาติโดยกรมศิลปากร และสนุกเพลิดเพลินกับการพายซับบอร์ดท่องเที่ยวเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในป่าชายเลนน่าตื่นตาตื่นใจ ฯลฯ โปรแกรมท่องเที่ยวอัดแน่นเหล่านี้ ทั้งหมดอยู่ใน “เมืองจันทบุรี”

จันทบุรี เมืองนี้มีของดีมากมาย หากใครยังไม่เคยไปเที่ยวเมืองจันท์เลย ขอบอกว่าพลาด ดังนั้นสำหรับมือใหม่อยากไปเยือนเมืองจันท์ เราขอแนะนำ 7 สถานที่ท่องเที่ยวและร้านอร่อย ที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองจันทบุรี รับรองว่าไปแล้วจะหลงรักเมืองสีสันแห่งแดนตะวันออก

ชุมชนริมน้ำจันทบูร: ถนนสายแรกกับชุมชนริมแม่น้ำสุดน่ารัก


ใครมาเยือนเมืองจันท์เป็นครั้งแรก “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” คือ จุดหมายปลายทางภาคบังคับที่ไม่ควรพลาด เส้นทางเดินเท้าไปตามถนนเลียบแม่น้ำจันทบุรี หรือถนนสุขาภิบาล ซึ่งเป็นถนนสายแรกของจันทบุรี ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สองข้างทางขนาบไปด้วยบ้านเรือนร้านค้าสไตล์ย้อนยุค ผสมไปกับความร่วมสมัยเข้ากันได้อย่างกลมกลืน

ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรี
ย้อนอดีตไปยังจุดเริ่มต้น ชุมชนริมน้ำแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “บ้านลุ่ม” หรือ
“ท่าหลวง” มีชาวจีน
ชาวญวนอพยพมาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พัฒนามาสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าของเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๕
จึงถือเป็นหนึ่งในถนนสายประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรี

แม้ว่าปัจจุบัน ถนนสายนี้มีเสน่ห์ในรูปแบบเมืองเก่าผสมผสานไปกับความร่วมสมัยใหม่ๆตามยุคสมัย แต่ความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยังคงปรากฏให้เห็น สะท้อนจากสถาปัตยกรรมของอาคารบางหลังที่มีทั้งรูปแบบชิโนยูโรเปียน คล้ายตึกฝรั่งแบบปีนัง หรือสิงคโปร์ บางหลังก็เป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยา บ้านไม้ขนมปังขิง ลวดลายฉลุไม้งดงาม ใครที่โปรดปรานการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมย้อนยุคคงเดินชมได้เพลิดเพลินไม่มีเบื่อ

สตรีทอาร์ตบนผนังอาคารเก่าในชุมชนจันทบูร
การเดินเที่ยวชุมชนริมน้ำจันทบูร มีจุดแวะน่าสนใจมากมาย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ริมน้ำจันทบูร ที่เสมือนพิพิธภัณฑ์เล็กๆในท้องถิ่น, แวะชิมไอศกรีมตราจรวด ไอศกรีมแบบโบราณเปิดขายมากว่า 60 ปี, สตรีทอาร์ตที่เคยใช้ถ่ายทำโฆษณารังนกเมื่อหลายปีก่อน ที่เนรมิตให้ย่านเก่าราวกับอยู่ในประเทศแถบคาริบเบียน, ร้านขายยาจังกวงอัน ร้านยาจีนโบราณอายุกว่าร้อยปี เป็นต้น

ร้านค้าเก่าแก่ในชุมชนจันทบูร
ชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้ผู้มาเยือนได้รู้จัก “หลวงราชไมตรี” หรือ ปูณ ปุณศรี ผู้เป็นบิดาแห่งยางพาราในภาคตะวันออก บุคคลสำคัญท่านนี้ไม่เคยรับราชการ แต่คุณงามความดีที่ทำแก่แผ่นดินไทย จึงได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๖ เป็นหลวงราชไมตรี และบ้านพักของท่านก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งปรับเป็นโรงแรมที่พักสุดคลาสสิกติดริมแม่น้ำ

กลิ่นอายจากอดีตบนถนนสายแรกของเมืองจันท์
อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล: โบสถ์คาทอลิกวิจิตรระดับประเทศ

อีกสถานที่ภาคบังคับหลังจากเดินชมชุมชนริมน้ำจันทบูรไปเรียบร้อยแล้ว ต้องแวะมา “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” ศูนย์รวมใจของชาวคาทอลิกเมืองจันท์ ซึ่งนับเป็นโบสถ์คริสต์ที่มีความงามวิจิตรมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

อาสนวิหารที่งดงามอลังการอยู่กลางเมืองจันทบุรี เกิดจากในอดีตชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งหนีภัยสงคราม และข้อจำกัดเรื่องการนับถือศาสนา ล่องเรือมายังดินแดนสยามตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดชุมชนคาทอลิกเล็กๆ

