xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! “กุ้งเครย์ฟิช” โผล่น้ำตกศรีดิษฐ์ บางคนโยงมั่วพาดพิงโครงการหลวง เจอสวนกลับ “เลวนะครับ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก Hardi Thin
พบ “กุ้งเครย์ฟิช” สัตว์น้ำเอเลี่ยนโผล่น้ำตกศรีดิษฐ์ ชาวเน็ตถกสนั่นหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ที่ผ่านมามีคนลักลอบทิ้งกุ้งเครย์ฟิชลงแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก แต่ไม่วายมีชาวเน็ตบางคนโยงมั่วพาดพิงโครงการหลวง จนเจอสวนกลับ “เลวนะครับ”

เป็นประเด็นดราม่าฮือฮาอีกครั้ง หลังพบ “กุ้งก้ามแดง” หรือ “เครย์ฟิช”สัตว์น้ำที่ได้ชื่อว่าเป็นเอเลี่ยน บริเวณน้ำตกศรีดิษฐ์ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ หวั่นหากพบเยอะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ ชาวเน็ตถกถึงที่มาของเจ้ากุ้งนี้ ด้านกรมประมงเตือนหากพบมีการปล่อยสัตว์น้ำนี้มีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท

ภาพจาก Hardi Thin
หลังจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Hardi Thin ได้โพสต์ภาพกุ้งชนิดหนึ่งพร้อมข้อความลงในกลุ่ม “siamensis.org” ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ข้อความว่า “น้ำตกศรีดิษฐ์ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ กับสิ่งที่เปลี่ยนไป”

เรื่องดังกล่าวทำให้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และระบุว่ากุ้งชนิดนี้คือ “กุ้งก้ามแดง” หรือ “เครย์ฟิชออสเตรเลีย” ที่เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น (เอเลี่ยนสปีชีส์) เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้หากพบจำนวนมาก พวกมันจะจับสัตว์น้ำท้องถิ่นตัวเล็กๆ กินจนมีโอกาสสูญพันธุ์ และอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ เหมือนดังกรณีของปลาซัคเกอร์นั่นเอง

ภาพจาก Hardi Thin
สำหรับ “กุ้งเครย์ฟิช” มีจุดเด่นที่มีสีสันสวยงาม และในอดีตเคยได้รับความนิยม มีการซื้อขายในราคาสูงถึงหลักแสนบาท จึงถือว่าเป็นกุ้งเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดี แต่ปรากฏว่า ในระยะหลังมีการเพาะเลี้ยงกันจำนวนมาก แต่ราคาขายต่อตัวตกต่ำลงถึงขั้นขายไม่ออก ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงต้องเสียค่าอาหารให้กับกุ้งเครย์ฟิชสูงถึง 500 - 600 บาทต่อวัน ทำให้มีผู้เพาะเลี้ยงบางรายแอบลักลอบปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งทางกรมประมงเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะจัดเป็นพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น (เอเลี่ยน สปีชีส์) เช่นเดียวกับปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น ปลาหมอสีคางดำ ปลาพีคอกแบส

ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2558 ที่ผ่านมาบ้านเราได้มีการนิยมเพาะเลี้ยง กุ้งเครย์ฟิชในหมู่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้กุ้งล้นตลาด แจ่เมื่อกระแสตกไปจึงเกิดเป็นข่าวว่าเริ่มมีการปล่อยกุ้งเหล่านี้ทิ้งขว้าง บ้างก็ละเลย หรือลักลอบแบบปล่อยพวกมันลงแหล่งน้ำตามธรรมชาติทำให้มีการพบเจอกุ้งเครย์ฟิชตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จนมีคนหวั่นว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศ หากกุ้งชนิดนี้ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศกับแหล่งน้ำท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต่อมาในช่วงปี 2560 ทางกรมประมงได้มีการร่างกฎหมายที่มีอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นมาควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าจากคณะกรรมการคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (ไอบีซี) จำนวน 69 รายการ หากมีผลบังคับใช้กรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพจาก Garnelio
จากกรณีนี้ชาวเน็ตได้มีถกเถียงถึงที่มาที่ไปของการพบกุ้งเครย์ฟิชนี้ มีบางคนพยายามโยงเข้าประเด็นว่าอาจหลุดมาจากโครงการหลวง ที่ได้เคยมีการทดลองเลี้ยงกุ้งชนิดนี้เมื่อช่วงปี 2545-2549 ทำให้ นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจฟาร์มปลาสวยงาม ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กในบัญชีรายชื่อส่วนตัว “Nitipat Bhandhumachinda” ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชในโครงการหลวง พร้อมทิ้งท้ายถึงผู้ที่พยายามโยงมั่วไปโทษโครงการหลวงว่า "เลวนะครับ" ดังต่อไปนี้



