ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศรัสเซียและยูเครนกำลังสู้รบกันอยู่ในขณะนี้ สร้างความวิตกกังวลให้ทั่วโลกไม่น้อย ด้วยเกรงว่าจะลุกลามบานปลายไปเป็นสงครามใหญ่ ยิ่งเมื่อมีข่าวว่าทางรัสเซียมีคำสั่งให้ยกระดับการเตรียมพร้อมในการสู้รบให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงกองกำลังนิวเคลียร์ ก็ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้ทั่วโลกหวั่นเกรงว่าจะมีการใช้อาวุธพลังทำลายล้างสูงนี้สร้างความเสียหายต่อมนุษยชาติและโลกอีกครั้งหนึ่ง... ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ย้อนกลับไปเมื่อ 77 ปีที่แล้ว สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ.2488 เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรก (หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าระเบิดนิวเคลียร์) ใส่เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 ตามด้วยลูกที่สองใส่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่น ในวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 ซึ่งนับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม
ผลของระเบิดนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตที่เมืองฮิโรชิมะ 140,000 คนและที่นางาซากิ 80,000 ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตในทันที และอีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บหรือจากการรับกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดอีกนับหมื่นคน และผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดในทั้ง 2 เมืองเป็นพลเรือน หรือประชาชนชาวบ้านธรรมดาๆ นี่เอง ส่วนเมืองทั้ง 2 แห่งถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองด้วยฤทธิ์ของระเบิดปรมาณู
แม้ในวันนี้ประเทศญี่ปุ่นแทบไม่เหลือร่องรอยของเมืองที่ถูกทำลายจากพิษของสงครามแล้ว แต่ทางเมืองฮิโรชิมายังคงเก็บรักษาความทรงจำอันเจ็บปวดนี้ไว้เพื่อเตือนใจชาวโลกให้ตระหนักถึงความร้ายแรงของสงครามที่ไม่สร้างผลดีใดๆ เลย โดยได้สร้าง "สวนอนุสรณ์สันติภาพ" (Peace Memorial Park) สวนที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูในครั้งนั้น และเตือนใจผู้คนถึงความร้ายแรงของระเบิดปรมาณูและความร้ายแรงของสงคราม
ภายในสวนอนุสรณ์สันติภาพนี้มีสิ่งก่อสร้างหลายสิ่งด้วยกันที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงสงครามในครั้งนั้น รวมไปถึงซากสิ่งก่อสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากที่โดนระเบิด เช่น อาคารที่เรียกกันว่า อะตอมมิก บอมบ์ โดม (Atomic Bomb Dome) หรือรู้จักกันในชื่อเอบอมบ์โดม ที่เดิมใช้เป็นศูนย์แสดงสินค้าของเมืองฮิโรชิมา แต่หลังจากที่โดนระเบิดปรมาณูจนกลายเป็นซากตึกนั้น ตอนแรกก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรทำลายทิ้งไปเสียจะดีกว่าเพื่อไม่ให้เป็นการย้ำเตือนความทรงจำในเรื่องนี้ แต่ภายหลังก็ได้ข้อสรุปให้เก็บซากอาคารหลังนี้ไว้เพื่อเตือนใจชาวโลกทุกคน และปัจจุบันนี้ซากอาคารที่ถูกรักษาสภาพเดิมไว้ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ อีกทั้งยังได้รับการยกให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกด้วย
ในสวนอนุสรณ์สันติภาพนี้ยังมีอนุสาวรีย์ของเหยื่อระเบิดปรมาณู อนุสาวรีย์สร้างเป็นรูปทรงโค้งเหมือนกับต้องการจะปกป้องวิญญาณของเหยื่อเหล่านั้นให้อยู่อย่างสงบสุข แท่นหินภายในอนุสาวรีย์จารึกชื่อของผู้ที่เสียชีวิตจากระเบิดในครั้งนี้ รวมทั้งมีคำจารึกไว้ว่า "Let all the souls here rest in peace, for we shall not repeat the evil." จงหลับให้สบายเถิด จะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว...
เรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณูไม่ได้มีเพียงผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่ได้รับรังสีปรมาณูและก่อให้เกิดภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ เรื่องราวของหนูน้อยซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบเหล่านั้น เด็กหญิงซาดาโกะ ซาซากิได้รับรังสีปรมาณู ทำให้ป่วยเป็นโรคลูคิเมียหรือมะเร็งในเม็ดเลือดขาว และเสียชีวิตลงเมื่ออายุเพียง 12 ปี ซาดาโกะพยายามพับนกกระเรียนให้ได้ 1,000 ตัว ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่านกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพที่แข็งแรงและอายุยืนยาว หากพับนกกระเรียนได้ครบพันตัวก็จะสามารถอธิษฐานขอพรให้มีสุขภาพแข็งแรงได้
แต่ไม่ทันที่เด็กหญิงซาดาโกะจะพับนกกระเรียนได้ครบพันตัว เธอก็เสียชีวิตลงเสียก่อน หลังจากนั้นเด็กๆ จากทั่วประเทศญี่ปุ่นจึงมีการเรียกร้องและสนับสนุนให้สร้าง Children's Peace Monument หรืออนุสาวรีย์เพื่อไว้อาลัยเด็กๆ ผู้สูญเสียในครั้งนั้น อนุสาวรีย์นี้มีลักษณะเป็นแท่นหินสูง บนยอดมีรูปหล่อของเด็กผู้หญิง สองมือชูนกกระเรียนกระดาษไว้เหนือศีรษะ เหมือนจะเรียกร้องให้เกิดสันติภาพในโลกนี้อย่างแท้จริง
ภายในสวนอนุสรณ์สันติภาพนี้ยังมีอีกหลายจุดด้วยกันที่น่าสนใจเกี่ยวกับสงครามครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามไว้ ประวัติเมืองฮิโรชิมาจนถึงเมื่อโดนระเบิดปรมาณู สาเหตุของสงคราม การฟื้นฟูเมืองฮิโรชิมาหลังการโดนระเบิด มีบันทึกของผู้ที่มีชีวิตรอดจากการระเบิด และอีกหลายสิ่งภายในพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้ทราบถึงผลร้ายของสงครามที่ยังคงติดอยู่ในใจของผู้คนอย่างไม่สามารถลบเลือนได้
เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคุกกรุ่นในวันนี้ จึงช่วยไม่ได้ที่หลายคนจะจินตนาการไปล่วงหน้าถึงระเบิดนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นจริงๆ ดังเช่นที่ รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จำลองผลของการเกิดระเบิดอาวุธนิวเคลียร์จากเว็บไซต์ NukeMap ดูว่าหากระเบิดนิวเคลียร์มาตกกลางกรุงเทพฯ จะมีผลกระทบอย่างไร เป็นรัศมีกว้างแค่ไหน ซึ่งก็ปรากฏว่าคาดว่าจะมีผลกระทบไปไกลในรัศมี 6.25 กิโลเมตร นอกจากนั้น ทิศทางและกระแสของลมยังอาจพาเอาฝุ่นผงกัมมันตรังสีของระเบิดไปได้ไกลถึงนครราชสีมา
ก็ได้แต่ภาวนาว่า ความรุนแรงของสงครามคงไปไม่ถึงขั้นที่ต้องเอาระเบิดนิวเคลียร์มาถล่มกัน และหวังว่าความเจ็บปวดเสียหายที่เคยเกิดขึ้นจากระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วเมื่อครั้งในอดีต จะทำให้ประเทศคู่สงครามและบรรดากองเชียร์ ฉุกคิดได้ว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อมนุษยชาตินั้นจะมหาศาลเพียงใด
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline