xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุด 3 จุดอันซีนกรุงเทพฯ ตามรอยหมอยาไทยชื่อดังในตำนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาคาร “พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน” บริเวณแยกเสือป่า
ชวนเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ด้านยาและการแพทย์สมัยโบราณในกรุงเทพฯ กับ 3 สถานที่ท่องเที่ยวขนาดเล็กจิ๋ว แต่ทว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจเกี่ยวกับยาตำรับโบราณ และการแพทย์ยุคก่อน ที่ในวันนี้ปรับเปลี่ยนมาเป็นความร่วมสมัยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ที่ไม่ควรพลาด

พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน


บนถนนเจริญกรุง บริเวณสี่แยกเสือป่า มีอาคารที่โดดเด่นสะดุดสายตาเป็นตึกแถวสไตล์เรอเนสซองซ์ นีโอ คลาสสิก และปอลลาเดียน สีเหลืองนวลที่ตระหง่านอยู่มุมถนน คือ อาคารที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน” (Berlin Pharmaceutical Museum)

ในอดีตอาคารแห่งนี้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ (ในสมัยที่ดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้ารำไพพรรณี) ต่อมามีการซื้อขายแก่เอกชนและปรับเปลี่ยนมาเป็นห้างขายยาเบอร์ลิน และเบอร์ลินคลีนิกในปี พ.ศ. 2475

การก่อตั้งเป็นห้างขายยาและคลีนิกในยุคนั้น เกิดจาก “นายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ” นายแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ของประเทศเยอรมัน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ชื่อ Tongji German Medical School หรือ มหาวิทยาลัยถ่งจี้ (Tongji University) ในปัจจุบัน

ห้องตรวจคนไข้ของ “นายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ”
คุณหมอชัยเป็นแพทย์ที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ แต่ด้วยแรงบันดาลใจที่อยากตอบแทนพ่อแม่ และแผ่นดินบ้านเกิด จึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทย โดยนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา มาสร้างประโยชน์ด้วยการเปิดคลีนิกเอกชน และห้างขายยาในตึกแถวริมถนนเจริญกรุง ให้การรักษาคนไข้ทุกชนชั้น และหากคนไข้เป็นผู้ยากไร้ไม่มีเงิน คุณหมอก็รักษาให้ฟรีๆไม่คิดค่าใช้จ่ายแถมยังให้ค่ารถกลับบ้านอีกด้วย

ปัจจุบัน ทายาทและตระกูลของคุณหมอชัย พัฒนาสูตรยาของคุณหมอ และต่อยอดไปสู่การเป็นบริษัทยาชั้นนำระดับประเทศ คือ บริษัทเบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตรี้ จำกัด ไปแล้ว อาคารที่เคยเป็นห้างขายยาในอดีตจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ “ศ.เกียรติคุณ นพ.เติมชัย ไชยนุวัติ” บุตรชายคนโต ที่ต้องการสร้างอนุสรณ์เป็นที่ระลึกแด่คุณพ่อ เป็นที่มาของการเปลี่ยนอาคารเก่าให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้หนึ่งในประวัติศาสตร์การแพทย์เอกชนในย่านเยาวราช

ห้องจัดแสดงเล็กๆ แต่ถ่ายทอดเรื่องราวได้ครบถ้วน
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน ก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2559 เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก รูปแบบคล้ายนิทรรศการ ทางเข้ามีภาพถ่าย และสิ่งของบอกเล่าประวัติของต้นตระกูลไชยนุวัติ คือ นายตงหยง แซ่ไช่ (พ่อของคุณหมอชัย) ชาวจีนแคะจากเมืองกว่างโจว ประเทศจีน ที่อพยพมาตั้งรกรากในสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทำให้ผู้มาเยือนได้เห็นภาพชีวิตของชาวจีนอพยพในยุคนั้น รวมถึงของหายาก เช่น หมอนเซรามิกสำหรับคนสูบฝิ่น และอุปกรณ์สูบฝิ่นของคนยุคก่อน เป็นต้น

