อุทยานฯ พนมรุ้ง เผยจุดสุดอันซีน รูปจำหลัก “ท้าวเวสสุวรรณ” พันปี มีประดับอยู่ 4 ภาพบนเรือนยอดปราสาทประธาน ถือเป็นอีกหนึ่งของดีซ่อนกายของปราสาทพนมรุ้งที่มีคนมาอธิษฐานขอพรอยู่เสมอ
เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park เผยภาพอันซีนของท้าวเวสสุวรรณอายุเก่าแก่นับพันปี ที่ปรางค์ประธานปราสาทหินพนมรุ้ง รับกระแสบูชาท้าวเวสสุวรรณที่กำลังมาแรง โดยเพจดังกล่าวได้โพสต์ภาพและข้อมูล ระบุ ดังนี้
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : ท้าวกุเวร(เวสสุวรรณ) เทพผู้มั่งคั่ง โลกบาลประจำทิศเหนือ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
ท้าวกุเวร หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนาม ท้าวเวสสุวรรณ ยังมีอีกหลายพระนาม เช่น ชัมภละ ท้าวธนบดี พระไพศรพณ์ เป็นต้น พระองค์เป็นเจ้าแห่งยักษ์ หนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้เฝ้ารักษาประจำทิศเหนือและเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย พบว่าเป็นที่นิยมบูชาแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่สมัยโบราณสืบมา ทั้งคติในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา พระองค์มีพระวรกายสีขาว บ้างก็ว่าสีทอง มีหนึ่งเศียร สองพระหัตถ์ พระวรกายอวบอ้วนพุงพลุ้ย ทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ มีเทพพานะคือ สิงห์ บางตำนานว่าเป็นม้าสีขาว มีคฑาหรือกระบองยาวเป็นอาวุธประจำกาย ในศิลปะอินเดียนิยมสร้างตามประติมานวิทยาให้มีลักษณะอ้วนพุงพลุ้ย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ พระหัตถ์ข้างหนึ่งมักอุ้มหรือบีบคอพังพอน อันหมายถึงขุมทรัพย์เพชรพลอยซึ่งพังพอนกินเข้าไปให้คายออกมาได้ และยังมีหม้อใส่รัตนชาติวางอยู่ด้วยอันหมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ส่วนในศิลปะขอม พบว่าประติมากรรมท้าวกุเวร มักนิยมสร้างเป็นบุรุษมีหนึ่งเศียร สองกร ถือกระบองหรือบ่วงบาศเป็นอาวุธประจำพระองค์ และทรงสิงห์หรือคชสีห์ตามความนิยมเฉพาะในศิลปะขอมเป็นเทพพาหนะ
จากหลักฐานที่ปราสาทพนมรุ้ง พบภาพสลักที่บรรพแถลงประดับชั้นเรือนยอดปราสาทประธาน ด้านทิศเหนือ จำนวน ๔ ภาพ ลักษณะเดียวกัน ปักลดหลั่นขึ้นไปตามลำดับชั้น สลักรูปท้าวกุเวร ประทับนั่งท่ามหาราชลีลาสนะบนหลังคชสีห์ พระกรขวาถือกระบองชูขึ้น และพบแท่นหินทรายทรงลูกบาศก์ สลักภาพท้าวกุเวร อยู่ด้านข้างด้านหนึ่ง ประทับอยู่บนหลังคชสีห์ พระกรขวาถือบ่วงบาศชูขึ้น ด้านบนของแท่นหินทรายสลักรูปดอกบัวแปดกลีบซึ่งหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด นอกจากนี้ที่ปราสาทพนมรุ้ง ยังพบประติมากรรมลอยตัวสลักจากหินทราย รูปคชสีห์ยืน ลักษณะคล้ายสิงห์มีจมูกยื่นยาวคล้ายงวงชูขึ้น ประดับด้วยเครื่องทรงแผงคอ รัดข้อเท้า ผ้าปกหลังและกระบังหน้า บนหลังสลักเป็นแท่นมีช่องสำหรับตั้งประติมากรรมซึ่งชำรุดหักหายไป เดิมอาจะเคยมีประติมากรรมท้าวกุเวรประดิษฐานอยู่ จึงสันนิษฐานได้ว่าประติมากรรมนี้ คือเทพพาหนะของท้าวกุเวร เช่นเดียวกับภาพสลักในซุ้มบรรพแถลงที่กล่าวมา ซึ่งประติมากรรมท้าวกุเวรและเทพพาหนะพบที่ปราสาทพนมรุ้งนั้น ล้วนจัดอยู่ในศิลปะขอมแบบนครวัด อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ อันเป็นช่วงสมัยที่ปราสาทพนมรุ้งมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งของทุกปี