xs
xsm
sm
md
lg

ชมฟรี! ศิลปะไทยงามวิจิตรในงาน “วิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชมฟรี ศิลปะไทยงามวิจิตรในงาน “วิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขน”
ชวนชมนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขน” ตั้งแต่วันนี้-25 มี.ค. 65 ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. ภายในงานชวนตื่นตากับงานศิลปะไทยเกี่ยวกับโขนอันสุดวิจิตร อาทิ หัวโขน ศิราภรณ์ ตลอดจนเครื่องโขน และเครื่องประดับต่าง ๆ ที่หาชมได้ยากยิ่ง งานนี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี!

ศีรษะกุมภกรรณหน้าทองแดง จากพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขน” ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -25 มีนาคม 2565 ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี

นิทรรศการ “วิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขน” จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสงวนและรักษา ศิลปะการแสดง "โขน" ของไทย ซึ่งได้รับการจารึกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ขององค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2561 ในนาม "Khon, masked dance drama in Thailand” นับเป็นความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

ศีรษะหนุมานหน้ามุก ที่กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้
นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมหัวโขน ศิราภรณ์ (หัวโขน และเครื่องประดับศีรษะของตัวโขน) พัสตราภรณ์ (เครื่องนุ่งห่มที่เป็นผ้า) และถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับกาย) ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ ตลอดจนเครื่องโขนและเครื่องประดับ ทั้งของโบราณหายาก และงานสร้างสรรค์ขึ้นใหม่มาจัดแสดง

ภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ห้องจัดแสดง มีชิ้นงานที่น่าสนใจและทรงคุณค่าให้ชมมากมายกว่าร้อยชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นงานที่มีโบราณที่สุด ได้แก่ ศีรษะกุมภกรรณหน้าทองแดง ซึ่งยืมมาจากพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย อายุ 135 ปี ซึ่งหากสังเกตดีๆจะมองเห็นจารึกปีจุลศักราชไว้ด้านหลังหัวโขน, ฉากลับแลทศกัณฐ์ลงสวนของอาจารย์หทัย บุนนาค, เศียรพระพิฆเนศ สร้างสรรค์โดยครูชิต แก้วดวงใหญ่, เครื่องโขนต้นแบบของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศีรษะหนุมานหน้ามุก ที่กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นหัวโขนในตำนานที่มีการค้นพบ 2 หัว หัวหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนอีกหัวหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการครั้งนี้

หัวโขน ทศกัณฐ์ หน้าทอง
นอกจากนี้ก็ยังมีผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่ ทั้งหัวโขน เครื่องแต่งกาย งานศิลปกรรม งานปูนปั้นของครูและศิษย์จากวิทยาลัยเพาะช่าง และโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย

ขณะที่อีกหนึ่งความพิเศษของนิทรรศการครั้งนี้ คือ พัสตราภรณ์ ซึ่งมีการนำผ้าห่มนางกรองทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงซึ่งเป็นงานช่างโบราณมาจัดแสดง ความวิจิตรของชิ้นงานโดดเด่นด้วยวิธีการถัก ปัก และสอดปีกแมลงทับเป็นสีเขียววับวาวตัดกับสีทองอร่ามของผืนผ้า

นิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” พร้อมเปิดเข้าชมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 10.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ชั้นสอง ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 02 2224 8030 ต่อ 202,302

ฉากลับแลทศกัณฐ์ลงสวนของอาจารย์หทัย บุนนาค (ซ้าย) และเครื่องแต่งกายโขนที่นำมาจัดแสดง

เครื่องโขนต้นแบบของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

เศียรพระพิฆเนศ สร้างสรรค์โดยครูชิต แก้วดวงใหญ่

ถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับกาย) ที่ใช้ในการแสดงโขน






กำลังโหลดความคิดเห็น