อุปกรณ์สูบฝิ่นของคนจีนในสมัยก่อน
ห้องจัดแสดงที่สองเป็นห้องจำลองคลีนิก มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ของจริงในยุคก่อน โต๊ะคุณหมอที่ใช้ตรวจคนไข้ เตียงคนไข้ ตำราแพทย์ของเยอรมัน รวมไปถึงป้ายภาษาจีนที่แสดงความยินดีกับคุณหมอเมื่อครั้งเปิดกิจการ ส่วนห้องถัดมา เป็นบรรยากาศของการทำธุรกิจยาสูตรคุณหมอชัย ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้กับ บริษัทเบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล ฯ มีการจัดแสดงเครื่องผลิตยารุ่นก่อน ยาสมัยอดีตที่คุณหมอชัยทำออกมารุ่นแรกๆ รวมถึงวิดีทัศน์ที่ให้ความรู้เรื่องการผลิตยาในปัจจุบัน

เครื่องผลิตยาเม็ดในอดีต
ปิดท้ายบริเวณทางออกอีกด้าน เป็นร้านกาแฟเล็กๆชื่อ Berlin Museum Cafe มีเครื่องดื่มและขนมให้บริการ ให้ผู้มาเยือนจิบกาแฟไปพร้อมชมบรรยากาศของวิถีชีวิตและรถราขวักไขว่ริมถนนเจริญกรุง

บรรยากาศภายในร้าน Berlin Museum Cafe
(พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน ตั้งอยู่ที่ 359 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เปิด 8.30-16.30 น. (ปิดวันจันทร์) ค่าเข้าชม 50 บาท ใช้เป็นส่วนลดคาเฟ่ได้ 10% และรายได้ส่วนหนึ่งนำไปสมทบเพื่อการกุศล)

บำรุงชาติสาสนายาไทย หรือ บ้านหมอหวาน


อาคาร “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ซ่อนตัวอยู่ในซอยเทศา
ซอยเทศา เป็นตรอกเล็กๆละแวกเสาชิงช้าที่หากไม่ทันสังเกตก็อาจมองผ่านเลยไปราวกับเป็นเส้นทางลับเปิดเฉพาะให้เห็นสำหรับผู้ที่สนใจ ที่นี่คือสถานที่ตั้งของอาคาร “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือ บ้านหมอหวาน หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่ทรงคุณค่าในพระนคร

ภายในรั้วรอบขอบชิดอาคารสไตล์โคโลเนียลที่สวยงามย้อนยุคนั้น เป็นร้านขายยาระดับตำนาน และในอดีต คือ บ้านของ “หมอหวาน รอดม่วง" นายแพทย์ไทยแผนโบราณที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๘

เริ่มแรกนั้น หมอหวานมีร้านขายยา “ยาไทยตราเฉลว” อยู่ริมถนนเจริญกรุง (บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามยอดในปัจจุบัน) จนกระทั่งย้ายมาย่านเสาชิงช้าในปี พ.ศ. 2466 แล้วใช้ชื่อใหม่ว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวตรงกับจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของวงการแพทย์ในประเทศไทย เพราะมีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉบับแรกเกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะและขึ้นทะเบียนจากทางการเท่านั้นจึงสามารถรักษาคนไข้ได้

ยาหอม ภูมิปัญญาแพทย์ไทยแผนโบราณ
การบังคับใช้พระราชบัญญัติฯดังกล่าว ทำให้หมอไทยพื้นบ้านหลายคนจำเป็นต้องเลิกอาชีพของตนเพราะกลายเป็นหมอผิดกฎหมาย ไม่กล้ารับรักษาคนไข้ บ้างก็จำต้องทิ้งตำรับตำราโบราณที่ตกทอดสืบกันมาไปเลย แต่หมอหวาน นับเป็นผู้มีความรู้ทั้งด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์สมัยใหม่แผนตะวันตก จึงยังเปิดรักษาคนไข้ต่อไป พร้อมทั้งจำหน่ายยาไทยแผนโบราณควบคู่กัน ซึ่งการเปิดร้านบำรุงชาติสาสนายาไทย ที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ก็ยังสื่อเป็นนัยว่า ร้านแห่งนี้มีความทันสมัย และเปิดรับความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่อีกด้วย

