xs
xsm
sm
md
lg

“ปัว” เมืองมากเสน่ห์ ยลวัดงามล้ำ ชุ่มฉ่ำธรรมชาติดอยภูคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุดชมวิว 1715 บนดอยภูคา
“น่าน” เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวหลายคนอยากจะไปเยือน โดยเฉพาะในช่วงอากาศดีๆ ตั้งแต่ปลายฝนต้นหนาว ไปจนถึงถึงต้นฤดูร้อน ที่แต่ละฤดูกาลก็มีความงดงามต่างกันไป

อย่างช่วงต้นปีแบบนี้ แม้ว่าอากาศเย็นๆ จะเริ่มจางหายไป แต่การท่องเที่ยวที่น่านก็ยังคงคึกคักอยู่ไม่น้อย

วัดต้นแหลง

หลวงพ่อมหานิโคตรฤกษ์ พระประธานภายในวิหารวัดต้นแหลง
ชวนออกมาเที่ยวเมืองน่านกันอีกครั้ง แต่คราวนี้ขอมุ่งตรงมาที่ “ปัว” อำเภอทางตอนเหนือของจังหวัดน่าน ที่นอกจากนะงดงามด้วยธรรมชาติเขียวชอุ่ม ยังมีวัดสวยงามตาให้ได้ไปยล

ออกสตาร์ทจากในเมืองปัว ชวนไปชมวัดไทลื้อที่งดงาม “วัดต้นแหลง” ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี ตัววิหารศิลปะแบบไทลื้อหลังคาลดหลั่นสามชั้นสวยงามคลาสสิกจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยล้านนา ประจำปี 2552 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานนามว่า หลวงพ่อมหานิโคตรฤกษ์ หล่อจากปูนปั้น ฐานชุกชีสี่เหลี่ยมประดับกระจก เหนือองค์พระประดับฉัตรทรงสี่เหลี่ยม หลังองค์มีพนักปูน นอกจากนี้ ภายในวิหารก็ยังมีธรรมาสน์เก่าแก่คู่วัดที่ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่

ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปสำคัญคือ “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปองค์เล็กที่ทางวัดจะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนกราบไหว้เพียงปีละ 3 ครั้งเท่านั้นคือวันปีใหม่เมือง (สงกรานต์) วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา

วิหารศิลปะไทลื้อ วัดร้องแง

ภายในวิหารวัดร้องแง
อีกหนึ่งวัดไทลื้อที่งดงามไม่แพ้ในในอำเภอปัว นั่นคือ “วัดร้องแง” ที่มีวิหารศิลปะไทลื้อที่งดงามน่าชม โดยชื่อของวัดร้องแงมาจากคำว่า “ร่อง” ที่หมายถึงร่องน้ำ และ “แง” หรือต้นมะแง ต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายต้นส้ม และเมื่อเข้าไปด้านในวิหารนอกจากจะมีบรรยากาศอันขรึมขลังเปี่ยมศรัทธาจากองค์พระประธานแล้วก็ยังมีข้าวของเก่าแก่โดยเฉพาะกับธรรมมาสน์และสัตตภัณฑ์ (ที่วางเทียน) ล้านนาโบราณอันประณีตสวยงาม

สำหรับวิหารเก่าศิลปะไทลื้อ ยังคงมีรูปลักษณ์แบบเดิม ขนาดยาว 8 ห้อง กว้าง 3 ห้อง ด้านหน้ามีมุขโถง หลังคาเป็นทรงจั่ว ภายในวิหารมีบันไดแก้ว ธรรมมาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธาน ด้านหน้าพระประธานมีธรรมาสน์บุษบก ด้านขวาขององค์พระมีหีบพระธรรม กับธรรมาสน์แบบกระทง ธรรมาสน์บุษบก ฐานเป็นปูนปั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ ยอดเป็นปราสาทซ้อนชั้น

จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธาน

ดอกไม้พันดวง
ที่วัดร้องแงยังมี "ประเพณีถวายดอกไม้พันดวง" ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทลื้อที่หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ชุมชนนี้ โดยชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาสานเป็นรูปทรงคล้ายตะแกรงสี่เหลี่ยม แล้วนำดอกไม้นานาชนิดที่หาได้มาบรรจุไว้ด้านในจนเต็ม เรียกว่า "ดอกไม้พันดวง" หรือ "ดอกไม้ปันดวง" มีขนาดเล็กใหญ่ตามศรัทธา และจะนำไปถวายวัดและแขวนไว้ในวิหารในวันก่อนวันลอยกระทง เพื่อบูชาพระคาถาพัน หรือเทศมหาชาตินั่นเอง และจะแขวนไว้อย่างนั้นตลอดปีจนกลายเป็นดอกไม้แห้ง

วัดภูเก็ต

ฮักนาไทลื้อ
จากวัดไทลื้ออันงดงาม ชวนเดินทางมาต่อกันที่วัดวิวสวยแห่งเมืองปัว “วัดภูเก็ต” ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาของหมู่บ้านเก็ต จึงเป็นที่มาของชื่อวัดภูเก็ต ตัวอุโบสถงดงามตั้งอยู่กลางลานวัดกว้าง เมื่อเข้าไปไหว้พระด้านในแล้วจึงออกมาชมวิวบริเวณลานวัดที่ทางวัดทำเป็นจุดชมวิว