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล
โดยโบสถ์หลังแรกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1711 เมื่อโบสถ์เก่าทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีการสร้างใหม่ จนกระทั่งการสร้างโบสถ์หลังที่ 5 สร้างสำเร็จในปี ค.ศ. 1909 นั่นคือ “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” ที่เต็มไปด้วยความวิจิตรแห่งสถาปัตยกรรมกอทิก ใช้เสาจากไม้สักทอง กระเบื้องโบราณจากฝรั่งเศส มีหอระฆัง หอนาฬิกา กระจกสีสเตนกลาสที่มีภาพนักบุญองค์ต่างๆ

ประวัติศาสตร์ด้านหนึ่งที่คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ยังทันได้เห็นและเก็บภาพไว้ คือ หลังคาโดมแบบกอทิกอันงดงามในปัจจุบันนี้ ย้อนไปในช่วงสงครามอินโดจีนเคยถูกถอดออกเพื่อป้องกันการเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศ และเป็นอย่างนั้นมาเนิ่นนานเรื่อยมาอีกหลายปี จนกระทั่งในวาระเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งศตวรรษ ในปี ค.ศ. 2009 อาสนวิหารฯ มีการบูรณะครั้งใหญ่ จึงมีการยกยอดโดมทั้งสองข้างกลับมาประดับให้งามสง่าดังเดิมอีกครั้ง

ความงดงามภายใน “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล”
ในปีเดียวกันชาวจันทบุรียังได้กันร่วมสร้าง “แม่พระประดับพลอย” องค์แม่พระที่ประดับด้วยพลอยจำนวน 200,000 เม็ด ประดิษฐานไว้ภายในอาสนวิหาร ลักษณะยืนเหยียบบนตัวงูอันเป็นสัญลักษณ์ของซาตานและความชั่วร้าย งดงามชนิดห้ามพลาดเมื่อเข้าไปชมด้านใน ขณะเดียวกันในปี 2009 ก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์พระนางมารีอาประดิษฐานขนาดใหญ่ไว้ด้านหน้าอีกด้วย ยิ่งเพิ่มความงดงามให้แก่อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมลขึ้นอีกหลายเท่า

แม่พระประดับพลอย
หากเป็นช่วงเวลาปกติในสัปดาห์คริสต์มาส บริเวณลานด้านหน้ารอบอนุสาวรีย์พระนางมารีอาฯ จะใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเฉลิมฉลองตามความเชื่อทางศาสนา พร้อมทั้งประดับไฟแสงสีเสียงงดงาม มีชาวจันทบุรี และนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างเดินทางมาชมความงามท่ามกลางสายลมหนาวเบาๆในช่วงปลายปี

สีสันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส หน้าลานอาสนวิหารฯ
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช: ตามรอยพระเจ้าตากฯ

เอกลักษณ์เด่นของ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมืองจันทบุรี คือ สถาปัตยกรรมทรงเก้าเหลี่ยม สร้างด้วยหินอ่อน มีหลังคาเป็นรูปพระมาลา หรือหมวกยอดแหลม ยอดบนเป็นฉัตรทองคำเก้าชั้นที่มีความวิจิตรสะดุดตา ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งหล่อด้วยทองเหลืองรมดำประทับนั่งทรงเมือง

ศาลแห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวจันทบุรีมาเนิ่นนาน และเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับผู้มาเยือนเมืองจันท์ครั้งแรก ควรค่าแก่การแวะมาสักการะเช่นกัน เพื่อรำลึกถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการกอบกู้เอกราช เมื่อครั้งเสียกรุง

หนึ่งในประวัติศาสตร์ก่อนจะมาเป็นสยามประเทศ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
หรือพระยาวชิรปราการ (สิน) ในขณะนั้น ได้รวบรวมไพร่พลทหารราว 500 คน
ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออก
และเห็นว่าจันทบุรีมีชัยภูมิที่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์
เพราะเป็นหัวเมืองชายทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีสงคราม
และยังมีชาวจีนแต้จิ๋ว เชื้อสายเดียวกันกับพระองค์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
จึงใช้เมืองจันท์เป็นฐานที่มั่น
ก่อนจะรวบรวมหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกได้ทั้งหมด
กลายเป็นส่วนสำคัญของการนำไปสู่การกอบกู้เอกราชได้ในที่สุด

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองจันทบุรี
สมัยก่อน ที่นี่เป็นเพียงศาลไม้ข้างศาลหลักเมือง แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ได้สร้างศาลแห่งใหม่โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบลักษณะเป็นศาลคอนกรีตสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีบันไดด้านหน้า และด้านข้างสามทาง ภายในประดิษฐานเทวรูปเทพเจ้าประจำพระองค์ของพระเจ้าตากสิน แต่ยังไม่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 ชาวจันทบุรี ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นใหม่เคียงคู่กับศาลเดิม ซึ่งคือศาลาทรงเก้าเหลี่ยมดังที่เห็นในปัจจุบัน