มีการจำลองรูปเทพพาหนะทั้งสิบและมีคชสีห์ พาหนะของท้าวกุเวรด้วย แห่ไปตามทางดำเนินพร้อมกับขบวนเหล่าบริวารชายหญิง เครื่องบวงสรวง เป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาและมุ่งหมายถึงการบูชาต่อพระศิวะเทพ จะเห็นได้ว่าแม้ท้าวกุเวร ในรูปแบบศิลปะขอมจะมีลักษณะรูปร่างและเทพพาหนะที่ต่างไปจากศิลปะอินเดียแต่ยังคงไว้ซึ่งสถานะภาพของเทพประจำทิศเหนือและเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยตามคติประมาณวิทยาเดิมที่ขอมรับวัฒนธรรมคติความเชื่อทางศาสนาสืบมาจากอินเดีย แม้ปัจจุบันก็ยังมีผู้ศรัทธาเข้ามาสักการะขอพรเทพเจ้า ณ ปราสาทพนมรุ้ง รวมถึงท้าวกุเวรอยู่เสมอ
เรียบเรียงโดย: นายสุทธินันท์ พรหมชัย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง...
สำหรับท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร ปัจจุบันมีความเชื่อว่า ท่านเป็นเจ้าแห่งยักษ์ เป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลาย ที่คอยปกปักรักษาป้องกันสิ่งชั่วร้าย ภยันอันตาย รวมถึงเชื่อว่าท่านเป็นเทพแห่งความมั่งคั่ง และยังคอยช่วยเหลือเทพองค์อื่น ๆ ในการทำภารกิจต่าง ๆ ให้ลุล่วงสำเร็จ
ในบ้านเรามีความเชื่อเรื่องการสร้างท้าวเวสสุวรรณในวัดวาอารามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาช้านานแล้ว ซึ่งหลังจากเกิดกระแสท้าวเวสสุวรรณโด่งดังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีประชาขนผู้มีจิตศรัทธาเดินทางไปสักการะท้าวเวสสุวรรณตามสถานที่ต่าง ๆ กันเป็นจำนวนมาก
สำหรับปราสาทพนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นปราสาทหินที่งดงามที่สุดในเมืองไทย
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 และมีการบูรณะเรื่อยมา โดยเคยเป็นทั้งศาสนาสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย และศาสนสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน
ปราสาทพนมรุ้ง มีองค์ประกอบที่เด่น ๆ หลากหลาย อาทิ เป็นปราสาทหินที่ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน ที่สร้างบนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว และมีการก่อสร้างวางผังได้อย่างสุดยอด โดยสร้างตามคติจักรวาลมีองค์ปรางค์ประธานเปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ มีเส้นทางเดินสู่ปราสาทเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์
รวมถึงยังเป็นปราสาทที่มีสิ่งอันน่าอัศจรรย์จากปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ส่องตรงลอดช่องทะลุประตูทั้ง 15 ช่องเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งในหนึ่งปีจะมี 4 ครั้ง
นอกจากนี้ปราสาทพนมรุ้งยังเป็นแหล่งชมภาพจำหลักหินที่ดีที่สุดในเมืองไทย เพราะมีภาพจำหลักหินสวย ๆ งาม ๆ ให้ชมกันมากมาย นำโดยไฮไลท์ คือ ภาพ “ศิวนาฏราช” ที่หน้าบัน และภาพ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน
นอกจากนี้ก็ยังมีภาพจำหลักอื่น ๆ อาทิ เรื่องรามเกียรติ์ เทพต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ ภาพเชิงสังวาสหรือภาพราคะศิลป์แฝงอารมณ์ขัน ความซุกซนขี้เล่นของช่างโบราณ และภาพท้าวเวสสุวรรณที่ต้องสังเกตให้ดีที่เรือนยอดปราสาทประธานด้านทิศเหนือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของปราสาทแห่งนี้