ว่าด้วยเรื่อง"กุ้งก้ามแดง"
วันก่อนในเพจอนุรักษ์เพจหนึ่ง
มีคนนำภาพการพบกุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งต่างถิ่นกลุ่ม เครย์ฟิช ที่มีชื่อวิทย์ว่าCherax
quadricarinatus ในพื้นที่แหล่งธรรมชาติ
แล้วก็มีบางคนพาดพิงในทำนองว่า
เป็นกุ้งที่หลุดมาจากโครงการหลวง
ก็เลยต้องขอท้าวความว่า
กุ้งชนิดนี้เคยมีการนำมาทดลองในโครงการหลวงจริง
โดยเป็นการเพาะเลี้ยงทดลองขึ้นที่โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
โดยจุดมุ่งหมายในการทดลองหาความเป็นไปได้เพื่อให้ชาวนามีรายได้พิเศษจากการเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตน
โดยการทดลองนั้นทำการในช่วงประมาณปี
2545-2549 นั้นก็ทำกันในระบบปิด โดยมี
ผลผลิตรุ่นแรกนำมาใช้ประกอบอาหารในการถวายเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 13
มิถุนายน 2549 ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า
แต่เท่าที่ทราบมาการวิจัยก็ไม่ได้ขยายไปสู่เกษตรกรรมเป็นวงกว้าง
หรือมีหลุดรอดไปสู่แหล่งธรรมชาติแต่อย่างใด
กุ้งเครย์ฟิชก้ามแดงมาเริ่มขยายวงกันจริงๆก็ช่วงแถวๆปี
2558 หรือหลังจากโครงการหลวงนับเป็นสิบปี
ที่มีนักลงทุนนำสายพันธุ์เข้ามาเพาะเลี้ยง แล้วขยายวงกว้าง
ด้วยการใช้แผนการตลาดแบบเล็งผลเลิศเข้าสู่เกษตรกรโดยตรงว่า
สามารถขายผลผลิตกุ้งชนิดนี้ได้ในราคาที่สูง มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้โดยรายได้หลักของนักการตลาดก็คือขายลูกกุ้งในราคาที่สูง
ให้ชาวบ้านและเกษตรกรทั่วไปแห่กันซื้อไปเลี้ยง ทั้งในบ่อปูน หรือกระชังต่างๆ
โดยเล็งผลเลิศกันทุกคน ว่าเมื่อลูกกุ้งโต ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นกำไรมหาศาล
ตอนนั้นในตลาดปลาสวยงามเดินไปตรงไหนก็มีแต่
กุ้ง กุ้ง กุ้ง เครย์ฟิชเหล่านี้โผล่ผุดกันขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งสายพันธุ์ก้ามแดง
และสายพันธุ์สวยงามวงศ์Procambaras ใครต่อใครต่างก็หน้ามืดตาลาย
หวังกำไรจากกุ้งเครย์ฟิชกันทั้งนั้น ตลาดซื้อขายราคาปั่นกันสูงลิบ
ตอนนั้นจำได้ว่าไม่ว่าจะเตือนใคร
ให้ปากคอแหกแค่ไหน ก็ไม่มีใครยอมฟัง
ลงท้าย ผลผลิตก็ออกมาล้่นตลาด ใครต่อใคร
ที่ซื้อลูกกุ้งหรือ พ่อแม่พันธุ์ไป ต่างก็มีผลผลิตอยู่ในมือกันมากมายทั้งนั้น
แล้วก็ถึงคราวXXกันโดยพร้อมหน้า เพราะไม่ใช่แค่ขายไม่ได้ราคา แต่จะหาใครซื้อก็ยังไม่ได้
คนที่เคยสัญญิงสัญญาว่าจะกลับมาซื้อก็หายหัว จะให้ต้มทอดกินกันทั้งตำบลอย่างไรก็ไม่หมด
ลงท้ายตลาดก็วาย(วอด)
และเกษตรกรแต่ละคนที่มีผลผลิตล้นมือ ก็ทิ้งทำลายเลิกสนใจกันไปหมด
ซึ่งแน่นนอนว่า
เกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็คงจะปล่อยทิ้งๆขว้างๆอย่างไม่สนใจ
ไปตามแหล่งธรรมชาติอย่างแน่นอน
หากจะถามว่า
นี่เป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานหรือไม่ก็ต้องถือว่า
หากขยายพันธุ์ไปอย่างกว้างขวางก็อาจรุกรานในระดับหนึ่ง
แต่ไม่น่าจะถึงกับทำให้สัตว์สายพันธุ์ประจำถิ่นถูกแย่งแหล่งและอาหารจนถึงขั้นสูญพันธุ์แต่อย่างใด
คิดว่าน่าจะสร้างปัญหาใหญ่ได้หรือไม่
ก็คิดว่า โดยทั่วไปแล้วแม้จะสามารถปรับตัวได้ในสภาวะอากาศของประเทศไทย
แต่ก็มีความอ่อนไหวต่อสารเคมีในน้ำค่อนข้างสูง
และยังมีศัตรูที่พร้อมจะลดจำนวนสัตว์ชนิดนี้ได้ในธรรมชาติ
กุ้งเครย์ฟิชก้ามแดง ถูกขยายวงกว้างจาก
การฉ้อฉลของนักการตลาด และความไม่เท่าทันของประชาชนทั่วไปที่
เห็นแต่ตัวเงินก็ดีใจโดดเข้าไปให้เขาหลอก
การพบเจอสัตว์ต่างถิ่นในแหล่งธรรมชาตินั้น
เข้าใจได้ว่า อาจเป็นความกังวลของนักอนุรักษ์บางคน แต่ทุกคนก็น่าจะรู้ดี
ว่าการแพร่ระบาดนั้น เกิดจากความหน้ามืด
เล็งผลเลิศของคนไทยในสังคมเดียวกันทั้งนั้น
อยู่ๆสร้างปัญหากันเอง แล้วลงท้าย
จะหาเรื่องโทษโครงการหลวง ที่ต่างทั้ง บริบท วาระ เวลา และสถานที่ กันอย่างนี้
ผมก็ต้องถือว่า"เลว"นะครับ



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น