ค่ายเนินวง: ป้อมปราการโบราณเกือบ 200 ปี

ประตูทางเข้าค่ายเนินวง
หากลองหลับตาแล้วจินตนาการย้อนกลับไปเกือบสองศตวรรษก่อน
ประตูทางเข้าของ “ค่ายเนินวง”
ย่อมสร้างความรู้สึกน่าเกรงขามแก่ข้าศึกศัตรูได้ไม่น้อย
ด้วยลักษณะของภูมิศาสตร์ป้อมค่ายบนเนินเขา
ก่อกำแพงโดยรอบด้วยศิลาแลงแข็งแกร่งสง่างาม มีปืนใหญ่เรียงรายตามช่องใบเสมา
และยังมีร่องคูคลองกว้างล้อมรอบก่อนถึงแนวกำแพง
ส่วนประตูทางเข้าสูงใหญ่นั้นเป็นปราการมั่นคงไว้คอยสังเกตมองทุกความเคลื่อนไหวด้านล่าง

ค่ายเนินวง เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งของเมืองจันทบุรี สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2377 โดยใช้ศิลาแลงและอิฐของกำแพงเมืองจันทบุรีไปสร้าง สืบเนื่องจากการที่ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน ครั้งสงครามกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ ป้อมค่ายแห่งนี้จึงสร้างเพื่อเตรียมการรับศึกจากชาวญวนที่อาจจะยกทัพมาทางทะเล

ด้านบนแนวกำแพง มีปืนใหญ่โบราณตั้งอยู่เรียงราย
ในสมัยนั้นเมืองจันทบุรีมีภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสำหรับเป็นชัยภูมิในเชิงยุทธศาสตร์
เนินเขาบริเวณค่ายเนินวง จึงกลายเป็นเมืองใหม่
มีการวางแผนผังและก่อสร้างถูกต้องตามหลักยุทธศาสตร์
จนกล่าวกันว่าเมืองป้อมเนินวงเป็นเมืองที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่งของสยาม
ณ เวลานั้น

อย่างไรก็ตาม ความห่างไกลจากแหล่งน้ำประมาณ 1
กิโลเมตรในยุคก่อน
ก็ทำให้ราษฎรไม่ค่อยพอใจในการเข้าไปอยู่ในเมืองใหม่แห่งนี้มากนัก จนกระทั่ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อ ญวน
หรือเวียดนาม ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปแล้ว
พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเลือกอาศัยอยู่ได้ตามความสมัครใจ
คงไว้แต่เพียงเจ้าเมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้จัดการปกครองประเทศแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงทรงโปรดให้ย้ายตัวเมืองกลับไปยังบ้านลุ่ม หรือบริเวณริมน้ำจันทบูร แต่กระนั้นค่ายเนินวง ก็ได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แล้วว่า ครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้ คือ เมืองเก่าของจันทบุรี ซึ่งทุกวันนี้นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นอกจากป้อมค่ายโบราณแล้วด้านในยังมีสำนักงานโบราณคดีใต้น้ำกรมศิลปากร และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีอีกด้วย

วัดพลับ บางกะจะ: แหล่งโบราณสถานอันเป็นสมบัติของชาติ


พระปรางค์ ศิลปะสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ใครชื่นชอบการเที่ยววัดที่มีความเป็นโบราณสถาน ไม่ผิดหวังแน่ๆหากได้มาเยือน
“วัดพลับ บางกะจะ” วัดเก่าแก่ในตำบลบางกะจะ
ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ. 2300 โดยมีชื่อเดิมว่า
วัดสุวรรณติมพรุธาราม หมายถึง อารามที่มีผลมะพลับทอง

วัดแห่งนี้ไม่ใช่วัดใหญ่โตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลัก แต่ทว่าความเงียบสงบของวัดยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับความเป็นโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติไว้หลายอย่าง ควรค่าแก่การแวะมาชม รวมทั้งกรมการศาสนา ก็เคยคัดเลือกให้วัดพลับ บางกะจะ เป็นอุทยานการศึกษาประจำปี พ.ศ. 2553 มาแล้ว