ปัจจุบัน “บ้านหมอหวาน” ยังคงได้รับการสืบทอดมรดกแพทย์แผนไทย และยาไทยโบราณ ต่อเนื่องมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 คือ “ภาสินี ญาโณทัย” ที่นอกจากสานต่อเจตนารมณ์ในการบำรุงรักษาภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษแล้ว ยังเปิดให้บ้านเก่าหลังนี้เป็นทั้งสถานที่จำหน่ายยาไทย และเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้รับความรู้ทั้งจากประวัติศาสตร์การแพทย์ยุคก่อน ยาไทยพื้นบ้าน และคุณค่าด้านวัฒนธรรมของแพทย์แผนไทย ซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในกรุงเทพ จนได้รับรางวัล “พิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม” เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ตู้ไม้ขนาดใหญ่ที่จัดวางเครื่องประกอบและยาสมุนไพรไว้หลากหลายชนิด
แม้ว่าพื้นที่ความเป็นพิพิธภัณฑ์ของบ้านหมอหวาน มีขนาดเล็กเพียงห้องโถงเดียว แต่ก็นับว่าสร้างความน่าตื่นเต้นให้แก่ผู้มาเยือนได้ไม่น้อย เพราะตู้ไม้ขนาดใหญ่ที่เด่นหราอยู่เบื้องหน้า คือ ตู้สะสมยาไทย และส่วนผสมของเครื่องยาแผนโบราณจำนวนมาก ที่มีความสมบูรณ์ และไม่อาจหาชมได้จากที่ไหนง่ายๆ รวมทั้งยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งแผนไทย และแผนตะวันตก เช่น เครื่องบดยา หินบดยา รางปั้นเม็ดยา โกร่งบดยา หม้อต้มยา หูฟังเสียงหัวใจ บีกเกอร์ หลอดทดลอง ฯลฯ ของเก่าดั้งเดิมให้ชม ผสมรูปแบบการเล่าเรื่องจากผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนใครคิดว่า ยาไทย ยาแผนโบราณ จะเป็นรูปแบบเชยๆ คร่ำครึ ก็บอกได้เลยว่าคิดผิด เพราะยาไทยที่บ้านหมอหวานที่ปรุงขายในปัจจุบันนั้น อยู่ภายใต้ฉลากและแพ็คเกจที่ออกแบบอย่างสวยงาม ผสมผสานความเป็นไทยแต่ก็มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย น่าซื้อใช้ หรือจะซื้อเป็นของฝากให้ผู้อื่นก็ดูเป็นสิ่งมีคุณค่าน่าจดจำ

ยาไทยของบ้านหมอหวานออกแบบ ในแพ็คเกจที่สวยงามน่าซื้อ
(บำรุงชาติสาสนายาไทย หรือ บ้านหมอหวาน ตั้งอยู่ที่ ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน 9.00-17.00 น.)
หมายเหตุ: เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 การเปิดเที่ยวชมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์จึงงดชั่วคราว แต่ผู้สนใจสินค้ายังสามารถติดต่อล่วงหน้าเพื่อซื้อยาได้ตามปกติ สอบถามที่ โทร. 02 221 8070 หรือ https://mowaan.com/pages/ติดต่อเรา


บ้านยาหอม


“บ้านยาหอม” เรือนไม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖
บ้านไม้สองชั้นท่ามกลางความร่มรื่น มีหลังคาปั้นหยาสไตล์อิตาเลียนย้อนยุค กลิ่นอายบ้านในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถูกปิดทิ้งไว้ราว 40 ปี จนกระทั่งต้นปี พ.ศ. 2563 ทายาทรุ่นที่ 5 ได้จัดการฟื้นฟูรีโนเวทใหม่เอี่ยมอ่อง กลายเป็นทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านนวดแผนไทย ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้มาเยือนจำนวนมาก โดยสิ่งที่เป็นจุดขายสำคัญคือ เรื่องราวของบ้านที่เป็นหนึ่งในตำนาน “ยาหอม” ของไทย

