xs
xsm
sm
md
lg

6 เรื่องน่ารู้ก่อนไปเดิน "เขาวงพระจันทร์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากทางวัดเขาวงพระจันทร์ประกาศจัดงาน "เทศกาลเดินขึ้นเขาวงพระจันทร์" ตั้งแต่วันนี้-27 กุมภาพันธ์ 2565 (ขยายเวลาจากเดิม 15 ก.พ.) เหล่าผู้แสวงบุญต่างก็ให้ความสนใจมุ่งหน้ามาเดินขึ้นเขาเพื่อไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขากันเป็นจำนวนมาก

แต่อาจยังมีบางคนที่ยังไม่รู้จักและไม่เคยไป "เขาวงพระจันทร์" ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของเขาวงพระจันทร์มาฝากกัน

ซุ้มทางเข้าวัด
1. รู้จัก "เขาวงพระจันทร์"

เขาวงพระจันทร์ ตั้งอยู่ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ถือเป็นภูเขาที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ส่วนระยะทางเดินตามแนวบันไดจะมีความยาวประมาณ 1,680 เมตร และบริเวณตีนเขาเป็นที่ตั้งของ “วัดเขาวงพระจันทร์” อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาว อ.โคกสำโรง และชาวลพบุรีเป็นอันมาก

ที่ได้ชื่อว่าเขาวงพระจันทร์ เนื่องจากในปี พ.ศ.2496 หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขาแห่งนี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง 4 ด้านเป็นรูปเขาโค้งมองทางไหนเห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่นั้นมา

ทิวทัศน์บนยอดเขายามเช้า

ถ้ำนางประจันต์
2. ตำนานเขาวงพระจันทร์

ภูเขาลูกนี้เป็นที่มาแห่งตำนานเมืองลพบุรี เรื่องท้าวกกขนากจากรามเกียรติ์ ที่เล่าว่า ท้าวกกขนากซึ่งเป็นยักษ์ได้ไล่จับชาวเมืองกินเป็นอาหาร พระรามจึงปราบท้าวกกขนากด้วยการแผลงศรที่ทำจากต้นกก และปักตรึงร่างของท้าวกกขนากไว้ ณ ภูเขาลูกนี้

ท้าวกกขนากยังไม่สิ้นชีวิต แต่ไม่สามารถหลุดพ้นจากศรที่ปักอยู่ได้ แม่นางประจันต์ผู้เป็นลูกสาวจึงต้องมาคอยปรนนิบัติดูแล และหากได้นำน้ำส้มสายชูมารดที่โคนลูกศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาค้อนมาตอกศรให้แน่นขึ้น ตำนานนี้เป็นผลให้ลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายเป็นเวลานาน

ส่วนเขาลูกนี้ก็ได้ชื่อว่าเขานางประจันต์ หรือนางพระจันทร์ตามชื่อลูกสาวท้าวกกขนาก และเพี้ยนเป็นเขาวงพระจันทร์ในที่สุด เป็นอีกหนึ่งที่มาของชื่อเขาที่เล่าสืบต่อกันมา

มีป้ายบอกจำนวนขั้นบันไดเป็นระยะ

ครบ 3,790 ขั้นแล้ว
3. ท้าทายกับบันไดพิสูจน์รัก พิสูจน์ความอึด 3,790 ขั้น

นอกจากเรื่องเล่าที่เกี่ยวโยงกับตำนานเมืองลพบุรีแล้ว “เขาวงพระจันทร์” ยังขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ท้าทายให้คนมาวัดใจกับบันได 3,790 ขั้น ที่ทอดยาวจากวัดเขาวงพระจันทร์บริเวณตีนเขาไปสู่ยอดเขา อันเป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทด้านบน จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน ลพบุรี ชูเขาวงพระจันทร์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในโครงการ “เขาเล่าว่า...” ที่มีเรื่องราวตำนานเล่าขาน ผนวกกับบันไดที่ทอดยาวเกือบสี่พันขั้น จนกลายเป็นเรื่องเล่าว่า...

...ระยะทางกับความยากลำบาก พิสูจน์มิตรภาพและรักแท้ เสริมพลังรัก กับลพบุรีเมืองลิง หากได้พาคนที่เรารักไปร่วมพิสูจน์รักแท้ โดยการพิชิตยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองหนุมาน ด้วยการเดินขึ้นบันได 3,790 ขั้นไปด้วยกัน พร้อมสักการะรอยพระพุทธบาทและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาแห่งนี้ เราจะรู้เลยว่าเขาคือ “รักแท้” ของเราอย่างแน่นอน...

