xs
xsm
sm
md
lg

“ทะเลบัวแดง” อุดร งานเข้า เจอเอเลี่ยนบุก หวั่นเกิดวิกฤติบัวสูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับทะเลบัวแดงหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ที่กำลังถูกบุกรุกด้วยพืชเอเลียนสปีชีส์ "จอกหูหนูยักษ์" วัชพืชน้ำชนิดหนึ่ง จนแย่งพื้นที่ของบัวแดงและพืชน้ำอื่นๆ รวมถึงเป็นปัญหาแก่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพออกเรือรับนักท่องเที่ยวที่ถูกจอกหูหนูยักษ์สกัดพื้นที่จนแทบออกเรือไม่ได้ ข่าวดังกล่าวทำให้ชื่อของ "จอกหูหนูยักษ์" มาอยู่ในความสนใจอีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง "จอกหูหนูยักษ์" ว่า เป็นพืชที่มีถิ่นกําเนิดในทวีปอเมริกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล ถูกจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกรานที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เนื่องจากเกิดผลกระทบที่ต่อแหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำ เช่น ที่แม่น้ำเซปิค ในปาปัว นิวกินีมีการชักนําจอกหูหนูยักษ์เข้าไปเพียง 2-3 ต้น ใน ค.ศ.1972 หลังจากนั้น 8 ปี สามารถปกคลุมพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร (156,250 ไร่) น้ำหนักสดประมาณ 2.2 ล้านตัน ชีวิตของประชาชนประมาณ 80,000 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากวิถีชีวิตทั้งหมดขึ้นกับแหล่งน้ำ

ทะเลบัวแดง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุดรธานี

บรรยากาศเรือนักท่องเที่ยวออกชมดอกบัว
กรมวิชาการเกษตรยังเรียกจอกหูหนูยักษ์ว่าเป็น "ปีศาจเขียว" ภัยเงียบที่ต้องกำจัด พบในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2544 ถูกวางขายเป็นไม้ประดับตกแต่งตู้ปลาที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ระบุว่านำมาจากประเทศเปรู เป็นเฟิร์นน้ำต่างถิ่นที่รุกรานมากที่สุด และถูกจัดว่าเป็นวัชพืชร้ายแรงที่สุดของโลกชนิดหนึ่ง ประเทศไทยได้ประกาศพืชชนิดนี้เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะมันสามารถขยายพันธุ์เติบโตเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า ใน 2-4 วัน กำจัดยากกว่าผักตบชวาเนื่องจากลำต้นหักง่าย และส่วนที่หักสามารถเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ทันที

จากการสืบค้นข้อมูลยังพบปัญหาการรุกรานของจอกหูหนูยักษ์ในประเทศไทยมายาวนานมากกว่า 10 ปีแล้ว อาทิ ในปี 2558 เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง ประสบปัญหาจอกหูหนูยักษ์แพร่ขยายพันธุ์ไปทั่วอ่างเก็บน้ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการเรือแพท่องเที่ยวต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพราะไม่สามารถนำนักท่องเที่ยวเข้าไปชมทัศนียภาพภายในเขื่อนได้ ปี 2560 พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง (นครพนม) กำลังถูกรุกรานอย่างหนักจากจอกหูหนูยักษ์ที่กีดขวางทางเดินน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ ตลอดจนการใช้เครื่องมือของชาวประมง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและเบียดบังพืชน้ำเจ้าถิ่นในระยะยาว และในปี 2563 จังหวัดอุดรธานีก็ได้ประกาศจะดำเนินการกำจัดจอกหูหนูยักษ์ภายในอ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อ อ.เมืองอุดรธานี เพื่อป้องกันน้ำท่วมเพราะไปกีดขวางทางน้ำไหล และเป็นตัวอย่างกำจับจอกหูหนูยักษ์ในแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีปัญหา

จอกหูหนูยักษ์ที่เป็นอุปสรรคในการเดินเรือของชาวบ้าน

จอกหูหนูยักษ์แผ่ขยายได้รวดเร็ว
สำหรับที่ทะเลบัวแดงหนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ถือเป็นพื้นที่บึงน้ำจืดที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางด้านชีวภาพ ภายในบึงประกอบไปด้วยพืชน้ำ พันธุ์นก และพันธุ์ปลา หลากหลายชนิด ซึ่งพันธุ์ไม้น้ำที่โดดเด่นของบึงหนองหานก็คือ “บัวสาย” หรือ “บัวแดง” โดยในช่วงฤดูหนาว บัวสายจะเติบโตและผลิดอกพร้อมๆ กันจนเต็มพื้นที่ ทำให้หนองหานได้ชื่อว่าเป็น "ทะเลบัวแดง" มีความสวยงามอลังการ เป็นที่ตื่นตาของผู้ที่ได้มาชม จนทำให้ทะเลบัวแดงกลายเป็นแหล่งชมดอกไม้ตามธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของอุดรธานี สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวและรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ในการให้บริการล่องเรือชมทะเลบัวแดงและวิถีชีวิตในหนองหานขึ้น

แต่ปัจจุบันจอกหูหนูยักษ์ได้เติบโตงอกงามแซงหน้าพืชอื่นๆ ในทะเลบัวแดง และมีทีท่าว่าจะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งหากยังไม่ได้รับการแก้ไข และแน่นอนว่าสักวันบัวแดงและพืชน้ำอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ถูกเบียดบังพื้นที่และล้มหายตายจากไปในไม่ช้า

ปีศาจสีเขียว เริ่มแผ่ขยายแทนที่ดอกบัว

นกน้ำเดินบนกอจอกหูหนูยักษ์
แต่ทั้งนี้ก็มีความพยายามที่จะแก้ไขโดยคนในพื้นที่ โดยเฟซบุค Coda Dhanajchai Samsen หรือธนัชชัย สามเสน อดีตประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ได้โพสต์ว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่่ผ่ายมา ได้มีการสอนการทำ "ปุ๋ยหมัก​ไม่พลิกกอง​สูตรวิศวกรรม​แม่โจ้ 1" ที่ท่าเรือทะเลบัว​แดง​ บ้านเดียม​ ตำบลเชียงแหว อำเภอ​กุมภวาปี​ จังหวัด​อุดรธานี​ ให้แก่ผู้ขับเรือนำเที่ยวจำนวน 20 คน โดยใช้มูลสัตว์​และซากจอกหูหนู​ยักษ์ ที่เรือของกรมชลประทาน​ได้ขุดลอกขึ้นมากองไว้จำนวนมากมายหลายสิบตันเป็นวัตถุดิบขึ้นกองปุ๋ย​ ซึ่งจะแล้วเสร็จ​เป็นปุ๋ยหมัก​คุณภาพ​ดีหลังจากนี้อีก 60 วัน เป็นการเริ่มต้นการทำปุ๋ยหมัก​ไม่พลิกกอง​เพื่อลดการแพร่ระบาดของวัชชพืช รวมทั้งเพื่อใช้ในการเกษตร​กรรม และผลิตผักผลไม้จำหน่ายเป็นการเสริมรายได้แก่กลุ่มเรือนำเที่ยวทะเลบัวแดง​

เฟซบุคธนัชชัย สามเสน ยังได้กล่าวอีกว่า ประมาณ​ 3 ปีที่แล้ว "จอกหูหนู​ยักษ์" ได้เริ่มแพร่กระจายในทะเลบัวแดงและเพิ่มพื้นที่ยึดครอง​อย่างรวดเร็ว ทำให้บัวแดงซึ่งเป็นทรัพยากรท่องเที่ยว​สำคัญ​ของจังหวัด​อุดรธานี​ ลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ แม้ว่า ณ วันเวลานี้ทะเลบัวแดงยังคงความงามไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากไม่มีการ​แก้ไขอย่าง​เป็นรูปธรรม​ อีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะไม่เหลือความเป็นสถานที่ท่องเที่ยว​อีกต่อไป นอกจากนี้​ยังจะเกิดปัญหา​กับแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค​บริโภค​ พืชน้ำ สัตว์​น้ำ นกน้ำนานาพันธุ์​ ตั้งแต่หนองหานและตลอดลุ่มน้ำปาวอีกด้วย




#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น