ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นค้นพบครั้งแรกในโลก พะยูน "หาว" ใต้น้ำได้ ส่วนใหญ่เป็นช่วงที่มันกำลังพักผ่อน เป็นการเคลื่อนไหวค่อยๆ โดยอ้าปาก และปิดปาก ซึ่งเรียกว่าการหาวนั่นเอง
เพจ Japan Guide Book โพสต์ข้อมูลจากเว็บไซต์ news.tv-asahi.co.jp เกี่ยวกับผลการวิจัยล่าสุดของ "พะยูน" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ มีความยาวกว่า 3 เมตร หนักกว่า 400 กิโลกรัม จากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น (ที่ที่มีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโทบะ (Toba Aquarium) โดยทีมวิจัยค้นพบว่า ในช่วงเวลา 20 ชั่วโมง พบการเคลื่อนไหวในลักษณะที่คล้ายๆ กันถึง 14 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นช่วงที่มันกำลังพักผ่อน การเคลื่อนไหวนั้นก็คือ พะยูนจะค่อยๆ อ้าปาก และปิดปาก ซึ่งเรียกว่า "การหาว" นั่นเอง
รองศาสตราจารย์โมริซากะ ทาดามิจิ จากภาควิชาทรัพยากรชีวภาพ มหาวิทยาลัยมิเอะ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า หลักเกณฑ์การตัดสินว่าพะยูนหาว มันจะมาถูกทางรึเปล่า? ทางรองศาสตราจารย์ ได้ตอบว่า "ไม่ได้คำนึงถึงว่าจะมีการหายใจเกิดขึ้นหรือไม่ในเวลานั้น แต่ดูที่วิธีการอ้าปากของมันเป็นสำคัญ หรือก็คือการที่มันค่อยๆ อ้าปาก ค้างปากกว้างเอาไว้สักพัก แล้วสุดท้ายก็ปิดปากสนิท การเคลื่อนไหวแบบนั้นสามารถนิยามได้ว่าเป็นอาการหาวของพะยูน"
ทั้งนี้การหาวของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำทะเล ยังพบได้ในโลมาปากขวด ส่วนพะยูนเป็นการค้นพบในลำดับที่สอง ทางด้านรองศาสตราจารย์โมริซากะ ยังได้บอกเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะต้องวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหาวใต้น้ำของสัตว์ประเภทนี้ต่อไปด้วย
กดเพื่อชมคลิปได้ที่นี่