xs
xsm
sm
md
lg

เสริมมงคล "สรงน้ำพระธาตุ-เทวดานพเคราะห์" รับปีใหม่ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์
กรมศิลป์ ชวนเสริมมงคลกับกิจกรรม "สรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์" เนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน ๒๕๖๕ เวลา 09.00 - 16.00 น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ โดยกำหนดให้วันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” เป็นวันแรกของเทศกาล วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เรียกว่า "วันเถลิงศก" ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้วันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี เป็นเทศกาลสงกรานต์ ทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ในการรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น ผ่อนคลายช่วงที่ร้อน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลและรดน้ำอัฐิเป็นการแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษ ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มีพัฒนาการและแนวโน้มคลาดเคลื่อนไป โดยมุ่งแสดงความหมายเป็นแต่เพียงประเพณี เล่นน้ำสงกรานต์เท่านั้น ทำให้ประเพณีของไทยเสื่อมคลายความหมายที่ดีงามไป

ในฐานะแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบต่อองค์ความรู้อันเป็นรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีบทบาทในการเลือกสรรสืบทอดประเพณีที่เหมาะสม เพื่อผดุงความรู้มรดกวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์ต่อไป จึงได้อัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน และเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อโบราณ การสรงน้ำขอพรพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ จึงเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงและขอความเป็นสิริมงคลแก่ตนในปีใหม่ไทย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงได้จัดทำโครงการเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ ซึ่งนับเป็นกิจกรรมปีที่ 12 นับแต่พุทธศักราช 2554 เป็นต้นมา ในปีพุทธศักราช 2565 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ของไทยเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม และสืบทอดองค์ความรู้ในอดีตจากรุ่นสู่รุ่น

พระกรัณฑ์ทองคำลงยา ภายในประดิษฐานพระธาตุ
สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาให้สักการะ สรงน้ำ ขอพรปีใหม่


1. พระกรัณฑ์ทองคำลงยา ภายในประดิษฐานพระธาตุ

พระกรัณฑ์ทองคำลงยา ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เซนติเมตร สูง 3.5 เซนติเมตร เป็นภาชนะทองคำทรงโกศยอดปริกขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระธาตุ 23 องค์ เดิมที พระกรัณฑ์นี้อยู่ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน

ความเป็นมาของพระธาตุนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อาจมีการประดิษฐานไว้ในพระเศียรพระพุทธสิหิงค์มาก่อน แล้วจึงมีการสร้างพระกรัณฑ์ทองคำลงยาถวายภายหลัง หรือเป็นการประดิษฐานในภายหลังทั้งหมดก็เป็นได้ การจำหลักลายแล้วลงยาสีที่รู้จักกันในชื่อ การลงยา นั้น ปรากฏหลักฐานการใช้งานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากลวดลายที่ปรากฏ รวมทั้งสีและเทคนิคในการลงยา สันนิษฐานว่า ทำขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์
2. เทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ (เรียงตามลำดับทักษา)
เทวดานพเคราะห์ คือ เทวดาทั้ง 9 องค์ ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก 8 องค์ ที่ให้โทษหรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ จึงต้องมีผู้ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ พระคเณศ เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล

ในคติความเชื่อของไทย กล่าวว่า เทวดานพเคราะห์นั้นกำเนิดมาจากพระอิศวรเป็นเจ้าสร้างขึ้นมา ลักษณะที่ปรากฏจึงแตกต่างคติความเชื่อของฮินดู และมีความเชื่อมโยงทางคติความเชื่อทางพุทธศาสนามากกว่าศาสนาฮินดู

สำหรับประติมากรรมเทพนพเคราะห์ชุดนี้ หล่อขึ้นตามแบบเทพนพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน

ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

พระอาทิตย์
1. พระอาทิตย์
เทวดานพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งปวง พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ 6 ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกาย สีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร สัญลักษณ์เลข 1 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6

พระจันทร์
2. พระจันทร์
พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี สัญลักษณ์เลข 2 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 15

พระอังคาร
3. พระอังคาร
พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ สัญลักษณ์เลข 3 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 8

พระพุธ
4. พระพุธ
พระอิศวรทรงใช้ช้าง 17 เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษมีผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู สัญลักษณ์เลข 4 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 17

พระเสาร์
5. พระเสาร์
พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤตได้พระเสาร์มีสีกายดำคล้ำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์ สัญลักษณ์เลข 7 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 10

พระพฤหัสบดี
6. พระพฤหัสบดี
พระอิศวรสร้างจากฤษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์ สัญลักษณ์เลข 5 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 19 เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี

พระราหู
7. พระราหู
พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก 12 หัว (บางตำราว่าผีโขมด 12 ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระราหู มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมาน สีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพ นพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง ลุ่มหลงมัวเมา เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับ พระพุธ สัญลักษณ์เลข 8 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 12

พระศุกร์
8. พระศุกร์
พระอิศวรทรงสร้างจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤตเป็นพระศุกร์ มีผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์ สัญลักษณ์เลข 6 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 21 พระศุกร์เป็นครูของเหล่ายักษ์

พระเกตุ
9. พระเกตุ
พระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา (เปลวไฟ) ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง บ้างว่า พระเกตุเกิดจากหางของพระราหู ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักร ตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็น พระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี สัญลักษณ์คือเลข 9



สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น