พาไปสัมผัสความงดงามของ “วัดจอมสวรรค์” อันซีนเมืองแพร่ วัดโบราณอายุกว่าร้อยปีที่ได้รับการยกให้เป็นสมบัติของชาติจากกรมศิลปากร ที่โดดเด่นไปด้วย ความงดงามของสถาปัตยกรรมพม่า ศิลปะแบบพุกาม ที่หลงเหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดแพร่
วัดโบราณสมัยรัชกาลที่ ๕
ริมถนนยันตรกิจโกศล ในเมืองแพร่ มีเรือนไม้สักยกสูงสีกรักแดง หลังคาสะดุดตาโดดเด่นลดหลั่นเป็นชั้น ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้รอบ สถานที่แห่งนี้ คือ “วัดจอมสวรรค์” หรือวัดจองเหนือ วัดโบราณที่คงความวิจิตรผ่านกาลเวลามากว่าศตวรรษ
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอน แต่เรื่องเล่าที่กล่าวถึงว่ากันว่า เดิมวัดเคยเป็นวัดรกร้างในป่ารกทึบ
“พ่อเฒ่ากันตี กับ นายฮ้อยคำมาก” พ่อค้าชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) อพยพพาครอบครัวเข้ามาอาศัยบริเวณที่ตั้งของวัดจอมสวรรค์ในปัจจุบัน พ่อค้าทั้งสองและชาวบ้านที่อพยพจึงได้ทำการบูรณะวัดร้างด้วยความศรัทธา แต่ก็ไม่ปรากฏปีที่แล้วเสร็จ หรือปีที่หยุดสร้าง
หลายปีต่อมา วัดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา “พ่อจอง นันต่า” พ่อค้าชาวไทใหญ่ที่เดินทางมาค้าขายในเมืองแพร่ มีส่วนสำคัญในการบูรณะวัดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2437 และได้สร้างเจดีย์ศิลปะแบบพม่าไว้ข้าง ๆ ทางตะวันออกของวัดรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์ ซึ่งการบูรณะครั้งใหม่นี้ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
วัดสถาปัตยกรรมพม่า ศิลปะแบบพุกาม หนึ่งเดียวในแพร่
ความโดดเด่นของวัดจอมสวรรค์ ต้องยกให้กับศิลปะการก่อสร้าง ที่งดงามทั้งภายนอกและภายใน สะท้อนสถาปัตยกรรมพม่างานช่างแบบพุกามเอาไว้ได้อย่างน่าชม
สถาปัตยกรรมการก่อสร้างวัด หรือจอง ของชาวไทใหญ่ มีลักษณะคล้ายเรือนหมู่แบบคนไทย แต่มีเอกลักษณ์ของการสร้างหลังคาทรงยอดปราสาทแบบพม่ามอญ เรียกว่า ทรงพญาธาตุ แต่ลดความซับซ้อนลง โดยมีหลังคาเล็กใหญ่ลดหลั่นกันเป็นชั้นรวม 6 ชั้น
ฝาผนังแบ่งเป็นตอนๆ คล้ายข้ออ้อย ความวิจิตรบรรจงภายในวิหาร เต็มไปด้วยเสาไม้สักทองลงรักปิดทองตกแต่งลวดลายคล้ายสีทองน้ำ ปรากฏข้อความเป็นภาษาพม่าจารึกไว้รอบเสามีจำนวนทั้งสิ้น 35 ต้น เสาอื่นๆ อีก 14 ต้น เพดานสูงที่แกะสลักเป็นลวดลายอ่อนช้อยฉลุไม้อย่างประณีตบรรจง และประดับกระจกสีไว้งดงาม มีโคมไฟระย้าส่องสว่างสะท้อนความงามของสถาปัตยกรรม และฉายความอร่ามเรืองของหลวงพ่อจอมสวรรค์พระประธานปางคันธราฐศิลปะพม่าที่อยู่ตรงกลางโถง
สมบัติของชาติจากกรมศิลปากร
หลายปีก่อนวัดจอมสวรรค์เคยทรุดโทรมเก่าไปตามกาลเวลา จนกระทั่งกรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของโบราณสถาน และโบราณวัตถุอันล้ำค่าที่มีอยู่ภายในวัด จึงได้จดทะเบียนไว้เป็นสมบัติของชาติ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2533 เพื่อจะได้อนุรักษ์ ไว้ให้ลูกหลานสืบไป
สำหรับความสำคัญของวัดยังเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุล้ำค่าอีกมากมาย อาทิ คัมภีร์โบราณ หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ที่ทำจากงาช้างโดยนำงาช้างมาบดละเอียดแล้วแผ่ออกเป็นแผ่น ดอกไม้หิน ปืนคาบศิลา หลวงพ่อสานหรือพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้างศิลปะแบบพม่า เป็นต้น
อันซีนเมืองแพร่
วัดจอมสวรรค์ นับเป็นศาสนสถานสำคัญ “หนึ่งเดียวของเมืองแพร่” ที่สร้างไว้ในรูปแบบศิลปะพม่า (พุกาม) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ในยุคสมัยหนึ่งของท้องถิ่น ไม่ควรพลาดแก่การมาชม
นอกจากสัมผัสความวิจิตรแห่งสถาปัตยกรรม สักการะพระประธาน และชมความงามของโบราณวัตถุแล้ว ภายในวัดยังมีการทอผ้าพื้นเมืองให้ชม ซึ่งผ้าดังกล่าวนำถักทอนำมาเป็นตุงที่นำมาถวายวัด เป็นการทำบุญที่ได้ทั้งการสืบทอดพุทธศาสนาและวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ปัจจุบันเรือนไม้ของวัด รวมถึงองค์เจดีย์ด้านนอกได้รับการบูรณะดูแลไว้เป็นอย่างดี โดยเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ผู้มาเยือนสามารถเข้าชมได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆใช้ลานกว้างด้านหน้าวัดสามารถจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสมได้อีกด้วย
วัดจอมสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เปิดให้เข้าชมทุกวัน 8.00-16.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ โทร. 054 521 118