xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนาน 110 ปี “บ้านหิมพานต์” จากคฤหาสน์สุดหรู สู่ “วชิรพยาบาล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ย้อนตำนาน 110 ปี บ้านหิมพานต์
หากย้อนเวลาไปกว่า 100 ปี “อาคารวชิรานุสรณ์” ตั้งอยู่บนพื้นที่ของ “วชิรพยาบาล” เคยเป็น “บ้านพระสรรพการหิรัญกิจ” คฤหาสน์สีเหลืองหลังงามของ “พระสรรพการหิรัญกิจ” (เชย อิศรภักดี) หรือที่รู้จักกันในนาม “บ้านหิมพานต์” โดยการสร้างบ้านหลังนี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2448 - 2451

เดิม “บ้านของพระสรรพการ” มีอาคารหลักจำนวน 2 หลัง อาคารหลักทั้งสองหลังขอเรียกว่า “ตึกพระสรรพการหิรัญกิจ” และ “ตึกคุณทรัพย์” (ปัจจุบันไม่หลงเหลือแล้ว) ตามชื่อของเจ้าของบ้านและภรรยา หรือที่เรียกในภายหลังว่า ตึกเหลือง และ ตึกชมพู ตึกทั้งสองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศิลปะตะวันตก ผังอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านยาวออกสู่ด้านหน้า รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบนีโอคลาสสิก (Neo classic) ที่มีการผสมผสานองค์ประกอบตกแต่งจากสถาปัตยกรรมแบบโกธิค (Gothic) และศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ซึ่งงานออกแบบในลักษณะนี้เป็นความถนัดพิเศษของกลุ่มช่างอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในสยามเวลานั้น

สถาปัตยกรรมเป็นแบบนีโอคลาสสิก

ประตูบ้านหิมพานต์
นอกเหนือจากตัว “บ้านหิมพานต์” ซึ่งใช้เป็นบ้านพักของพระสรรพการหิรัญกิจแล้ว บริเวณด้านหลังของบ้าน ยังได้สร้างเขาดินขนาดใหญ่ และเรียกว่า “ป๊ากสามเสน” สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พบประสังสรรค์ของชาวพระนคร โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 800,000 บาท

ภายในตึกพระสรรพการหิรัญกิจ

ความงดงามภายในบ้านหิมพานต์
พื้นที่ในป๊ากหรือบ้านหิมพานต์ มีที่ดินประมาณ 16,000 ตารางวา มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีประตูทางเข้าทางถนนสามเสน 2 ประตู มีประตูทางแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ประตู เรียกว่าประตูนาค ภายในกำแพงมีคลองกว้าง 4 วา ลึก 6 ศอกล้อมรอบ กลางป๊ากมีตึก 2 หลังทำอย่างประณีตงดงาม ภายในกำแพงมีกั้นอีกชั้นหนึ่ง

ห้องต่างๆ ที่อยู่ด้านในบ้าน

ลวดลายศิลปะอ่อนช้อยสวยงาม
ภายนอกหรือตอนหน้าตึก มีโรงละครใหญ่ 1 โรง กระโจมแตร 1 กระโจม มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีสระว่ายน้ำและสนามหญ้า มีเขาก่อด้วยหินขนานใหญ่ มีถ้ำสำหรับเข้าไปเที่ยวภายในได้ ภายในหลังบ้านมีเขาดิน ถนนบนเขาทำด้วยปูนซีเมนต์ ภายในอุโมงค์กว้างขวางและมีทางออกจากอุโมงค์ลงสระน้ำขนาดใหญ่ได้ บนเขามีที่พักทำด้วยศิลาและปลูกแต่ไม้หอมมีกระโจมบนยอดเขา และมีที่พักหลายแห่ง เป็นกระโจมบ้าง เป็นเรือนบ้าง

สถาปัตยกรรมเป็นแบบนีโอคลาสสิก

สถาปัตยกรรมเป็นแบบนีโอคลาสสิก
สำหรับที่มาของคำว่าบ้านหิมพานต์ คาดว่าจะมาจากสวนขนาดใหญ่ ที่มีต้นไม้นานาพรรณ และภูเขา บ่อน้ำจำลองต่างๆ มากมายแปลกตา ราวกับป่าหิมพานต์

บรรยากาศภายในตึกพระสรรพการหิรัญกิจ
ในวันเปิดป๊ากสามเสน พระสรรพการหิรัญกิจได้อันเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เสด็จมาเปิดประตูบ้านหิมพานต์และป๊ากสามเสนเป็นฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 โดยป๊ากสามเสนนี้มีการเก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท สำหรับรายปีมีแบบเหรียญทองปีละ 200 บาท และเหรียญเงินปีละ 100 บาท ส่วนโรงละครนั้นสร้างแบบยุโรป มีการเก็บค่าเข้าชมตามลำดับชั้น ตั้งแต่ 1 บาท ถึง 60 บาท มีการแสดงมหรสพ ได้แก่ งิ้ว หนังฉาย เพลงฉ่อย ลิเกทรงเครื่อง เครื่องสาย ละครพูด และนำหนังจากยุโรปเข้ามาฉาย



โดยรอบบ้านหิมพานต์

บริเวณชั้น 2 ของบ้าน
ต่อมาไม่นานเป็นที่น่าเสียดายว่า ภายหลังจากบ้านหิมพานต์สร้างเสร็จและเปิดใช้งานได้เพียง 2 - 3 ปี ป๊ากสามเสนเป็นอันต้องถูกปิดตัวลง เนื่องจากพระสรรพการหิรัญกิจได้ดำเนินกิจการธนาคารเสียหายจนถูกฟ้องล้มละลายกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2453 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ถอดยศพระสรรพการหิรัญกิจ โดยบ้านและที่ดินก็ถูกยึดตกเป็นทรัพย์สินของแบงก์สยามกัมมาจล แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์

บริเวณด้านหน้าบ้านหิมพานต์
และในปีนั้นเองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวนเงิน 240,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณบ้านพระสรรพการหิรัญกิจจากแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด เพื่อจัดตั้งเป็นสถานพยาบาล โดยทรงมอบให้เป็นสาธารณะประโยชน์ในความดูแลของกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล พร้อมให้ชื่อว่า “วชิรพยาบาล”

บริเวณระเบียงชั้นบน

ย้อนตำนาน 110 ปี บ้านหิมพานต์
ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้บูรณะอาคารวชิรานุสรณ์ ให้กลับคืนความสวยงามทั้งภายนอกและภายใน ตามแบบคฤหาสน์ของชาวตะวันตกในสมัยนั้น เพื่ออนุรักษ์อาคารแห่งประวัติศาสตร์นี้ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่แห่งทุ่งสามเสนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการสืบค้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ครบถ้วน ซึ่งภายในมีภาพวาดบนเพดานที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละห้อง จากจำนวนห้องทั้งหมด 37 ห้อง

ย้อนตำนาน 110 ปี บ้านหิมพานต์

ย้อนตำนาน 110 ปี บ้านหิมพานต์
หากใครสนใจเข้าชมสามารถมาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศโดยรอบของตัวอาคารจากภายนอกได้ ส่วนด้านในกำลังปรับปรุงส่วนของพิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2244-3688

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น