บ้านยาหอม” เป็นบ้านของตระกูลบุณยะรัตเวช ต้นตระกูลสำคัญผู้สร้างตำนานยาหอมในอดีต โดยเริ่มแรกเป็นพ่อค้าชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากในสยาม ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๓ ขายเครื่องสมุนไพรอยู่ละแวกคลองโอ่งอ่าง ก่อนที่ “ขุนทรงสุขภาพ” ทายาทในรุ่นถัดมา จะโยกย้ายที่พำนักมาเริ่มต้นชีวิตใหม่บริเวณสี่แยกคอกวัว ที่ตั้งของบ้านยาหอมในปัจจุบัน

ภาพถ่ายเล่าเรื่องราวของตระกูลบุณยะรัตเวช
หลังจากย้ายมาจากคลองโอ่งอ่าง “ขุนทรงสุขภาพ” ไม่ได้ขายสมุนไพรแบบเดิม แต่ได้ใช้พื้นที่ของบ้านยาหอมเริ่มต้นกิจการใหม่ ด้วยการใช้เป็นโรงงานผลิตยาหอมอันเลื่องชื่อ คือ "ยาหอมตราม้า สุคนธโอสถ” โดยตั้งชื่อยี่ห้อนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บิดาที่เกิดปีม้า

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีพระราชบัญญัติห้ามตั้งโรงงานในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ครอบครัวบุญยะรัตเวช จึงย้ายโรงงานไปที่อื่นก่อนจะยุติกิจการไปตามยุคสมัย รวมถึงความไม่สะดวกเรื่องการหาวัตถุดิบ บ้านหลังเก่าที่เคยเป็นโรงงานยาหอมจึงปิดตายไปหลายสิบปี

ถ้วยเครื่องปั้นดินเผา ส่วนหนึ่งของการปรุงยาสมัยโบราณ
จนกระทั่งทายาทรุ่นที่ 5 อย่าง “ดลชัย บุณยะรัตเวช” ซึ่งเป็นนักสร้างแบรนด์ ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหอม และที่พัก มีวิสัยทัศน์อยากสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในเรื่องสมุนไพรไทย วิชาการแพทย์แผนไทยในอดีต รวมถึงอยากถ่ายทอดประวัติศาสตร์ตำนานยาหอมให้คนรุ่นปัจจุบันได้รู้จัก จึงตัดสินใจรีโนเวทบ้านเก่าแก่มาเป็นบ้านยาหอมยุคใหม่อย่างที่เห็น

ห้องนวดแผนไทย
แม้ว่าบ้านยาหอม มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนในความเป็นร้านอาหาร-คาเฟ่ และร้านนวดแผนไทย แต่ภายในบ้านหลังนี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวจากอดีตที่น่าสนใจ ตั้งแต่เรือนไม้คลาสสิกที่ยังมีโครงสร้างสมบูรณ์ ภาพถ่ายเก่าเล่าเรื่องราวของตระกูลผู้ให้กำเนิดยาหอมตราม้า อุปกรณ์การปรุงยาหอม ของประดับตกแต่งย้อนยุคสวยงาม ฯลฯ ดังนั้น หากจะจัดเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านยาไทยโบราณในอีกมุมหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ ก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

การปรับเปลี่ยนภายในบ้านยาหอมให้เป็นร้านอาหาร-คาเฟ่ที่มีความร่วมสมัย
(บ้านยาหอม ถนนตะนาว แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิด 9.00-21.00 น. (ปิดวันจันทร์) โทร.09 5764 2768
facebook.com/BAANYAHOMZANTIIS)





กำลังโหลดความคิดเห็น