ณ จุดชมวิวนี้เมื่อมองลงไปจะเห็นทุ่งนากว้างเขียวขจีสบายตา มีฉากหลังเป็นดอยภูคาสูงใหญ่มีหมอกฝนปกคลุมจนมองไม่เห็นยอดเขา ที่เบื้องล่างกลางทุ่งนายังมองเห็นกระท่อมและศาลามุงจากสร้างเป็นกลุ่มอยู่กลางทุ่ง หรือ “ฮักนาไทลื้อ” ซึ่งเป็นร้านกาแฟและร้านขายของที่ระลึกของเอกชนที่ให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระและมาชมทิวทัศน์บริเวณนี้ให้มาเดินเล่นถ่ายรูปกัน

เต่าร้างยักษ์

เต่าร้างยักษ์ บริเวณทางเข้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ออกจากตัวเมืองปัว เดินทางขึ้นเขาโดยใช้เส้นทาง ถนนลอยฟ้า 1256 ปัว-บ่อเกลือ ซึ่งเหตุที่เรียกว่าเป็น "ถนนลอยฟ้า" เพราะตัดผ่านสันเขาสูงที่สองข้างทางเป็นหุบเขา ทิวทัศน์สองข้างทางงดงามยิ่งนัก และภูเขาใหญ่ที่เราลัดเลาะมานี้ก็คือ “ดอยภูคา” อันเป็นที่ตั้งของ “อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” แหล่งท่องเที่ยวต่อไปของทริปนี้

เริ่มต้นการท่องเที่ยวและสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา โดยบริเวณทางเข้าจะมีต้นไม้ขนาดสูงใหญ่อยู่คู่หนึ่ง นั่นคือ “เต่าร้างยักษ์” ซึ่งเป็นปาล์มชนิดที่ค้นพบเป็นแห่งแรกที่จังหวัดน่าน เป็นพืชที่หายากและใกล้สูญพันธุ์มากชนิดหนึ่ง ในประเทศไทยพบเพียงแห่งเดียวคือ ที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ในป่าดิบเขาที่มีความสูง 1,500-1,700 เมตร ที่มีเมฆหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี และยังพบเป็นปริมาณมาก ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย และเชื่อว่ายังมีเหลืออยู่บ้างในป่าดิบเขาของเทือกเขาหลวงพระบางในประเทศลาว

จัดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีกำเนิดมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ร่วมสมัยเดียวกับไดโนเสาร์ ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ใบมีลักษณะรูปรูปขนนกสองชั้น สีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบย่อยคล้ายครีบหรือหางปลา เวลาลมพัดใบโบกสะบัดดูงดงามยิ่ง

ดอกชมพูภูคา (แฟ้มภาพ)

ดอกชมพูภูคา (แฟ้มภาพ)
และเลยจากที่ทำการมาอีกราว 4 กิโลเมตร จะเป็นจุดชม “ต้นชมพูภูคา” ซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้นหายากและใกล้สูญพันธุ์ ต้นชมพูภูคาจะขึ้นอยู่ในบริเวณป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,200-1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่แล้วจะพบในทางตอนใต้ของประเทศจีน ภาคเหนือของเวียดนาม ไต้หวัน และไทย โดยในประเทศไทยพบที่ดอยภูคา จ.น่าน อย่างไรก็ดีพบว่าภายหลังป่าบริเวณที่มีต้นชมพูภูคาในต่างประเทศที่กล่าวมาถูกทำลายไปหมด จึงคาดว่าต้นชมพูภูคาอาจสูญพันธุ์ไป ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลระบุว่าพบต้นชมพูภูคาที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ประเทศไทย เพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น

ในบริเวณจุดชมต้นชมพูภูคา ทางอุทยานจัดทำเป็นระเบียงไม้ยื่นออกไปให้ยืนชมต้นชมพูภูคาที่ยืนต้นสูงขึ้นมาจากหุบเขาได้อย่างสะดวกสบาย โดยต้นชมพูภูคาจะออกดอกบานระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งภาพดอกชมพูภูคาบานนั้นหาชมได้ยากมาก โดยดอกชมพูภูคาจะออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ตัวดอกมีสีชมพู เมื่อบานดอกจะชิดกันแน่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม

จุดชมต้นชมพูภูคาบริเวณริมถนนปัว-บ่อเกลือ

ศาลเจ้าหลวงภูคา
ในบริเวณเดียวกันนี้ ยังมี “ศาลพญาภูคา” หรือ “ศาลเจ้าหลวงภูคา” ตั้งอยู่ติดกับต้นชมพูภูคา (ต้นหลัก-ริมถนน) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวเมืองน่านให้ความเคารพนับถือ ใครที่เดินทางมาชมต้นชมพูภูคาจึงไม่ควรพลาดการไปสักการะพญาภูคาเสริมสิริมงคล

และจากจุดชมต้นชมพูภูคามาอีก 4 กิโลเมตร จะพบกับจุดชมวิว "1715" ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่งดงามของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา โดยตัวเลข 1715 นี้คือระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง หากใครโชคดีมาเยือนถูกเวลาก็จะได้ชมทะเลหมอกอลังการในบริเวณนี้ แต่ในวันที่ไม่มีหมอกก็จะได้ชมวิวภูเขาสลับซับซ้อนงดงามไม่แพ้กัน

เที่ยวที่ “ปัว” กันแล้ว หากว่าใครยังมีเวลาก็สามารถเดินทางไปเที่ยวกันต่อได้ที่ “บ่อเกลือ” มีแหล่งท่องเที่ยว ชมวิวสวยๆ ธรรมชาติสดชื่นไม่น้อยหน้ากัน

ทิวทัศน์บริเวณจุดชมวิว 1715

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น