สำหรับผู้ที่อยากจะมาวัดใจกับบันได 3,790 ขั้น ก็อย่าลืมวอร์มร่างกายก่อนเดินกันด้วย

หลวงพ่อพุทธโชค (ภาพ : วัดเขาวงพระจันทร์ - KhaowongPhrachan Temple)

รอยพระพุทธบาทเขาวงพระจันทร์
4. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ เขาวงพระจันทร์

ผู้ที่มาเยือนเขาวงพระจันทร์ ก่อนจะเดินขึ้นเขาจะได้พบกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณตีนเขา นั่นคือ "หลวงพ่อพระพุทธโชค" พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดลพบุรี และใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย (รองจากพระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ วัดม่วง จ.อ่างทอง)

ส่วนผู้ที่ออกแรงเดินขึ้นไปถึงยังยอดเขา ก็จะได้นมัสการรอยพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงพระพุทธรูป และเทพเจ้าในนิกายมหายาน อาทิ เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู เป็นต้น อีกทั้งยังมีถ้ำแม่นางประจันต์อยู่ด้านบนเขาอีกด้วย

และยังได้ชมวิวด้านบนเขาเพื่อเป็นการพักให้หายเหนื่อยกันก่อน ด้านบนนี้สามารถมองไปได้สุดสายตา เห็นทิวเขาใกล้เคียงและวัดเขาวงพระจันทร์ที่อยู่ด้านล่าง และมองเห็นท้องทุ่งเมืองลพบุรีที่กว้างไกล นั่งพักให้ลมเย็นๆ พัดจนเหงื่อแห้ง ฟื้นฟูแรงขาในการเดินลงอีกครั้ง

ขึ้นมากราบนมัสการรอยพระพุทธบาท

รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้านบน

กล้าหรือเปล่า
5. ถุงซิ่ง ตัวช่วยขาลง

ขาขึ้นว่าเหนื่อยแล้ว แต่ขาลงนั้นทำให้พังยิ่งกว่าเดิม เพราะเข่าต้องรองรับแรกกระแทกในทุกๆ ก้าว จึงขอแนะนำให้ค่อยๆ ลงอย่างระมัดระวัง ใช้วิธีเดินสไลด์สลับซ้ายขวาไปมาก็จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้บ้าง แต่อย่างน้อยขาลงก็ไวกว่าขาขึ้น ใช้เวลาราว 1 ชม.กว่าๆ ก็มาถึงพื้นเบื้องล่าง

แต่ใครอยากลงแบบประหยัดแรงประหยัดเวลา จะลองวิธีของคนท้องถิ่นด้วยการใช้ “ถุงซิ่ง” เป็นตัวช่วยก็ได้ ถุงซิ่งที่ว่าก็คือถุงกระสอบรองด้วยขวดน้ำพลาสติกผ่าครึ่ง ไว้ใช้รองก้นของเราขณะที่สไลด์ตัวเองลงไปตามราวเหล็กที่ทอดยาวกลางบันได โดยถุงซิ่งนี้ไม่ต้องเตรียมมาเอง มาหาซื้อได้ที่ร้านขายของที่จุดพักระหว่างทางได้ วิธีนี้ประหยัดเวลาแถมยังได้สนุกเหมือนเด็กๆ อีกต่างหาก แต่ก็เสี่ยงอันตรายไม่น้อยเช่นกันเพราะราวเหล็กค่อนข้างสูง แถมยังคดเคี้ยวไปตามเส้นทาง ใครจะลองใช้ถุงซิ่งจึงไม่ควรคึกคะนอง คอยใช้มือจับชะลอความเร็วและทรงตัวให้ดีๆ

แต่สำหรับคนที่เลือกวิธีเดินลง เมื่อลงมาถึงพื้นราบอีกครั้งอาจมีอาการเข่าแข็งขาแข็ง ท่าเดินจะดูคล้ายซอมบี้ไปโดยมิได้ตั้งใจ และอาจจะปวดแข้งขาไปอีกหลายวัน แต่นั่นเป็นดังที่ระลึกที่บอกว่า เราได้ไปวัดใจที่ “เขาวงพระจันทร์” มาเรียบร้อยแล้ว สามารถภาคภูมิใจได้ว่าเราเป็นผู้ที่มีข้อเข่าแข็งแรงไม่แพ้ใครๆ

ลงเขาได้เร็วกว่าด้วยถุงซิ่ง แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก

มุมมองจากด้านบนเขาวงพระจันทร์
6. งานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาวงพระจันทร์ปีนี้

ในปีนี้ งานเทศกาล “นมัสการรอยพระพุทธบาทเขาวงพระจันทร์” จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้-27 กุมภาพันธ์ (ขยายเวลาจากเดิม 15 ก.พ.) โดยปีนี้ทางวัดมิได้มีการจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาวงพระจันทร์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย แต่วัดจะมีการเปิดไฟส่องสว่างบริเวณทางขึ้นเขาวงพระจันทร์ ตั้งแต่วันนี้-27 ก.พ. 65 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการมาแสวงบุญสักการะรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์ โดยประชาชนสามารถเดินขึ้นเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงเวลาของเทศกาล โดยจะมีร้านค้าชุมชนจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น และมีมาตรการในการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกจะมาในช่วงเทศกาล ก็สามารถมาเที่ยวชมและเดินขึ้นเขาหลังจากนี้ได้ตามปกติ เพียงแต่แต่จะไม่เปิดให้เดินกัน 24 ชั่วโมง เหมือนช่วงจัดงานเทศกาลเท่านั้น

ในที่สุดก็ถึงยอดเขา


กำลังโหลดความคิดเห็น