เจดีย์กลางน้ำของวัดพลับ บางกะจะ
จุดเด่นของสถานที่ที่ได้รับการยกให้เป็นสมบัติของชาติ อาทิ พระปรางค์สูงตระหง่านราว 20 เมตร ศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2441 ส่วนยอดสุดตกแต่งด้วยยอดปรางค์ประดับตรีศูล ซึ่งเป็นศิลปะที่หายาก ไม่ค่อยได้พบเห็นนักในภาคตะวันออก, เจดีย์ทรงระฆังที่อยู่กลางน้ำ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง ตัวองค์ระฆังก่ออิฐถือปูนธรรมดาไม่ประดับกระเบื้องมีฐานประทักษิณ ตั้งอยู่กลางน้ำโดดเด่น, วิหารไม้ อายุร้อยปีรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส แกะสลักลวดลายไม้ฉลุที่งดงามด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นต้น

พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ภายในวิหารไม้
นอกจากสมบัติทรงคุณค่าภายในวัดแล้ว วัดพลับบางกะจะ ยังได้รับการสันนิษฐานว่า เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ใช้เป็นที่พักไพร่พลก่อนจะเข้าตีเมืองจันท์ในศึกสงครามกู้เอกราชอีกด้วย

ไร่ตามฟาร์มสุข: วิถีชนบทสุดชิลในเมืองจันท์


ออกจากตัวเมืองจันท์มาเพียงประมาณ 6 กิโลเมตร “ไร่ตามฟาร์มสุข” คือ สถานที่ที่จะมอบบรรยากาศสุดชิล เงียบสงบให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนแบบไม่วุ่นวาย ภายในพื้นที่แปลงเกษตรเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยบึงน้ำ คอกม้า ร้านอาหาร-ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายพลอยชั้นดี และยังเป็นจุดพายซับบอร์ดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

บรรยากาศสบายๆที่ไร่ตามฟาร์มสุข 17 กิจกรรมฝึกขี่ม้าที่ไร่
ด้วยพิกัดซึ่งตั้งอยู่ในตำบลบางกะจะ ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี พื้นที่ของไร่จึงเหมาะแก่การพักผ่อน และเป็นเส้นทางนอกกระแส สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะมาเยือนโดยเฉพาะ ผู้มาเยือนส่วนใหญ่เลือกเดินทางมารับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือแวะมาซื้อพลอย แต่สำหรับสายรักกิจกรรมกลางแจ้ง ก็มีโปรแกรมให้ฝึกขี่ม้า และพายซับบอร์ด ล่องไปตามคลองบางกะจะ ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติป่าชายเลนอันสมบูรณ์ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในเส้นทางพายซับท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) (ติดต่อได้ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก: facebook.com/raitamfarmsuk)

ภาพจากกิจกรรมพายซับบอร์ดของไร่ตามฟาร์มสุข
จันทรโภชนา: เมนูผลไม้เมืองจันท์กับร้านดังในตำนาน

หากมาเมืองจันทบุรีครั้งแรก แล้วอยากกินอาหารไทยสไตล์ท้องถิ่นขึ้นชื่อ แวะไปที่ร้าน “จันทรโภชนา” ก็รับประกันได้ว่าคงไม่ผิดหวัง สำหรับร้านชื่อดังที่เปิดขายมาแล้วกว่า 50 ปี และเสริมความสร้างสรรค์ด้วยเมนูผลไม้เมืองจันท์จนโด่งดังในระดับประเทศ

ร้านจันทรโภชนา
เดิมทีร้านเก่าแก่แห่งนี้เป็นร้านอาหารพื้นเมือง ขายเมนูท้องถิ่นตามงานเทศกาล หรือร้านตามตลาด เช่น หมูชะมวง เส้นจันท์ผัดปู และเมนูอาหารไทยทั่วไป แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่การเป็นร้านอาหารแรกๆที่นำวัตถุดิบจากท้องถิ่นทั้งผลไม้และสมุนไพรพื้นบ้านมาสร้างสรรค์เป็นเมนูแนะนำประยุกต์เป็นอาหารคาวให้เกิดมูลค่ามากขึ้น จากช่วงที่เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ไม่ว่าจะเป็น ยำมังคุด มัสมั่นทุเรียน สองเมนูเด็ดที่มาแล้วต้องลิ้มลอง

เมนูเส้นจันท์ผัดปู
ปัจจุบันจันทรโภชนาโด่งดังในระดับประเทศไปแล้ว แต่รสชาติและคุณภาพของอาหารก็ยังโดดเด่นไม่เปลี่ยน พร้อมทั้งเสริมเมนูใหม่ๆ อาทิ กระวานผัดฉ่าไก่ ไก่ผัดกะปิกระชายขาว ข้าวต้มจันทบูร ฯลฯ อร่อยและยังได้ประโยชน์ด้านสุขภาพ จนเป็นร้านอาหารครองใจทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้เสมอมา

ร้านมี 2 สาขา ได้แก่ สาขาเบญจมราชูทิศ กับ สาขามหาราช
ข้อมูลเพิ่มเติม: facebook.com/Chanthornrestaurant

เมนูยำมังคุด




กำลังโหลดความคิดเห็น