อช. ภูลังกา ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวชมถ้ำนาคาเป็น 700 คน/วัน จองผ่าน QueQ เหมือนเดิม เริ่มตั้งแต่ 0.00 น. 3 มี.ค. 65 เป็นต้นไป
อุทยานแห่งชาติภูลังกา เปิดเผยผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม - Phulangka National Park Thailand” ถึงการปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวชมถ้ำนาคาจาก 500 คน/ วัน เป็น 700 คน/วัน ดังนี้
❗เตรียมตัว คืนนี้ปรับเพิ่ม 700 คน
คืนนี้ เวลา 00:00 น. เป็นต้นไป ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวชมถ้ำนาคาเป็น 700 คน/วัน จองคิวผ่านแอปพลิเคชัน QueQ เช่นเดิม
💢 หมายเหตุ
🌟1) ปิดการท่องเที่ยวและพักค้างแรมในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2565 เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และปรับปรุงจุดต่าง ๆ จะสามารถจองคิวของวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้ในเวลา 00:00 น. ของวันที่ 3 เมษายน 2565 (หลังเวลา 23:59 น. ของวันที่ 2 เมษายน 2565)
🌟2) ผู้ที่ทำการจองคิวจะต้องกรอกชื่อ-สกุลให้ตรงกับบุคคลที่จะเดินทางมาจริง ไม่สามารถขึ้นแทนกันได้
🌟3) ผู้ที่ทำการจองคิวได้จะต้องมีผลการฉีดวัคซีน Covid-19 ครบตามเกณฑ์ที่ ศบค. กำหนด
🌟4) ผู้ที่ทำการจองคิวได้จะต้องมีผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ (ผลเป็นลบ) ด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมง หรือ ATK ภายใน 48 ชั่วโมง จากสถานพยาบาลที่สาธารณสุขรับรอง
🌟5) หากผู้ที่จองคิวได้ ไม่มีหลักฐานตามข้อ 4) สามารถรับการตรวจได้ที่จุดคัดกรอง โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ก่อนเข้าเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา
“ถ้ำนาคา” ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ อยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติถ้ำนาคา-น้ำตกตาดวิมานทิพย์
ถ้ำนาคา เป็นถ้ำขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายถ้ำเขาวงกตไม่มีหลังคาถ้ำ โดยแต่ละคนจะต้องเดินลงเนินผ่านช่องหินแคบ ๆ เพื่อเข้าไปสู่ตัวถ้ำ
เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค”เนื่องจากมีลักษณะของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัว โดยมีส่วนสำคัญ ๆ ทั้งส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาค (ตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้าน)
นอกจากนี้ถ้ำแห่งนี้ยังมีเรื่องเล่าตำนานความเชื่อที่นำไปผูกโยงกับพญานาคว่า ถ้ำนาคาคือพญานาคหรืองูยักษ์ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหินอีกด้วย
ถ้ำนาคามีสิ่งน่าสนใจเด่น ๆ เช่น “หินหัวงู” หรือ “หินหัวพญานาค” หรือ “หินหัวนาคา” ที่วันนี้พบเจอ 3 หัว กระจัดกระจายกันในพื้นที่ และมีส่วน “ลำตัวพญานาค” ที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน รวมถึงส่วน “เกล็ดพญานาค” ที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา “ซันแครก” (Sun Cracks) และ “ป่าโบราณ” เป็นต้น
ด้วยความแปลกน่าทึ่งของปรากฏการณ์ธรรมชาติ บวกกับตำนานเรื่องเล่าที่นำผูกโยงกับพญานาค ทำให้ถ้ำนาคาหลังจากถูกเปิดตัวผ่านโซเชียลมีเดียก็โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเดินทางไปเยือนถ้ำแห่งนี้